เลขาฯ สมช.ยันการจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติลักลอบขนอาวุธสงครามเข้าประเทศ เป็นการทำตามมติสหประชาชาติ แต่ไม่เกี่ยวใบสั่งหรือรางวัลนำจับตามที่แกนนำ นปช.ปูดข่าว ชี้ยังมีความผิดตามกฏหมายศุลกากรและการเดินอากาศเพิ่มเติม ระบุต้องดำเนินคดีตาม กม.ไทยเพราะความผิดเกิดในราชอาณาจักร ย้ำไม่ข้อมูลเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้ายต่างแดน
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อพิจารณากรณีตำรวจและทหารสนธิกำลังบุกตรวจค้นเครื่องบินลำเลียงแบบทหาร เช่าเหมาลำสัญชาติจอร์เจีย ที่แวะจอดเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และพบขีปนาวุธร้ายแรงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายประจำ ไม่ได้มีการสั่งการ แต่เป็นการทำตามมติของสหประชาชาติ และเป็นกฎหมายภายใน แต่เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ทาง สมช.จึงได้รับมอบหมายให้มาประสานการปฏิบัติในเรื่องนี้ โดยการตรวจสอบเบื้องต้นมีการตรวจพบอาวุธหลายชนิดทั้งที่เป็นจรวด และอาร์พีจี แต่ยังไม่มีการตรวจสอบในรายละเอียด และขณะนี้อาวุธทั้งหมดมีการนำไปเก็บไว้ที่กองทัพอากาศที่ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนการดำเนินการทางคดีนั้น ทางตำรวจได้ตั้งข้อหาในเบื้องต้นว่ามีและครอบครองอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ขณะเดียวกัน อัยการกำลังประสานงานที่จะดำเนินการร่วมกับตำรวจ เพราะพบว่ายังมีความผิดในฐานกฎหมายอื่น ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านศุลกากร ด้านการเดินอากาศ
เมื่อถามว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศมีอะไรบ้างนั้นนั้น นายถวิลกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีเช่นนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจึงยังไม่มีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ แต่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้กรมการระหว่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ประสานกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างใกล้ชิดถึงแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ เพราะเมื่อผิดกฎหมายภายในของไทยก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมายภายในของไทย และส่วนที่เกี่ยวข้องกับยูเอ็นก็จะดำเนินการตามลำดับขั้นตอนต่อไป และจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า อาวุธดังกล่าวเป็นของประเทศใดนั้น เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ เพราะเป็นข้อมูลทางคดี และยังไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ จะไปสรุปว่าเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้ไม่ได้ แต่ผู้ต้องหาได้แจ้งว่าเครื่องบินลำดังกล่าวจะไปที่เมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ตาม จะเชื่อเฉพาะคำบอกเล่าของผู้ต้องหาคงไม่ได้ แต่จะต้องมีการตรวจสอบก่อน เพราะที่ผ่านมามีหลายครั้งที่แจ้ง แล้วไม่ได้เป็นไปตามนั้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน และการพูดถึงประเทศที่สามจะต้องพูดด้วยความระมัดระวัง
เมื่อถามว่านายอุซามะห์ บิน ลาดิน ได้มีการสั่งซื้ออาวุธเช่นกัน จะเกี่ยวโยงหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตรวจสอบประวัติไปยังต้นทางของ 5 ผู้ต้องหา
เมื่อถามว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนดำเนินคดีนานแค่ไหน นายถวิลกล่าวว่า บอกไม่ได้ แต่ตำรวจบอกว่าจะเร่งดำเนินการ เพราะเท่าที่ปรากฏข้อมูลถือเป็นครั้งแรกที่มีเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศไทย และไม่คิดว่าผู้ต้องหาจะพูดว่าเคยขนหลายครั้ง แต่ไม่ทราบว่าเป็นอาวุธ
“อาวุธดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องภายในของประเทศไทยเลย และไม่มีข้อมูลว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ เช่น พยัคฆทมิฬอีแลม” นายถวิลกล่าว
เมื่อถามว่ามีรางวัลนำจับหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดถึงเลย มีแต่ว่าจะไปเบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเรื่องนี้ที่ไหน
เมื่อถามว่าในการจับกุมเพราะได้รับการประสานกับสหรัฐหรือไม่ นายถวิลกล่าวว่า เป็นการประสานกับหลายหน่วยงาน และทุกเรื่องจะนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบ และย้ำว่าเป็นเรื่องของการปฏิบัติของฝ่ายประจำ
เมื่อถามว่าในที่สุดแล้วอาวุธที่อายัดไว้จะดำเนินการอย่างไร นายถวิลกล่าวว่า ตามมติของยูเอ็นที่ 1874 ระบุว่า หากมีกรณีดังกล่าวจะต้องตรวจสอบ ต้องยึดและทำลาย แล้วรายงานให้ยูเอ็นทราบ
ด้าน พล.อ.ต.เมธา สังข์วิจิตร์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารอากาศ กล่าวภายหลังร่วมประชุมว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีอาวุธร้ายแรง หรืออาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ในการตรวจสอบเบื้องต้นที่สนามบินดอนเมืองนั้นก็ตรวจสอบตามมาตรฐาน
ทางด้าน พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาราชการแทน ผบก.ป.กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 5 คนก็ยังเป็นข้อกล่าวหาที่ว่ามีอาวุธ และเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย ตามที่อัยการสั่งให้เป็นผู้ร่วมสอบสวนเท่านั้น และเวลานี้ทางตำรวจกำลังตรวจสอบต่อว่า จะมีอาวุธที่เป็นวัตถุระเบิดด้วยหรือไม่ ส่วนในเรื่องการดำเนินคดีนั้นจะดำเนินคดีในประเทศไทย เพราะเหตุเกิดที่ประเทศไทย
พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวต่อว่า การดำเนินการตรวจสอบในเรื่องอาวุธนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหนังสือถึงผู้บัญชาการ และคงไม่ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นมาร่วมตรวจสอบ เพราะทางเราเองนั้นมีผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะจากกรมสรรพาวุธทหารอากาศ ส่วนอาวุธจะเป็นประเภทไหนบ้างนั้นต้องขอตรวจสอบอีกครั้งก่อน