ปรากฎการณ์ฟองสบู่ดูไบแตก ก็เหมือนกับฟองสบู่ไทยแตก เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่มีสาเหตุมาจาก การเอาเงินคนอื่นมาลงทุน จนทำให้ภาระหนี้ที่สูงมาก ถึงเวลาไม่มีปัญญาชำระคืน และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถูกปั่นราคาสินทรัพย์เกินความเป็นจริง จากกระแสเก็งกำไร
การประกาศหยุดพักชำระหนี้มูลค่า 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 2 ล้านล้านบาท โดยประมาณ ของบริษัทดูไบ เวิล์ด เป็นเวลา 6 เดือนนั้น เป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งแรกของรัฐบาลดูไบว่า ถังแตก หลังจากปฎิเสธมาตลอด เป็นเวลานานเกือบปีว่า ไม่มีปัญหา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ อาบู ดาบี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 นครรัฐ ที่รวมตัวกันเป็น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือ ยูเออี ( UAE – United States of Arab Emirates) เมื่อ ปี 1971 หลังอังกฤษถอนกำลังออกจากอ่าวเปอร์เซีย และเป็นนครรัฐที่ร่ำรวยที่สุด เพราะมีน้ำมันมากที่สุด ต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับดูไบ เป็นเงิน 10,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ แต่ก็ยังเอาไม่อยู่
สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง อาบู ดาบี เพิ่งจะใส่เงินลงไปให้ดูไบอีก 5 พันล้านเหรียญ แต่มีเงื่อนไขว่า เงินก้อนนี้ ห้ามนำไปชำระหนี้ของดูไบ เวิล์ด แสดงว่า นอกจากของหนี้ดูไบ เวิล์ด ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลดูไบที่ไปลงทุนในกิจการต่างทั่วโลกแล้ว ดูไบยังมีหนี้อื่นที่ซุกไว้อีก
ดูไบ เป็นนครรัฐที่ร่ำรวย แต่ไม่ได้รวยล้นฟ้าอย่างที่เข้าใจกัน เพราะดูไบไม่ได้มีน้ำมันมาก น้ำมันและแก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่ไปอยู่กับ อาบู ดาบี ดูไบมีรายได้จากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเพียง 6 % เท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ การท่องเที่ยว การค้า และภาคการเงิน
ดูไบเติบโตมาจากการเป็นเมืองท่าเสรี ที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรือสินค้าจากตะวันตก ราชวงศ์ อัล มัคทูม (Al Maktoum) ซึ่งปกครองดูไบ ตระหนักว่า ไม่อาจพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียวได้ จึงวางแผนเศรษฐกิจให้ดูไบ เป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน การบริการ และการท่องเที่ยวในตะวันออกกลาง ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ
เมื่อขึ้น ศตวรรษใหม่ ปี 2000 ดูไบหันมาเน้นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และการท่องอเที่ยว มีการลงทุนสร้างโรงแรม ศูนย์การค้า โครงการที่พักอาศัยอย่างพิสดาร โดยหวังว่า จะใช้กลยุทธ์ ใหญ่ที่สุด สูงที่สุด แปลกที่สุด เป็นจุดขายดึงนักลงทุน และเศรษฐีใหม่จากทั่วโลกเข้ามา อย่างเช่น โรงแรม เบิร์จ ซึ่งสูงที่สุดในโลก และโครงการเดอะปาล์ม ซึ่งเอาทรายมาถมทะเล ให้เป็นหมู่เกาะ ภายใต้โครงที่เหมือนต้นปาล์ม แล้วสร้างบ้านหรู ราคานับร้อยล้านบาทบนเกาะเหล่านี้
หกเจ็ดปีที่ผ่านมา ใครๆก็ไปดูไบ ไปเที่ยว ไปลงทุน ไปซื้อบ้าน เหมือนดูไบเป็นขุมทรัพย์ในตะวันออกกลาง เหมือนประเทศไทยก่อนฟองสบู่แตก ราคาอสังหาริมทรัพย์ถูกปั่นขึ้นไปหลายสิบเท่าตัว
หนึ่งปีก่อน เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินจากปัญหาซับไพร์ม ส่งผลกระทบอย่างเงียบๆ แต่ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต่อดูไบ ประการแรก ดูไบเป็นศูนย์กลางการเงินในตะวันออกกลาง เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น บริษัทการเงินที่มาตั้งสำนักงานในดูไบ ต้องปิดกิจการลง หรือ ลดการจ้างพนักงาน ทำให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ที่มาทำงานในศูนย์กลางการเงินต้องกลับบ้าน กำลังซื้อจึงหายไปไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอสังหาริมทรัพย์
คนดูไบมีแค่ 2 แสนกว่าคน เป็นกำลังการบริโภคที่ไม่สามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้ จึงต้องอาศัยนักท่องเที่ยว และผู้บริหารต่างชาติที่มาทำงานในดูไบ
ประการที่ สอง มีนักลงทุนชาวตะวันตก จำนวนมาก มาลงทุนเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ เพราะสามารถทำกำไรมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยการปั่นกระดาษใบจอง เมื่อเกิดวิกฤติซับไพร์ม สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้นักลงทุนเหล่านี้มาใช้เก็งกำไร เรียกเงินคืน คนที่ทำงานในภาคการเงินต้องตกงาน กลับบ้าน วงจรการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์จึงสะดุดลง นักเก็งกำไรต่างชาติ หนีกลับบ้าน ทิ้งหนี้สิน และความเสียหายเอาไว้เบื้องหลัง
การลงทุนของดูไบเวิล์ด ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ จึงมีปัญหากระแสเงินสด ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เงินลงทุนของดูไบเวิล์ดมาจากการกู้ ถึงเวลาก็ต้องชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ปัญหาความไม่สามารถในการชำระหนี้ของดูไบ เวิล์ด เป็นสิ่งที่นักการเงินทั่วโลก คิดว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ แต่ ชีค โมฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มัคทูม (Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) เจ้าผู้ครองนครดูไบ ปฏิเสธมาตลอด และแก้ปัญหาด้วยการ ออกข่าวประชาสัมพันธ์ถึงความสำเร็จของโครงการต่างๆเป็นการตอบโต้
เศรษฐกิจของดูไบ นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เป็นของเก๊ ทั้งในแง่ที่มาของการลงทุน ซึ่งเป็นการก่อหนี้ กู้เงินมาลงทุน
ความเทียมอีกด้านหนึ่งคือ โครงการจำนวนมาก รวมทั้งโครงการเดอะปาล์มของดูไบ เวิล์ด เป็นการสร้างบนที่ดินเทียม คือ ถมทะเลขึ้นมา นอกจากจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงแล้ว ยังมีผลต่อพื้นดิน โครงสร้างอาคารด้วย เป็นสาเหตุสำคัญให้มูลค่าของสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ปี 2001 – 2008 มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ จึงลดลงถึง 60 %
ดูไบจึงเป็นเหมือนภาพลวงตาในทะเลทราย ที่นักเดินทางคิดว่าเป็นโอเอซีส พากันวิ่งเข้าใส่ แต่เมื่อไปถึง ปรากฏว่า มีแต่ทรายกับทรายเท่านั้น
เทียบกับบริษัทเลห์ แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นชนวนของวิกฤติซับไพร์มแล้ว หนี้ของดูไบเวิล์ด นับว่าเล็กน้อย แต่นัยนะมหาศาล เพราะนี่คือ การผิดนัดชำระหนี้ของประเทศ ( sovereign default) เหมือนการผิดนัดของอาร์เจนตินาในปี 2001 และรัสเซียในปลาย ทศวรรษ 1990 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงินทั่วโลก
การประกาศเลื่อนการชำระหนี้ ของดูไบ ทำให้ ค่าธรรมเนียม การรับประกันเงินกู้ ของกรีซและลิธัวเนีย เพิ่มขึ้น 16 และ 6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนของดูไบเองเพิ่มขึ้นถึง 67 %
เจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ของดูไบเวิลด์ คือ อังกฤษ โดยโรแยล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ ซึ่งล้มละลายจากกรณีซับไพร์ม จนรัฐบาลอังฤษต้องเข้าซื้อกิจการ เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ รองลงมาคือ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ,บาร์เคลย์ และ เอชเอสบีซี
แต่เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้มากๆ เป็นธนาคารของอาบูดาบี และดูไบ
ปัญหาของดูไบเวิลด์ จะทำให้ธนาคารเจ้าหนี้ ต้องตัดหนี้สูญ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของธนาคาร และหากมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการขายสินทรัพย์ของดูไบเวิลด์จะทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกตกต่ำลง
ดูไบเวิล์ด เป็นเจ้าของ ดีพี เวิลด์ ซึ่งเป็นกิจการท่าเรือที่ซื้อมาจาก P&O ของอังกฤษ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว บริหารท่าเรือกว่า 30 แห่งทั่วโลก ถือหุ้นครึ่งหนึ่งในเอ็มจีเอ็มแกรนด์ คาสิโนในลาสเวกัส เป็นเจ้าของเรือสำราญ ควีน อลิซาเบทที่ 2 เจ้าของตลาดหุ้นลอนดอน และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆอีกมากมายในยุโรปและสหรัฐ
ดูไบ มีความหวังว่า อาบู ดาบี จะเข้ามาอุ้ม เพราะถ้าดูไบมีปัญหารุนแรง จะกระทบต่อยูเออีโดยรวม แต่อาบู ดาบีประกาศแล้วว่า จะไม่ช่วยทั้งหมด จะเลือกดูเป็นกรณีๆไป
ราชวงศ์ อัล มัคทูม ที่ครองดูไบ และราชวงศ์ อัล นายาน ผู้ปกครอง อาบูดาบี เป็นคู่แข่งกันอยู่ในที ดูไบ ชอบทำตัวฟู่ฟ่า โดดเด่น เป็นข่าวอยู่เสมอ ในขณะที่อาบู ดาบี ซึ่งรวยจริง เป็นพวกโลว์โปรไฟล์ อาบูดาบี อาจจะอยากให้ดูไบได้รับบทเรียนในครั้งนี้ก็ได้ หรืออาจจะเลือกดูว่า จะเอาสินทรัพย์อะไรของดูไบเวิลด์ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือ อาจจะให้ดูไบ ยุบสายการบินแห่งชาติทิ้ง หรือโอนให้อาบูดาบี เพราะอาบู ดาบีก็มีสายการบินแห่งชาติเหมือนกัน ซึ่งเป็นความซ้ำซ้อน ที่ยูเออี จะมีสายการบินถึง สองสาย
อนึ่ง ปัญหาหนี้ของดูไบ จะหมดไปทันที หากผู้ปกครองนครดูไบ ขอคำแนะนำจาก นักโทษคดีอาญาคนหนึ่งที่หลบหนีไปอยู่ที่นั่น เพราะเก่งกล้า รอบรู้เหนือมนุษย์ ทำให้คนไทย 60 ล้านคนหายจน คืนหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด ผู้นำทั่วโลกอยากเชิญไปเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่รับ รับปรึกษาให้ฮุน เซ็น รายเดียว
เหมือนใกล้เกลือกินด่าง มีของดีไม่รู้จักใช้