xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐเตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียวประชามติแก้ รธน.-กล่อมฝ่ายค้านร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ บุญยเกียรติ
ประธานวิปรัฐ เผย ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสน กก.สมานฉันท์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอ ครม.จัดทำประชามติ ถามความเห็นประชาชน พร้อมกล่อมฝ่ายค้านร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขหลังทำประชามติเสร็จ เพื่อความสมานฉันท์และนำสู่การปฏิรูปการเมือง

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 26 พ.ย.ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล แถลงผลการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ว่า วันนี้ถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการยกร่างทั้งหมดแล้ว ทั้งในส่วนของประเด็นและถ้อยคำ ซึ่งที่ประชุมร่วมของวิป จะส่งข้อสังเกตให้กรรมการยกร่างฯ เพื่อทำเป็นบันทึกประกอบการรายงาน ดังนั้น คณะกรรมการจะส่งเรื่องให้เลขาฯ สภาเพื่อให้ประธานสภา พิจารณาและส่งให้ ครม.ต่อไปเพื่อดำเนินการจัดทำประชามติ นอกจากนี้ ตนจะเจรจากับวิปฝ่ายค้านให้กลับมาร่วมมือกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากจัดทำประชามติเสร็จแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกัน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มเพื่อการปฏิรูปการเมืองและความสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม ขอให้สื่อมวลชนถามไปถึงวิปฝ่ายค้านในเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกฝ่ายกำลังรออยู่ หลังจากวันนี้จะให้เลขาฯ วิปรัฐบาลทำหนังสือประสานเพื่อเจรจาให้กลับมาร่วมกัน รวมทั้งจะเจรจาส่วนตัวกับวิปฝ่ายค้านด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า คำถามเพื่อทำการประชามติเป็นอย่างไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้พิจารณา เพราะประธานสภาไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาเรื่องนี้ เรื่องประชามติเป็นอำนาจของครม.และกกต.ที่จะต้องไปดำเนินการ ตอนนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้นได้ส่งกลับมาที่สภาเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คณะกรรมการยกร่างฯ ได้เสนอคำถามการจัดทำประชามติให้ที่ประชุมวิปฯพิจารณาด้วย อาทิ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับที่มาของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อเขตประเทศ 100 คน”, “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการให้ ส.ส.เป็นข้าราชการการเมืองได้แก่ที่ปรึกษา เลขาฯ และผู้ช่วยรัฐมนตรี” และ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ส.จะมีหนังสือราชการให้ช่วยเหลือประชาชน” อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจ และหากพิจารณาแล้วเป็นประเด็นออกมาจะถูกนำไปขยายความจนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมายได้ ที่ประชุมจึงเห็นว่า ให้เป็นอำนาจของ ครม.ในการพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น