“พันธมิตรฯ” บุกทำเนียบพบนายกฯ ยื่น 8 ข้อ ให้ รบ.ทบทวนแก้ข้อผิดพลาดของทุกรัฐบาลในการเซ็น MOU กับกัมพูชา รวมถึงพันธะผูกพันในอดีตด้วย โดยแนบเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สัญญาการเซ็นต่างๆ การลงนาม การทำข้อตกลง รวม 11 รายการ ยันคำนึงผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก “ปานเทพ” เผยนายกฯ เข้าใจข้อเรียกร้องพันธมิตรฯ ดี ยันยึดหลักสนธิสัญญา (1904) สันปันน้ำเป็นหลัก ส่วน MOU ครม.จะไล่เรียงเอกสารทุกฉบับ เพื่อประกอบการตัดสินใจของ ครม.พรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 8.30 น. แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น นายพิภพ ธงไชย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นานประมาณ 40 นาที จากนั้นนายพิภพให้สัมภาษณ์ว่าพันธมิตรฯ มาพบนายกฯ ในวันนี้ (9 พ.ย.) ได้นำข้อเสนอต่างๆ มาเสนอต่อนายกฯ อาทิ ขอให้นายกฯ ดำเนินการยกเลิกแผนที่แสดงเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ผลักดันทหารและชาวกัมพูชาออกจากดินแดนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักที่เรามายื่นและได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สัญญาการเซ็นต่างๆ การลงนาม การทำข้อตกลงในรูปแบบต่างๆมาให้ รวม 11 รายการ ทั้งนี้ได้มีการเริ่มต้นจดหมายด้วยการเท้าความประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยึดถือสนธิสัญญา แนวสันปันน้ำ
นายพิภพกล่าวต่อว่า เอกสารที่นำมาเสนอในวันนี้ เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ไล่มาจนถึงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในการเซ็น MOU จนถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลำดับความเป็นมาตลอด เพื่อเป็นการชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงจะเกิดกรณีได้เปรียบเสียเปรียบ โดยสรุปยื่นเงื่อนไข ทั้งหมด รวม 8 ประการ จากการที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงออกในความไม่พอใจในสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2552 พันธมิตรฯ ขอสนับสนุนและให้กำลังใจ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินการทบทวนพันธะผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมกับแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย
นายพิภพกล่าวต่อว่า การแก้ไขข้อผิดพลาดเป็นข้อผิดพลาดที่กระทำมาในหลายรัฐบาล ดังนั้น ข้อเสนอของพันธมิตรฯ นายกฯ ต้องทบทวนในข้อผิดพลาดของทุกรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งก็ตาม เพราะตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า หลังจากที่ยื่นข้อเสนอต่อนายกฯ แล้ว นายกฯ ได้รับเรื่องและดูคร่าวๆในหนังสือที่นำเสนอ โดยภาพรวมนายกฯมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวข้องกับกระบวนการในการที่พันธมิตรฯ เรียกร้อง โดยนายกฯ ยืนยันว่าที่ผ่านมาประเทศไทย ได้ยึดหลักสนธิสัญญา (1904) สันปันน้ำเป็นหลัก และรัฐบาลก็ยังคงยึดหลักนั้นเช่นเดียวกัน ส่วนกรณีเรื่องข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา ที่อาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงหรือการเสียเปรียบในอนาคตไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทะเล อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล เข้าในว่าในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ครม.คงได้ไล่เรียงเอกสารทุกฉบับ หรือข้อตกลงทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชาเข้าพิจารณาใน ครม. เพื่อจะดูสิ่งใดทำได้ไม่ได้อย่างไร
นายปานเทพกล่าวต่อด้วยว่า พันธมิตรฯ ได้มีการสอบถามเรื่องที่ประชุมสภาฯที่จะมีการรับรองการประชุมของ JBC 3 ครั้ง และมีการพิจารณาร่างข้อร่างข้อตกลงระหว่างไทยกัมพูชาที่จะมีการลงนามนั้น นายกฯ กล่าวว่าถ้ามีการเข้าที่ประชุมสภาฯจริงก็คงจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการต่อไป ระหว่างนี้อยู่ในช่วงการพิจาณาของรัฐบาลว่าจะพิจารณาฉบับใดบ้างเป็นลำดับแรก และพิจารณาเหตุผล ถ้าในแต่ละฉบับจะยกเลิกพิจารณาจากเหตุผลใดก็จะชี้แจงเป็นครั้งๆ ไป
นายพิภพกล่าวต่ออีกด้วยว่า นายกฯ กล่าวว่า จะพิจารณาให้กระทรวงต่างประเทศนำเสนอเข้าครม.ในวันที่ 10 พ.ย.ในสัญญาหรือการประกาศทีได้กระทำไปแล้วตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงจะพยายามระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และระมัดระวังในเรื่องสายตาชาวโลกว่าเราจะอะไรต้องมีเหตุมีผล ซึ่งตนและนายปานเทพได้ย้ำกับท่านายกฯว่าคงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และเรายืนยันที่จะต้องใช้สนธิสัญญาที่รับรองเรื่องสันปันน้ำเป็นเรื่องสำคัญ