นักวิชาการจุฬาฯ เดือด ชำแหละเกม “แม้ว-ฮุนเซน-บิ๊กจิ๋ว” ชี้ อย่าประณาม “ฮุนเซน” ฝ่ายเดียว มองเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งของ “แม้ว” แนะจับตา “บิ๊กจิ๋ว” ทำตัวเป็น “ออกญาจักรี” ตัวส่งสารที่สมควรถูกน่าประณามที่สุด เปรียบเสมือนหนังสุริโยทัย “แม้ว” เหมือน “บุเรงนอง” ส่ง “ออกญาจิ๋ว” ไส้ศึกขายชาติ ทำให้กรุงแตก เตือนสังคมจับตาเดินสายทัวร์อาเซียน เสี่ยงแลกผลประโยชน์ชาติ
วันนี้ (27 ต.ค.) นายพิพัฒน์ ไทยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสปนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการเคลื่อนไหวผ่าน สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่ผ่านมา ส่วนตัวคิดว่า คนไทยไม่ควรหลงประเด็นประณามสมเด็จฮุน เซน อย่างเดียว เพราะ สมเด็จฮุน เซน เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้เท่านั้น แต่คนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้มากที่สุด คือ พล.อ.ชวลิต ซึ่งน่าจะได้รับการประณามมากที่สุด
“เราจำเป็นต้องรู้เบื้องหลังว่า ทำไมทั้ง 2 คน จึงยอมรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ แบบนี้ เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ผู้นำประเทศคนหนึ่ง ถูกอดีตผู้นำประเทศอีกคนหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือ ตรงนี้เราแทบไม่ต้องมองเลยกัมพูชาจะเป็นอย่างไร ถ้ามีผู้นำประเทศแบบนี้ ในเมื่อผู้นำกัมพูชาไม่ได้เป็นผู้นำที่ทัดเทียมกับคนที่กำลังใช้เขาอยู่ แม้ว่าจะผลประโยชน์ร่วมกันก็ตาม” นายพิพัฒน์ กล่าว
นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเรื่อง ตั้งแต่การที่ พล.อ. ชวลิต เดินทางไปกัมพูชา เชื่อว่าเป็นการวางเกมจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้ พล.อ.ชวลิต เดินตาม เห็นได้จาก ไม่ว่าสื่อจะถามหรือไม่ก็ตาม พล.อ.ชวลิต พร้อมที่จะตอบและอยากจะตอบแบบนี้ เพราะหากเป็นผู้นำที่มีทักษะสูงกว่านี้ เขาก็จะสามารถบ่ายเบี่ยงคำตอบได้ และคงไม่ตอบในแบบตรงมาตรงไปแบบนี้ ท่าทีดังกล่าวส่วนตัวเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้คนไทยเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่าทำไม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ถึงได้เตือน พล.อ.ชวลิต ระวังว่าการเข้าพรรคเพื่อไทย จะเป็นการทรยศชาติ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองสอนวิชายุทธศาสตร์ ซึ่งหลายครั้งได้ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อการสอน ซึ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนเองคิดว่าสามารถเปรียบเทียบกับภาพยนตร์เรื่อง สุริโยทัย ได้ โดยหากจำลองเหตุการณ์จะมีตัวละครอยู่ 3 คน คือ 1.บุเรงนอง กษัตริย์พม่า 2. ออกญาจักรี ซึ่งเป็นคนไทยที่ยอมเป็นหมากให้กษัตริย์พม่าเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยา และ 3. ทหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ถูกออกญาจักรีแบ่งแยกให้แตกแยกกัน จนทำให้กรุงศรีอยุธยาแพ้พม่า ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ที่น่าสนใจของคนไทยโดยรวม เพราะเราต้องยอมรับว่า ผู้บริหารของกัมพูชาเล่นกันเป็นทีมเวิร์กมากกว่าสังคมไทย ที่ยังไม่มีเอกภาพ และอาจจะเป็นปรากฏการณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายได้
“ผมไม่อยากเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ กับ บุเรงนอง แต่กลวิธีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้บางส่วนไปเหมือนกับที่บุเรงนองใช้ คือ การใช้คนในสังคมให้ฆ่าและทำลายกันเอง ดังนั้น ออกญาจักรีก็เปรียบเสมือนคนส่งสาร (messenger) ที่ไปอาสาบุเรงนอง ซึ่งตรงนี้อาจจะเปรียบเทียบว่าเป็น พล.อ.ชวลิต ที่เข้ามารับงานดำเนินการต่างๆ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะรวมถึงการชวนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 เข้ามาอยู่ในพรรคเพื่อไทย ด้วยหรือไม่ แต่เหตุการณ์ตรงนี้เหมือนกันกับที่ออกญาจักรี ทำให้เกิดความแตกแยกในกองทัพ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ทำให้เราเห็นภาพต่างได้ชัดเจนขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องที่ พล.อ.ชวลิต ตั้งใจจะเดินทางไปตามประเทศต่างๆ ในแถบอาเซียน คงไม่สามารถบอกได้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะ พล.อ.ชวลิต ไปไกลเกินกว่าจุดที่สามารถเตือนเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว เพราะแม้แต่ พล.อ.เปรม เตือน เขายังไม่ฟัง จึงคงไม่มีใครสามารถห้ามเขาได้ แต่สิ่งที่น่าคิด ก็คือว่า ผู้นำต่างชาติเหล่านั้นเขามอง พล.อ.ชวลิต อย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าผู้นำทุกประเทศ ต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศเขาเป็นหลัก จึงไม่แน่ใจว่าการไปพบผู้นำแต่ละประเทศของ พล.อ.ชวลิต จะมีเรื่องการแลกเปลี่ยนตอบแทนในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติด้วยหรือไม่ เพราะประเทศที่เขาต้อนรับต้องคำนวณแล้วว่าจะมีอะไรที่แลกประโยชน์กันได้บ้าง คนไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
“จริงๆ แล้ว ผมก็อยากรู้ว่า สมเด็จฮุน เซน มอง พล.อ.ชวลิต อย่างไร แต่บทเรียนทางประวัติศาสตร์ เรื่องสุริโยทัยนั้น ชีวิตของออกญาจักรี ได้ทุกอย่างที่ต้องการจากบุเรงนอง แต่สุดท้ายก็สั่งให้เอาออกญาจักรีไปถ่วงน้ำ เพราะเห็นว่าแม้แต่ประเทศตัวเองยังทรยศได้ จึงไม่สามารถปล่อยคนอย่างออกญาจักรีไว้ได้” นายพิพัฒน์ กล่าว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เสียดายที่ พล.อ.ชวลิต เลือกทางชีวิตในการเป็นแค่คนส่งสารให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงทำให้ พล.อ.ชวลิต มีลักษณะแบบที่สังคมเห็นอยู่แบบนี้ ทั้งที่ท่านเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์รอบด้าน เหมาะที่จะเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังมากกว่า เพราะหากท่านเลือกทางนี้น่าจะมีได้รับเกียรติมากกว่าการเป็นผู้ส่งสารให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แน่นอน ทั้งนี้ เชื่อว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ทั้งสมเด็จฮุน เซน และ พล.อ.ชวลิต รับงานจาก พ.ต.ท.ทักษิณ คือ เรื่องความผูกพันที่เคยเป็นผู้นำประเทศ รวมถึงเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันทั้งในอดีตและปัจจุบันและอนาคต ทำให้สามารถวานกันได้ เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่เสมอ