xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ฮุนเซน... “มิตรแท้” หรือ “จอมตลบตะแลง”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จฯ ฮุน เซน จับมือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังเดินทางมาไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน(23 ต.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางกรณี “ฮุนเซน” นายกฯกัมพูชา มาไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แต่กลับมาให้สัมภาษณ์ตบหน้ารัฐบาลไทย ด้วยการยอมรับว่า ได้เชิญ “ทักษิณ ชินวัตร” (นักโทษที่ไทยกำลังต้องการตัว) ให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของตน พร้อมส่งสัญญาณว่า ถ้าทักษิณไปพักอยู่ในกัมพูชา (ตามที่ตนได้สร้างบ้านไว้รอแล้ว) จะไม่ส่งตัวให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยอ้างว่าคดีของทักษิณเป็นคดีการเมือง ...ท่าทีของฮุนเซน ที่ปกป้องและช่วยเหลือทักษิณ ไม่เพียงส่อเข้าข่าย “ตลบตะแลง” เพราะพูดกับรัฐบาลไทยอย่างหนึ่ง พูดกับสาธารณะอย่างหนึ่ง แต่ยังสะท้อนผลประโยชน์แอบแฝงที่ “ฮุนเซน-ทักษิณ” น่าจะมีต่อกันด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

และแล้ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ที่ปากบอกว่าสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะทนเห็นบ้านเมืองขัดแย้งแตกแยกอย่างหนักไม่ไหว จึงต้องโดดลงมาแก้ปัญหาด้วยการเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ก็ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ปากพูด ด้วยการสร้างความเสียหายให้ประเทศหนักยิ่งขึ้น เพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนๆ เดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี และเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคเพื่อไทย

หลังได้สวมบทประธานพรรคเพื่อไทย พล.อ.ชวลิต ทำราวกับได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยการเดินสายเยือนประเทศเพื่อนบ้าน อ้างว่า เพื่อสานความสัมพันธ์ แต่ผลที่ออกมากลับเป็นเพียงแค่การสานความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาชนกัมพูชา ของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา กับพรรคเพื่อไทย เท่านั้น ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประเทศทั้งสอง กลับถูกบั่นทอนลงจนยากจะมองหน้ากันได้ติด

เพราะสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่เคยบอกกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ของไทย รวมทั้งบอกกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ของไทย ว่า แม้จะเป็นเพื่อนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ต้องแยกจากการทำหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ทันทีที่ พล.อ.ชวลิต เดินทางไปเยือนกัมพูชา และหารือกับสมเด็จฯ ฮุนเซน (ซึ่งคาดว่า เป็นไปตามคำบัญชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะหลังหารือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โทรศัพท์ถาม พล.อ.ชวลิต ทันที ผลการหารือเป็นอย่างไรบ้าง) ปรากฏว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน ก็พลิกท่าทีที่เคยมีต่อรัฐบาลไทยทันที โดยหันไปยกย่อง-ปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักโทษหนีคดีที่ไทยกำลังต้องการตัว โดยคำพูดที่ออกมาจากปากสมเด็จฯ ฮุนเซน นอกจากจะแสดงความเห็นใจ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างออกนอกหน้าแล้ว ยังส่อก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วย “ในฐานะเพื่อน ผมรู้สึกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ประสบเคราะห์กรรม แต่ผมกับทักษิณยังเป็นเพื่อนกัน ในฐานะที่ทำประโยชน์ให้ประเทศมานาน แต่ทำไมวันนี้ถึงไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ผมมีความรู้สึกเจ็บปวดในเรื่องนี้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนไทย...ภรรยาผมถึงกับร้องไห้ และมีความเห็นที่จะสร้างบ้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาอยู่ในกรุงพนมเปญ ในฐานะเพื่อนอย่างมีเกียรติ”

ไม่เท่านั้น สมเด็จฯ ฮุนเซน ยังทำเหมือนตบหน้ารัฐบาลไทย ด้วยการให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (23 ต.ค.) โดยส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมจะยกตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของตนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งจะปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการไม่ส่งตัวให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนด้วย “เป็นเรื่องจริงที่ผมได้เชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ขอแนะนำให้ไปอ่านข้อที่ 3 ของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน (หากเป็นคดีการเมือง สามารถปฏิเสธการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้) ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถอยู่ในกัมพูชาได้ในฐานะแขก และในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของผม ถ้าถามว่า ผมทำอย่างนี้ทำไม นั่นเป็นคำถามที่มีหลายคำตอบ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าใครจะตอบคำถามนั้น”

สมเด็จฯ ฮุนเซน ยังอ้างด้วยว่า คำพูดและท่าทีของตนที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย พร้อมยกย่องเชิดชู พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เทียบเท่ากับอองซาน ซูจี ของพม่า “นี่ไม่ใช่การแทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่เป็นสิทธิและอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา...สิ่งที่ผมทำ คือ การให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจของผมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ คนไทยเสื้อแดงนับล้านสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วทำไมผมในฐานะมิตรจากแดนไกลจะไม่สามารถสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ถ้าไม่มีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 เรื่องแบบนี้ก็ไม่เกิดขึ้น คนพูดถึงซูจี ในพม่า แล้วทำไม ฮุนเซน จึงจะพูดถึงทักษิณไม่ได้ อย่ามาตำหนิผม”

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำรัฐบาลไทย ได้ตอบโต้สมเด็จฯ ฮุนเซน ด้วยท่าทีที่สุภาพที่สุดแล้ว โดยชี้ว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี เป็นคดีการเมืองอย่างที่สมเด็จฯ ฮุนเซน อ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันโดยเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้เสนอข้อเท็จจริงว่า ตกลงเป็นเรื่องของการเมือง หรือการทุจริตคอร์รัปชัน จะไปพูดล่วงหน้าไม่ได้ “คำพูดของสมเด็จฯ ฮุนเซน ผมคิดว่าคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก อาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในการเข้าใจสถานการณ์ที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ซึ่งต่างกับนางอองซาน ซูจี ผมไม่คิดว่าในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความคล้ายคลึงกับนางอองซาน ซูจี ...ผมไม่ทราบว่า ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาจากไหน แต่เราก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง คิดว่า นายกฯ ฮุนเซน ต้องคิดให้ดีว่าจะยืนยันการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบร่วมกันต่อประโยชน์ของคนทั้ง 2 ชาติเพื่ออะไร คือ ผมเห็นว่าท่านก็เป็นนายกฯ ที่มีความอาวุโส อย่าไปเป็นเหยื่อหรือเบี้ยให้ใครเลยครับ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง พล.อ.ชวลิต เดินทางไปพบสมเด็จฯ ฮุนเซน กระทั่ง ฮุนเซน ออกมาแสดงท่าทีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ส่อว่าอาจเกิดความร้าวฉานนั้น ปรากฏว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยสวนดุสิตโพล (ระหว่างวันที่ 23-24 ต.ค.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การพบกันระหว่าง พล.อ.ชวลิต กับ สมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นเกมการเมืองและเป็นการแสดงศักยภาพของ พล.อ.ชวลิต เพื่อหาทางออกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ ยังมองว่าการกระทำของ พล.อ.ชวลิต เป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ต่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองของไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน พล.อ.ชวลิต เตรียมเดินสายเยือนประเทศอื่นๆ ในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยอ้างเหมือนเดิมว่า ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์

ลองไปดูกันว่า ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะมองพฤติกรรมของ พล.อ.ชวลิต และท่าทีของสมเด็จฯ ฮุนเซน อย่างไร?

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.สัดส่วน และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เชื่อว่า การที่สมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับรัฐบาลทักษิณ ถึงขนาดมีการเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา แล้วจู่ๆ มายกย่องเชิดชูกันในช่วงนี้ ต้องมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าการช่วยเหลือในฐานะเพื่อน

“น่าจะมีผลประโยชน์มากกว่านั้น เขาคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกันแล้ว หลังจากที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกันเลย สถานการณ์ตอนคุณทักษิณเป็นนายกฯ ก็เผาสถานทูตไทย 2 ครั้ง บริษัท เอไอเอส ก็โดนเผา จากชั้นบนถึงชั้นล่างเลย 38 บริษัททั้งหมดก็โดนเผาทั้งหมด รวมทั้งผลประโยชน์ของคุณทักษิณด้วย แต่อยู่ดีๆ ก็มาคืนดีกันนี่ ผมก็ไม่ทราบว่า ลึกๆ แล้วอะไร ก็อาจเป็นไปได้ มีการแลกเปลี่ยนกันทางผลประโยชน์ เขาเลือกที่จะพูดว่า (ท่าทีที่มีต่อ) คุณทักษิณ ทำตามเหมือน “สม รังสี” (ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา) ที่ สม รังสี มาใช้เมืองไทย(แถลง) ก็ไม่เคยได้รับเชิญจากรัฐบาลอภิสิทธิ์เลย เขามาพูดในนามแขกของสมาคมสื่อของเอเชีย ที่เอฟซีซีที แล้วจะไปเปรียบเทียบคุณทักษิณ กับ อองซาน ซูจี ก็ไม่ได้ เพราะซูจีไม่มีพวกเสื้อแดงที่จะไปถล่มการประชุมนานาชาติ หรือไล่ทุบนายกฯ ตามล่าเลขาฯ นายกฯ ทุบซะจนรถราพังไปหมด (อองซาน ซูจี) ไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาติดคุกมาตลอด 10 กว่าปี เพราะฉะนั้นเปรียบเทียบอย่างนี้ ก็เหมือนหาเรื่อง (ถาม-อ.คิดว่าจะเป็นปัญหามั้ย ถ้า ฮุนเซน ไม่ส่งตัวคุณทักษิณให้ไทย ถ้าคุณทักษิณไปพักอยู่กัมพูชาจริงๆ โดยอ้างว่านี่เป็นคดีการเมือง?) อันนั้นก็ทำได้ แต่ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในอาเซียนแย่ลงไปเลย สมาคมอาเซียนก็จะตกอยู่ในสภาพต่ำมาก เพราะพฤติกรรมตอนนี้ เราก็แย่อยู่แล้ว เจอพม่าเข้าไป ที่ขับไล่ไสส่งประชากรของตัวเอง ประชาชนของตัวเองเป็นล้านๆ คนแล้ว แล้วมาเจอคุณฮุนเซน อีกอย่างนี้ก็ ทรุดล่ะครับตอนนี้ ภูมิภาคนี้ ต้องยอมรับ”

“(ถาม-แล้วอย่างนี้ไทยควรมีท่าทีอย่างไร สำหรับท่าทีของคุณอภิสิทธิ์ ต่อสมเด็จฯ ฮุนเซนเนี่ย โดยส่วนตัวอาจารย์คิดว่าเหมาะสมหรือยัง?) คงลำบากมาก คุณอภิสิทธิ์ ก็ไม่รู้จะทำยังไง จะแก้เผ็ดก็ไม่ได้ เพราะในเชิงทางการทูตนี่ เราก็มีนโยบายและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคุณฮุนเซนเลย คุณอภิสิทธิ์ นี่ก็ถือว่าผลประโยชน์ของภูมิภาค ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่เคยไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอะไรที่เกินเหตุเกินเลยไปในภูมิภาคนี้ ก็อยู่บนความถูกต้อง ที่มากที่สุดที่ท่านทำ คุณอภิสิทธิ์ ก็พูดถึงเรื่องความเป็นห่วง เรื่อง อองซาน ซูจี เพราะติดคุกมาเป็นเวลายาวนาน และไม่ได้ความเป็นธรรม และอยากจะเห็นการเลือกตั้งในพม่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็พูดในสิ่งที่เป็นมาตรฐานสูงสุดทางการทูตเท่าที่จะทำได้ แต่เจอท่านฮุน เซนไปอย่างนี้ ก็เหนื่อยเหมือนกัน ไม่รู้จะทำยังไงดี เพราะตอนนี้เขาก็พูดได้ฝ่ายเดียว และเขาก็อาจจะเจ็บปวดไปเอง เพราะผมคิดว่าภาพพจน์ของท่านฮุนเซน นี่ก็คงตกต่ำค่อนข้างจะมากแล้วตอนนี้”

นายไกรศักดิ์ ยังฝากถึง พล.อ.ชวลิต ด้วยว่า ถ้าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรรณรงค์ให้ตนเองได้รับความนิยมจากคนไทย ไม่ใช่ไปใช้เพื่อนบ้านมาเป็นผู้สนับสนุน หรือสร้างความสลับซับซ้อนสับสนให้ภูมิภาคนี้เพียงเพื่อผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียว เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่เฉพาะต่อประเทศไทย ที่มีมูลค่าการค้ากับกัมพูชาปีละเป็นพันๆ ล้านเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อการเจรจาต่อรองกับองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคนี้และภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

ด้าน ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน ยืนยันไม่ได้แทรกแซงกิจการภายในของไทย ว่า การจะสรุปว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน แทรกแซงกิจการภายในของไทยหรือไม่ ต้องดูที่ผลของการกระทำ ซึ่งสมเด็จฯ ฮุนเซน รู้ดีว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดผลอย่างไรตามมา

“ต้องดูผล ฮุนเซน พูดแบบนี้เนี่ย ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าผลเนี่ย มันจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้ในประเทศไทยก็มีการแบ่งขั้ว มันมีความขัดแย้งระหว่างผู้ที่สนับสนุนคุณทักษิณ กับผู้ที่ไม่สนับสนุนทักษิณ ดังนั้น การที่เขาทำอย่างนี้เนี่ย เขาก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็เห็นว่าความขัดแย้งในเมืองไทยก็ยังมีอยู่ เท่ากับว่า เหมือนกับต้องการให้เมืองไทยยังมีความขัดแย้งเช่นนี้อยู่ ตรงนี้มันก็เข้าข่ายว่าก็รู้เห็นเป็นใจกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่จะให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย ผมก็มองดูว่าอันนี้มันก็ทำให้ทางปฏิบัติมันก็เป็นการแทรกแซงอยู่ในที เพราะเขาก็รู้อยู่ ถามว่าไม่รู้เหรอ รู้ว่าถ้าเขาเอาทักษิณมาพัก ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจจะขัดแย้งรุนแรงขึ้นก็ได้ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของเขาเอง ถ้าประเทศไทยยังมีความขัดแย้ง เขาก็อาจจะได้ประโยชน์มั่ง จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ของเขา เรื่องเขาพระวิหาร เรื่องพรมแดน เรื่องเขตผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรต่างๆ ที่ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่”

“(ถาม-แล้วคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะมีท่าทีอย่างไร เพราะนี่แค่ประเทศแรกที่ พล.อ.ชวลิต ไปเยือนก็เกิดปัญหาตามมาแบบนี้ แล้ว พล.อ.ชวลิต ก็จะไปประเทศอื่นๆ อีก?) ไปประเทศอื่นคงไม่มีผลเท่าไหร่ เพราะประเทศอื่นก็ค่อนข้างจะรู้ว่า พล.อ.ชวลิต ท่านเป็นคนอย่างไร แต่ที่กัมพูชาเนี่ย เนื่องจากมันมีความขัดแย้งกับประเทศไทยอยู่ในที เกี่ยวกับพรมแดนอยู่แล้ว ที่รัฐบาลออกมา ที่ท่านนายกฯ ออกมาในที่ประชุมนั้น ผมว่าก็ดีอยู่แล้ว หมายความว่า เป็นการพูดอย่างชัดเจนว่าท่านไม่เห็นด้วยนะ ท่านจะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนะ ถ้าจะให้อยู่ก็คิดให้ดีนะว่าเหมาะสมหรือไม่ ผมว่าเสร็จแล้วก็ต้องดูสถานการณ์ต่อไปสักพักหนึ่งว่าตกลงแล้วรัฐบาลฮุน เซนเขาว่ายังไง แล้วทักษิณมาจริงหรือปล่า มาแล้วเคลื่อนไหวอะไรหรือเปล่า ผมว่าก็คงความสัมพันธ์เรากับเขมรก็คงจะไม่ดีน่ะ คงดีไม่ได้ ดูแล้วในสถานการณ์อย่างนี้”

ด้านนายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยหลายประเทศ ก็พูดถึงท่าทีของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่พยายามปกป้องช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และจะไม่ส่งตัวให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ว่า นอกจากสะท้อนว่า ฮุนเซน ไม่ได้สนใจหลักนิติรัฐนิติธรรม เพราะตัวเองสามารถสั่งอะไรก็ได้ในฐานะที่เป็นพรรคเดียวที่ผูกขาดปกครองประเทศกัมพูชามา 20 กว่าปีแล้ว ฮุนเซน ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนเป็นผู้จัดการการเมืองไทยคนสำคัญคนหนึ่งด้วย

“ที่ (ฮุนเซน) บอกว่า (ทักษิณ) เป็นเพื่อนมานาน ถ้าเป็นเพื่อนแล้วทำไมไปเผาสถานทูตไทยล่ะ ตอนนั้นเผาสถานทูตไทยสมัยคุณทักษิณ กำลังเรืองอำนาจอยู่เลยในประเทศไทย ตอนนั้นก็ทำให้คุณทักษิณเสียหน้ามาก นั่น 1.และ 2.ส่วนที่จะให้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ จะให้ปลูกบ้านให้อยู่ตามที่เป็นข่าว นายกฯ ฮุนเซน ก็พูดได้ แต่ประเด็นก็คือ ผมคิดว่าเรื่องนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องให้ความสนใจ แต่ความสนใจก็คือ ฮุนเซน บอกว่าจะไม่ส่งตัวคุณทักษิณถ้ารัฐบาลไทยขอ อันนี้มันเป็นประเด็นที่ฮุนเซน เหมือนกับว่า ไม่รู้ประวัติไม่รู้เรื่องเลยว่าคุณทักษิณเนี่ยพ้นจากอำนาจไปด้วยการรัฐประหาร มีคดีติดต่อขณะนี้ 14-15 คดี ใช่มั้ยที่ยังรออยู่ และได้พิพากษาไปแล้วโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดี(ที่ดิน) รัชดาฯ และก็รู้ด้วยว่าคดีนั้นไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีความผิดทางอาญา เพราะฉะนั้นสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมันก็มีกันทุกประเทศ เราก็มีกับ 15-16 ประเทศ นี่มันหลักสากลอยู่แล้ว ที่เขาต้องระบุอยู่แล้ว มันต้องมีมาตราหนึ่งที่ระบุไว้ว่า ทั้งนี้ จะไม่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง คือ ถ้าเป็นคดีการเมือง สนธิสัญญานี้ย่อมไม่มีผลใช่มั้ย เขาจะไม่ส่งกัน ก็เป็นหลักสากลอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือ 1.คุณฮุนเซน พูดเหมือนกับว่าคุณทักษิณไม่ได้มีความผิดอะไรเลยในประเทศไทย และ 2.คุณฮุนเซน จะตีความว่าเป็นคดีการเมืองก็เป็นสิทธิของคุณฮุน เซน แต่ในทางกฎหมายแล้ว เรื่องนี้ถ้ามีการยื่นหลักฐานทั้งหลายให้กับฝ่ายกัมพูชาพิจารณา สมมติว่า คุณทักษิณ ไปที่กัมพูชาจริง คนที่จะพิจารณาไม่ใช่คุณฮุนเซน แต่เป็นศาล”

“ในประเทศกัมพูชานั้น เราต้องไม่ลืมว่า ระบอบการเมืองการปกครองของกัมพูชา ก็แตกต่างกับเรามาก แม้เขาบอกเขาเป็นประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นประชาธิปไตยที่พรรคเดียวผูกขาดอำนาจมา 27-28 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่ก็เป็นเรื่องที่ฮุนเซน อาจจะสั่งการใครได้ทั้งหมด เพราะกัมพูชา ระบอบการเมืองอย่างนี้ ฮุนเซน อยู่ในอำนาจมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี ฮุนเซน ก็คือประเทศกัมพูชา ฮุนเซน ก็คือ การเมืองการปกครองกัมพูชา ฮุนเซน ก็คือ รัฐบาลกัมพูชา ฮุน เซน ก็คือ สังคมกัมพูชา เพราะฉะนั้น ฮุนเซน จะพูดอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้มันก็บ่งชี้ชัดว่า ฮุนเซน ไม่ได้สนใจหลักนิติรัฐนิติธรรมอะไรทั้งสิ้น ฮุนเซน บอกว่า จะเป็นเพื่อนกับคุณทักษิณ ภรรยา ฮุนเซน ก็เสียน้ำตาให้คุณทักษิณ มองว่าคุณทักษิณ ถูกรังแก แต่ประเด็นก็คือ การพูดอย่างนี้และมาพูดในประเทศไทย และมาพูดในการประชุมอาเซียนที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของคุณทักษิณเลย แสดงว่า คุณฮุนเซน ไม่ได้สนใจมาประเทศไทยเพื่อประชุมอาเซียนหรอก แต่มาประเทศไทยเพื่อมาใช้เวทีอาเซียนมาพูดในประเด็นของคุณทักษิณ เพื่อสนับสนุนคุณทักษิณและกลุ่มที่สนับสนุนคุณทักษิณในประเทศไทย ฮุนเซน ต้องการประกาศให้เห็นว่า ฮุนเซน เป็นผู้จัดการการเมืองไทยคนสำคัญคนหนึ่ง”

ส่วนกรณีที่ สมเด็จฯ ฮุนเซน ยืนยันว่า ท่าทีของตนไม่ได้แทรกแซงกิจการภายในของไทยนั้น นายสุรพงษ์ บอกว่า คำพูดของสมเด็จฯ ฮุนเซน ไร้สาระ เพราะต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้จบปริญญาอะไร แค่มีสามัญสำนึกก็ย่อมรู้ได้ว่าท่าทีของสมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยโดยตรง

ส่วนกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน ยก พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้น เทียบกับ อองซาน ซูจี ของพม่านั้น นายสุรพงษ์ ชี้ว่า เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เพราะ อองซาน ซูจี ไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือเหมือนกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยมีอำนาจรัฐในมือขณะเป็นนายกฯ นอกจากนี้ อองซาน ซูจี ต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อให้พม่ามีความเป็นประชาธิปไตย และเคารพเรื่องสิทธิมนุษยชน โดย อองซาน ซูจี ถูกอำนาจรัฐข่มเหงรังแก ถูกขังอยู่ในคุก 3-4 ปี และถูกกักบริเวณอีก 13-14 ปี ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ถูกอำนาจรัฐรังแก มีแต่ใช้อำนาจรัฐขณะเป็นนายกฯ รังแกคนไทย รังแกสังคมไทย ไม่เช่นนั้น จะมีการฆ่าตัดตอน มีกรณีกรือเซะ ตากใบ และอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือ? นอกจากนี้ ยุครัฐบาลทักษิณยังมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชน มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มีการผูกขาดอำนาจในสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อองซาน ซูจี ไม่เคยทำ ดังนั้น ไม่มีวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเหมือนกับ อองซาน ซูจี อย่างแน่นอน!!

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางไปพบและหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน ที่กัมพูชา(21 ต.ค.)


พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย(2 ต.ค.)

สมเด็จฯ ฮุน เซน กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น