หลังจากวันที่ 15 ตุลาคม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เข้ารับตำแหน่ง “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ) ตามที่มีการตกลงกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดี นายเก่ายังไม่ไป นายใหม่ยังไม่มา แต่ใต้ตึกดีเอสไอเมาท์กันให้แซ่ดว่า จะมีคำสั่งย้ายฟ้าผ่า คู่หู เพื่อนซี้ สองรองอธิบดี ดีเอสไอ
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ
แต่ยกเว้น พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีคนสุดท้าย
ปมที่สองเพื่อนซี้ พ.ต.อ.ทวี ต้องตกเป็นข่าวเมาท์ นั่นเพราะภาพลักษณ์ของบุคคลทั้งสองแนบชิดอยู่กับ พ.ต.อ.ทวี
ทั้งยามขาขึ้น ขาลง สามเกลอเจออะไรพร้อมๆ กัน
“เสื้อสีแดง” ที่ลูกพี่ทวีถูกมองว่า สวมใส่อยู่จึงเป็นเสื้อสีแดงที่คลุมไปถึงลูกน้องสองนาย ซึ่งโอนย้ายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาบุกเบิกดีเอสไอด้วยกัน
ครั้งหนึ่งเกิดมรสุมช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองปี 2549 นายจรัญ ภักดีธนากุล โอนจากผู้พิพากษามาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และดึง นายสุนัย มโนมัยอุดม เพื่อนจากศาลอุทธรณ์มาเป็นอธิบดี ดีเอสไอ
ขณะนั้น พ.ต.อ.ทวียังเป็นเพียง รองอธิบดีและ พ.ต.อ.สุชาติและ พ.ต.อ.ดุษฎี ยังเป็นเพียงผู้บัญชาการสำนักคดี เกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจเพราะประเมินว่า เป็นกลุ่มระบอบทักษิณ มีการเด้งทั้งสามออกนอกหน่วย
พ.ต.อ.ทวี ถูกให้ไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และ พ.ต.อ.สุชาติ ย้ายไปอยู่สำนักกิจการยุติธรรม พ.ต.อ.ดุษฎี เป็นผู้อำนวยการสำนักช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ด้วยข้อหา ไม่ไว้วางใจ
และขณะนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างมีความกระด้าง กระเดื่องไม่ลงให้ผู้บริหารภายในดีเอสไอ ถึงระดับไม่มีความปลอดภัยในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นหน่วยปราบปรามอาชญากรรม ทำให้ภาพพจน์ของดีเอสไอ ตกวูบไปพักหนึ่ง
แต่ภายหลังจาก ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาในสมัยพลังประชาชน อดีตตำรวจ 3 นายออกจากกรุ กลับมาผงาดเป็นผู้บริหารในดีเอสไออย่างที่เห็น และขยับให้ พ.ต.อ.ณรัชต์ ขึ้นเป็นรองอธิบดีคนที่สาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพว่า พ.ต.อ.ณรัชต์แนบแน่นกับ พ.ต.อ.ทวีน้อยกว่า พ.ต.อ.สุชาติ และ พ.ต.อ.ดุษฎี
ทำให้ครั้งนี้ไม่ปรากฏชื่อ พ.ต.อ.ณรัชต์จะติดร่างแหโดนเด้งจากรองอธิบดีที่เพิ่งนั่งเป็นไม่นาน
การย้ายกลับมาได้เป็นบิ๊กดีเอสไอในสมัยเสื้อแดงบริหารประเทศดังกล่าวได้ตอกย้ำภาพความเป็นเสื้อแดงของบุคคลทั้งสามอย่างถอดไม่ออก ดังนั้นจึงเป็นวัฏจักรที่ทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และไม่ใช่เสื้อแดงนำ ข้าราชการประจำที่มีภาพฝักฝ่ายเสื้อแดง ย่อมจะต้องได้รับผลกระทบเกิดความไม่มั่นคงในตำแหน่ง
เมื่อฤดูการโยกย้ายปลายปีมาถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นำบัญชีโยกย้ายหารือ นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกรทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาสลับเก้าอี้ซี 10 ในกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากในปีงบประมาณ 2553 มีตำแหน่งอธิบดีว่างหลายตำแหน่ง และจำเป็นต้องสลับบุคคลให้ตรงกับงานใหม่ แต่โผที่ออกมาพบว่า อธิบดีทุกตำแหน่งเป็นผลการตัดสินใจของรัฐมนตรี ซึ่งก็รับฟังปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีนโยบาย ใช้คนให้ถูกกับงานพอสมควร
แต่... จุดโฟกัสสายตาสังคมก็ยังเพ่งเล็งไปที่ดีเอสไอ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกรัฐบาลจับจ้องและการเด้ง พ.ต.อ.ทวี ขึ้นสูงในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม แทนที่จะเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมก็ช่วยรักษาหน้าและเป็นผลของการต่อรองเพื่อให้การเขย่าดีเอสไอครั้งนี้ ไม่มีปัญหา
แต่...จะไม่มีปัญหาจริงหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต ที่ยังต้องรอดูเวลาคนมีฤทธิ์ออกเดช !!
และปัจจัยอะไรที่จะเป็นตัวหนุนให้ คลื่นใต้น้ำกระเพื่อมตึกกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงยุติธรรมจะต้องระมัดระวังก็คือ การเด้งล้างบาง รองอธิบดีทั้งสองตามลูกพี่ทวีเหมือนสมัยนายจรัญ ทำ แม้ว่าข้าราชการทุกคนไม่มีสิทธิทำตัวเป็น กบเลือกนาย แต่คำกล่าวนี้ก็ใช้ไม่ได้กับคนกลุ่มนี้
แม้ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมจะยังไม่มีคำสั่งย้าย ณ ขณะนี้ แต่กระแสการเด้ง พ.ต.อ.สุชาติและ พ.ต.อ.ดุษฎี อีกรอบจะดังขึ้นเรื่อยๆ จนเขย่ากรมกันอีกครั้ง เพราะคนที่หมายปองตำแหน่งก็ยังมีอยู่ และเป็นปกติในวงราชการ
ที่เลื่อยมักจะไปหาขาคนมีจุดอ่อน
เมื่อผ่านกลางตุลาคมไปแล้ว เชื่อแน่ว่าดีเอสไอจะเข้าสู่ภาวะไม่ปกติอีกครั้ง เพราะเมื่อเอาประเด็นนี้ไปสอบถาม อธิบดีดีเอสไอคนใหม่ คำตอบคือ
“การโยกย้ายรองอธิบดี ซี 9 เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงยุติธรรม หากมีนโยบายอธิบดีก็ต้องดำเนินการ”
เหมือนไม่ตอบแต่ก็ได้คำเฉลยว่า อธิบดีคนใหม่เลือกจะไม่สวมใส่เสื้อแดงในฤดูนี้
นับจากวันนี้ วันต่อวันจะมีกระแสข่าวให้สื่อเกาะติดว่าเมื่อไร อดีตตำรวจมือฉกาจสองคนจะถูกโยก