สภาตั้ง กมธ.ร่วมถก ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ หลัง ส.ว.แก้ไขวางกฎเหล็กเพียบ ด้าน “กรณ์” อ้าง ให้สภาพิจารณาเงินนอกงบประมาณ อาจผิดกฎหมาย แนะให้ติดตามตรวจสอบผ่านเว็บไซด์ไทยเข้มแข็งได้
วันนี้ (14 ต.ค) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ....หลังจากที่ที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้แก้ไข มาตรา 3 ให้ ครม. ส่งกรอบการใช้เงินให้รัฐสภาพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ และต้องแสดงรายละเอียดโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้ มาตรา 4 การใช้จ่ายเงินกู้โดยกระทรวงการคลังต้องได้รับการอนุมัติจากครม.มาตรา 10 การบริหารเงินที่ได้รับเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ และเพิ่มเติมมาตรา 11/1 ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบการรับจ่าย การเก็บรักษา และการใช้เงินกู้ตามพระราชบัญญัตินี้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี หรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ และการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย และมีผลคุ้มค่าหรือไม่ แล้วรายงานผล
ทั้งนี้ การอภิปรายส่วนใหญ่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ล้วนแล้วแต่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา และตั้งข้อสังเกตุว่า ขณะที่ ทั้งที่งบยังไม่ออกมา หลายกระทรวงมีการเซ็นอนุมัติโครงการเป็นจำนวนมาก บางกระทรวงเซ็นไปแล้วถึง 45 โครงการ ซึ่งเสี่ยงต่อการทุจริตมาก และโครงการที่ผ่านล้วนเป็นคนที่ใกล้ชิดรัฐมนตรีวิ่งเต้นเข้าไปหาและรัฐมนตรีก็เซ็นอนุมัติหากปล่อยให้เป็นแบบนี้บ้านเมืองก็จะเสียหาย เข้าสู่การพิจารณารายงานรายละเอียดเพิ่มรายละเอียด
ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า การกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ในโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ส่วนสถานะเงินคงคลังของไทยถือว่าเข้มแข็ง ดังนั้นคำว่าถังแตกไม่มี ฐานะทางการเงินค่อนข้างดี ส่วนที่แก้ไขมาตรา 3 ให้แจ้งเพื่อสภาพิจารณาแทนรับทราบนั้น ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่พิจารณาเงินนอกงบประมาณ ขณะที่ในแง่การตรวจสอบการใช้งบประมาณ แม้จะไม่ระบุให้นำเสนอสภาเพื่อพิจารณาแต่ก็สามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยเข้มแข็ง 2555 ได้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นราคากลาง ชื่อบริษัทที่ประมูล ผู้รับผิดชอบโครงการ ไม่ต่างจากการพิจารณาในสภา
นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นมาตรา 11/1 ที่ระบุให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบการใช้งบประมาณในแต่ละโครงการ ก็เป็นหน้าที่ของ สตง.อยู่แล้วถึงจะไม่ระบุเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.นี้ และ ส่วนตัวก็ไม่ได้กลัวหรือวิตกกับการตรวจสอบการใช้งบประมาณอยู่แล้วแต่ที่เป็นห่วงคือการไประบุเช่นนี้อาจเหมือนกับการไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระที่มีกฎหมายของตัวเองกำหนดกรอบหน้าที่การทำงานอยู่แล้ว
จากนั้น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เสนอว่า หากไม่เชื่อใจในการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว เกรงว่า มาตรา 3 จะขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ กฤษฎีกา หรือ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ เพราะการที่จะให้ไปดูข้อมูลในเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถซักถามชี้แจงได้ ไม่เหมือนกับการเปิดให้พิจารณาในสภา เพราะแม้แต่ถามเรื่องข้อมูลการใช้งบซื้ออาวุธของกองทัพ 1.1 หมื่นล้านบาท วันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ทำให้ นายกรณ์ ชี้แจงว่า สามารถนำข้อมูลจากเว็บไซต์เหล่านั้นมาอภิปราย หรือตั้งกระทู้ถามในสภาได้
อย่างไรก็ตาม ที่สุดที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ....