เป็นเรื่อง “เซอร์ไพรซ์” ประจำปี สำหรับ การตัดสินใจของคณะกรรมการสถาบันโนเบล ประเทศนอร์เวย์ ที่ประกาศให้บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2552 ด้วยเหตุผลว่า เป็นผู้ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการผลักดันให้ลดการสะสมนิวเคลียร์ในโลก การแก้ปัญหาโลกร้อน การลดความตึงเครียดกับโลกมุสลิม และส่งเสริมการดำเนินการทางการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศ
โอบามา เพิ่งสาบานตัวรับตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐฯ ได้เพียง 11 วัน ก่อนถึงเส้นตายในการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลในปีนี้ คือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และถ้านับจนถึงวันที่คณะกรรมการประกาศผล เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะทำงานได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น ผลงานยังไม่เป็นที่ปรากฏ สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น เพราะโอบามาเองเห็นชอบกับการเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถาน และอนุมัติ ปฏิบัติการในปากีสถาน เพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายข้ามพรมแดน
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับชาวโลก ที่เขาได้รับรางวัลในครั้งนี้ แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนเขา ก็ยังรู้สึกงงๆ และมีความเห็นว่า เร็วเกินไปที่จะให้โอบามาได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้
Thorbjoern Jagland ประธานคณะกรรมการโนเบล ให้เหตุผลว่า คณะกรรมการต้องการสนับสนุนสิ่งที่โอบามากำลังพยายามทำให้สำเร็จ
เท่ากับว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ เป็นกำลังใจสำหรับเจตนาที่ดี โดยหวังว่า รางวัลนี้ จะช่วยกระตุ้นให้โอบามา แปรเจตนา หรือนโยบายให้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่เป็นรางวัลสำหรับผลสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เหมือนครั้งที่ผ่านๆมา
เป็นรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่หวังผลทางการเมืองระหว่างประเทศ
ในอดีต ก็เคยมี การให้รางวัล ที่มีวาระซ่อนเร้นแบบนี้ เหมือนกัน อย่างเช่น ในปี 1996 คณะกรรมการโนเบล มอบรางวัลสาขาสันติภาพให้กับ บาทหลวง คาร์ลอส เบโล และโฮเซ่ รามอส ฮอร์ตา ซึ่งตอนนั้น เป็นโฆษก ของขบวนการเฟรติลิน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อให้ติมอร์ ตะวันออก เป็นอิสระจากอินโดนีเซีย รางวัลนี้ มีส่วนช่วยให้โลกให้ความสนใจกับการต่อสู้ของติมอร์ ตะวันออก ซึ่งอีก 3 ปีต่อมา อินโดนีเซียก็ยอมถอนทหารออกไป ทำให้ติมอร์ตะวันออกมีเอกราช
อีกครั้งหนึ่ง คือในปี 1994 ที่ยิทซัค ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้รับรางวัลร่วมกับ ชิมอน เปเรส รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล และยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำขบวนการปลดปล่อยปลาเลสไตน์ สำหรับความพยายามในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง หลังจากนั้น ทั้งสามคนนี้ ซึ่งมือเปื้อนเลือดพอๆกัน ก็ลงนามในข้อตกลงออสโล เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ แต่จนถึงวันนี้ อาราฟัต ตายไปแล้ว ส่วนราบินถูกลอบสังหารเมื่อปี 1995 อิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็ยังรบกันอยู่
รางวัลโนเบล เกิดขึนโดย อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งรู้สึกเสียใจที่ผลงานของเขา ถูกนำไปใช้ในการทำลายล้าง จึงอุทิศทรัพย์สินเกือบทั้งหมด เป็นรางวัลแก่บุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติในสาขาต่างๆ เป็นเงิน 10 ล้านโครเนอร์ หรือประมาณ 44 ล้านบาท โดยจะมีพิธีมอบรางวัลที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสียชีวิต ของอัลเฟรด โนเบล
อัลเฟรด โนเบล เสียชีวิตในปี 1896 ปีแรกที่มีการมอบรางวัลคือปี 1901 ตอนนั้น สวีเดนกับนอร์เวย์ ยังเป็นประเทศเดียวกัน โนเบล สั่งเสียไว้ว่า ให้รัฐสภานอร์เวย์ เป็นผู้คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลในสาขาสันติภาพ ส่วนสาขาอื่นๆเช่น การแพทย์ เคมี และวรรณกรรมฯลฯ ให้เป็นหน้าที่ของ ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดน
ผู้ที่มีสิทธิเสนอชื่อ ผู้เข้าชิงรางวัลโนเบล คือ รัฐบาลของประเทศต่างๆ สมาชิกสหภาพรัฐสภาสากล สถาบันยุติธรรมระหว่างประเทศ นักวิชาการ และผู้ที่เคยได้รับรางวัลมาก่อน รัฐสภานอร์เวย์ จะแต่งตั้งคณะกรรมการโนเบล 5 คน ซึ่งเป็นชาวนอร์เวย์ ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือ 5 ถึง 20 คน ส่งไปให้คณะที่ปรึกษาถาวรประจำสถาบันนอร์เวย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการนอร์เวย์ พิจารณา คณะที่ปรึกษา จะจัดทำรายงาน ส่งกลับมาให้คณะกรรมการโนเบล เป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล
ปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 205 คน รายชื่ออื่นๆ นอกจากผู้ได้รับรางวัล จะถูกเก็บไว้เป็นความลับนาน 50 ปี
สื่อมวลชนนอร์เวย์วิเคราะห์ว่า Thorbjorn Jagland ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการโนเบลในปีนี้ มีบทบาทสำคัญในการทำให้โอบามาได้รับรางวัล Jagland เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และประธานรัฐสภา ซึ่งทำให้ การแต่งตั้งเขาเป็นประธานในปีนี้ ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสม เพราะสถาบันโนเบล ได้ชื่อว่า ไม่ยุงเกี่ยวกับการเมือง แต่กลับไปเอานักการเมืองมาเป็นประธานคัดเลือกคนได้รางวัล
Jagland ซึ่งมีความคิดทางการเมืองแบบฝ่ายซ้าย มีบทบาทสำคัญในความพยายามสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางมาก เขาเคยเป็น 1 ใน 5 สมาชิก ของคณะกรรมการที่มีจอร์จ มิทเชล เป็นประธาน ซึ่งร่าง “ โรดแมป”ของสันติภาพในตะวันออกกลาง เมื่อปี 2000
จอร์จ มิทเชล เคยเป็นวุฒิสมาชิก สหรัฐฯ เขาได้รับการแต่งตั้งจากโอบามา ให้เป็นทูตพิเศษของโอบามาในเรื่องตะวันออกกลาง
Jagland กล่าวในระหว่างการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลว่า ไม่ได้ให้รางวัลสำหรับสิ่งทีจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เป็นรางวัลสำหรับสิ่งที่ผู้ได้รับรางวัลได้ทำเมื่อปีก่อน เขายกย่อง โอบามาที่เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ไคโร ที่แสดงท่าที่เป็นมิตรกับโลกมุสลิม และรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางใหม่ รวมทั้ง การสร้างความสัมพันธ์กับ ส่วนอื่นๆของโลกผ่านองค์กรระหว่างประเทศ
อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้โอบามา ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ ในมุมมองของสื่อตะวันตก คือ เพื่อตบหน้าประธานาธิบดี จอร์จ บุช
มาร์ค มาร์เดล บรรณาธิการข่าว ประจำทวีปอเมริกาเหนือ ของบีบีซี บอกว่า บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพปีนี้ เพราะว่า เขาไม่ใช่ประธานาธิบดี จอร์จ บุช และดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯไปในทิศทางตรงกันข้ามกับบุช
ในยุคของบุช ซึ่งนาน 8 ปี ทำให้ทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป เหม็นหน้าสหรัฐฯมาก เพราะทำตัวเป็นพี่ใหญ่ที่ ส่งกำลังบุกอิรัก ประกาศทำสงครามกับการก่อการร้าย โดยข่มขู่ประเทศอื่นๆว่า ถ้าไม่เป็นเพื่อนกับสหรัฐฯ ก็ต้องเป็นศัตรู
โอบามา ทำให้ สหรัฐฯเปลี่ยนไป ด้วยท่าที่ที่เป็นมิตรมากขึ้น พร้อมรับฟังความเห็น การสั่งปิดเรือนจำ กวนตานาเมา ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังเพื่อรีดข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยว่า อยู่ในขบวนการก่อการร้าย โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การยกเลิก แผนการติดตั้งขีปนาวุธ ในโปแลนด์ ซึ่งเป็นการยั่วยุรัสเซีย เป็นตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงไปจากยุคของบุช
คณะกรรมการโนเบล ระบุในแถลงการณ์ว่า “โอบามา ได้สร้างบรรยากาศใหม่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ใช้การเจรจา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แม้ว่า จะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้รางวัลโนเบลกับโอบามา ก็เพราะว่า ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างเช่น ในสายตาของโลกอาหรับ สุนทรพจน์ที่ไคโร เป็นแค่คำพูดสวยๆ ที่ไม่มีการนำไปปฏิบัติ หรือในมุมมอง ของรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ที่บอกว่า โอบามาคู่ควรกับรางวัลก็ต่อเมื่อ สหรัฐฯ และชาติตะวันตกถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานแล้วเท่านั้น