เอเจนซี/เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปีนี้ไปครอง โดยคณะกรรมการยกย่อง “ความพยายามทางการทูตอันยอดเยี่ยมของเขาในเวทีระหว่างประเทศ” เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือจากมวลชลทั่วโลก เพื่อผลักดันให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แม้เพิ่งจะทำหน้าที่ผู้นำสหรัฐฯได้ไม่ถึงปี
คณะกรรมาธิการสถาบันโนเบลแห่งนอร์เวย์ ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2009 ให้แก่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ(คลินอ่าน-ประวัติ"โอบามา) จากความพยายามทางการทูตอันยอดเยี่ยมของเขาเพื่มเสริมสร้างการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานของเขาเพื่อทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ แก้ปัญหาโลกร้อน ตลอดจนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
คำตัดสินที่ออกมาวันนี้ (9) อาจก่อให้เกิดการวิจารณ์อย่างหนัก เพราะแม้ว่าประธานาธิบดี โอบามา จะอยู่ในรายชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเก็ง และเขาก็เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเท่านั้น
“แทบจะไม่มีใครเลยที่อยู่ในขอบข่ายฉุดความสนใจของโลก และให้ความหวังแก่ประชาชนเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นได้อย่างโอบามา” คณะกรรมการโนเบล ระบุในคำประกาศที่โลกต้องตะลึง
คณะกรรมการยังเห็น “ความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิสัยทัศน์ของโอบามาและการทำงานของเขาเพื่อโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์” และเสริมว่า “เขาได้สร้างสรรค์การเมืองระหว่างประเทศแบบใหม่” “เพราะความคิดริเริ่มของโอบามา ขณะนี้สหรัฐฯกำลังมีบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อตอบสนองสิ่งท้าท้ายจากปัญหาสภาพภูมิอากาศ” “ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษย์จะเข้มแข็งขึ้น”
โอบามา ปัจจุบันอายุ 48 ปี เขาเข้าทำงานในทำเนียบขาวเมื่อ 1 มกราคม ปีนี้ นับตั้งแต่นั้นก็พยายามอย่างยิ่งที่จะกอบกู้จุดยืนและภาพลักษณ์ของสหรัฐฯในโลก หลังจากสหรัฐฯถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกรณีสงครามอิรัก และทัศนคติต่อการช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนในฐานะชาติมหาอำนาจ
ผู้นำผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ ได้ทำให้ผู้นำอิสราเอลและปาเลสไตน์พบและหารือกัน ริเริ่มการใช้การทูตแบบใหม่ในการพัวพันกับอิหร่าน พม่า และเกาหลีเหนือ ทั้งยังส่งสัญญาณใหม่ๆ ว่าเต็มใจจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เขาเดินทางไปกรุงไคโร เพื่อปาฐกถาครั้งสำคัญในโลกมุสลิม ที่แปดเปื้อนจากรัฐบาลบุช ที่สั่งบุกอิรัก ที่สหประชาชาติ เขาได้แสดงแนวคิดริ่เริ่มเพื่อการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ในโลก
โอบามา เป็นประธานาธิบดีคนที่ 3ของสหรัฐฯที่ได้รับรางวัลในสาขา ระหว่างที่ยังดำรงอยู่ในตำแหน่ง หลังจากประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ได้รับรางวัลในสาขานี้ ในปี 1906 และ ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน ในปี 1919 อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ในปี 2002 ขณะที่อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ เพิ่งได้รับในปี 2007 จากการผลักดันแก้ปัญหาโลกร้อน
รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นรางวัลที่โลกจับตามากที่สุด เมือปีที่แล้ว อดีตประธานาธิบดีมาร์ตตี อาห์ตีซารี ของฟินแลนด์ จากการช่วยเจรจาสร้างสมานฉันท์ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและกลุ่มปลดปล่อยอาเจะห์ (กัม) ในปี 2005 อันนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามความขัดแย้งที่ยืดเยื้อกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า 15,000 ราย
อนึ่ง รางวัลโนเบลเป็นความตั้งใจก่อนเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งรู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์ เขาจึงมอบ 94% ของทรัพย์สินมาให้เป็นเงินทุนในการมอบรางวัลโนเบลให้กับบุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติในสาขาต่างๆ ผู้ที่ได้รางวัลในแต่ละสาขาจะสำหรับผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัลโนเบล ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินมูลค่า 10 ล้านโครเนอร์ หรือราว 43.7 ล้านบาท และพิธีมอบรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้น ที่กรุงออสโล ในวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล ที่เสียชีวิตในปี 1896
คลิกอ่าน--รวมผลการประกาศรางวัลโนเบลปี 2009
รวมรายชื่อผู้ที่เคยรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ชาวสหรัฐฯ
2009: บารัค โอบามา Barack Obama
2007: อัล กอร์ ร่วมกับคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
2002: จิมมี่ คาร์เตอร์ Jimmy Carter
1997:โจดี วิลเลียมส์ จากความพยายามต่อต้านการใช้ระเบิด Jody Williams, with International Campaign to Ban Landmines
1986:เอลีย์ วีเซล Elie Wiesel
1973:เฮนรี่ เอ. คิสซิงเกอร์ และ เล ดึ๊ก ถ่อ (แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม)Henry A. Kissinger, Le Duc Tho
1970:นอร์แมน อี . บอร์ล็อก Norman E. Borlaug
1964:มาร์ติน ลุเธอร์ คิง Martin Luther King
1962:ลินุส คาร์ล พอลลิง Linus Carl Pauling
1953:จอร์จ แคทแล็ตต์ มาร์แชล George Catlett Marshall
1950:ราล์ฟ บันช์ Ralph Bunche
1946:จอห์น ราเลห์ มอตต์ และJohn Raleigh Mott and Emily Greene Balch
1945: คอร์เดล อัลล์ Cordell Hull
1931: เจน แอดดัมส์ และ นิโคลัส เมอร์เรย์ บัตเลอร์ Jane Addams and Nicholas Murray Butler
1929:แฟรงค์ บิลลิ่งส์ เคลล็อก Frank Billings Kellogg
1925: ชาร์ลส์ เกตส์ ดอวส์ ร่วมกับ ออสเตน แชมเบอร์แลน ชาวอังกฤษ Charles Gates Dawes, Austen Chamberlain
1919: โธมัส วูดโรว์ วิลสัน Thomas Woodrow Wilson
1912: เอลิฮู รูต Elihu Root
1906: ธีโอดอร์ รูสเวลต์ Theodore Roosevelt