เอเจนซี/เอเอฟพี - แฮร์ธา มือเลอร์ นักเขียนวัย 56 ปี ที่มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมัน ในโรมาเนีย ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปีนี้ ผลงานของเธอทั้งนิยายและบทกวีหลายชิ้น ได้รับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งจากการถูกบีบคั้นและกดขี่จากระบอบคอมมิวนิสต์ในบ้านเกิด นับเป็นสตรีคนที่ 12 ที่ได้รับรางวัลสาขานี้
สถาบันวิชาการสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี 2009 ให้แก่ แฮร์ธา มือเลอร์ จากผลงานของเธอที่ใช้ภาษาดุจบทกวีและร้อยแก้วที่ตรงไปตรงมา พรรณนาให้เห็นถึง “ภูมิทัศน์ของผู้ที่ถูกขับไสพลัดที่อยู่” นับเป็นการให้รางวัลแก่นักเขียนชาวยุโรป 3 ปีติดต่อกัน และเป็นชาวเยอรมันคนที่ 10 ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งรวมถึง กุนเธอร์ กราส ที่ได้รับในปี 1999 และ ไฮริค เบิลล์ ในปี 1972
แฮร์ธา มือเลอร์ เกิดเมื่อ 17 สิงหาคม ปี 1953 ครอบครัวของมาจากชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาเยอรมันในทางตะวันตกของโรมาเนีย พ่อของเธอเคยอยู่ในหน่วยเอสเอสของนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่หลังจากปี 1945 แม่ของเธอถูกขับออกนอกประเทศไปอยู่ในค่ายแรงงานในสหภาพโซเวียต
มือเลอร์ ถูกไล่ออกจากงานที่เธอเป็นนักแปล หลังจากปฏิเสธที่จะทำงานให้หน่วยตำรวจลับของ นิโคไล เชาเชสกู ผู้นำเผด็จการของโรมาเนีย จากนั้นเธอก็ตัดสินใจอุทิศชีวิตให้กับวรรณกรรม ผลงานชิ้นแรกๆ ของเธอก็ถูกลอบขนออกจากประเทศ เธอและสามี หนีออกไปอยู่เยอรมนีตะวันตกในปี 1987 หรือ 2 ปีก่อนที่เชาเกสกู จะถูกโค่นอำนาจ ท่ามกลางการเสื่อมสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วยุโรปตะวันออก และการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในที่สุด
นักเขียนวัย 56 ปีผู้นี้ เริ่มต้นผลงานด้วยงานรวมเรื้องสั้นชื่อ “Niederungen” และ “Nadirs,” ในปี 1982 โดยเล่าเรื่องราวชีวิตอันโหดร้ายในหมู่บ้านเล็กๆ ที่พูดภาษาเยอรมันแห่งหนึ่งในโรมาเนีย ซึ่งถูกเซ็นเซอร์ทันทีจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ในปี 1984 หนังสือเวอร์ชันที่ไม่ได้เซ็นเซอร์ถูกลอบนำออกประเทศไปเยอรมนี และได้รับการตีพิมพ์ขณะที่คนอ่านก็กระหายอ่านอย่างยิ่ง ผลงานชิ้นต่อมา คือ “Oppressive Tango” ในโรมาเนีย แต่ก็ถูกสั่งห้ามตีพิมพ์ในประเทศ เพราะเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการของเชาเชสกูอย่างตรงไปตรงมา นวนิยายเล่มล่าสุดของเธอ “Atemschaukel”(2009) ก็พรรณาชีวิตของชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันในโรมาเนียที่ลี้ภัยมาอยู่ในสหภาพโซเวียตเช่นกัน
“ผมคิดว่า มีพลังอย่างไม่น่าชื่อกับสิ่งที่เธอเขียน เธอมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ” ปีเตอร์ เองลุนด์ เลขาธิการถาวรของสถาบันวิชาการสวีเดนกล่าว “แค่อ่านครึ่งหน้า คุณก็รู้ทันทีว่าเป็นงานของแฮร์ธา มือเลอร์”
“ในเวลาเดียวกัน เธอมีบางอย่างที่จะบอก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานเดิมเป็นผู้ต่อต้านที่ถูกประหัตประหารในโรมาเนีย แต่พื้นฐานของเธอเองในฐานะคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเอง คนแปลกหน้าต่อระบอบการเมืองนั้น คนแปลกหน้าต่อภาษาของคนส่วนใหญ่ และคนแปลกหน้าในครอบครัวของตัวเธอเองด้วย” เองลุนด์ เสริม
ผลงานของมือเลอร์ส่วนใหญ่เป็นภาษาเยอรมัน แต่บางส่วนก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน รวมถึง “The Passport”, “The Land of Green Plums”, “Traveling on One Leg” และ “The Appointment”
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ(คลิกอ่าน--รวมผลการประกาศรางวัลโนเบลปี 2009)ผู้ที่ได้รางวัลในแต่ละสาขาจะสำหรับผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัลโนเบล ใบประกาศเกียรติคุณ และเงินมูลค่า 10 ล้านโครเนอร์สวีเดน หรือราว 43.7 ล้านบาท ก่อนจะได้เข้าพิธีรับรางวัลในกรุงสต็อกโฮล์ม ในวันที่ 10 ธันวาคม ขณะที่การมอบรางวัลในสาขาสันติภาพจะจัดที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งจะมีการประกาศผลในวันพรุ่งนี้ ก่อนการประกาศในสาขาเศรษฐศาสตร์ในวันจันทร์(12)
อนึ่ง รางวัลโนเบลเป็นความตั้งใจก่อนเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล นักอุตสาหกรรมและนักเคมีชาวสวีเดน ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ ซึ่งรู้สึกเสียใจจากการที่ระเบิดของเขาถูกนำไปใช้ในการคร่าชีวิตมนุษย์ เขาจึงมอบ 94% ของทรัพย์สินมาให้เป็นเงินทุนในการมอบรางวัลโนเบลให้กับบุคคลที่มีผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษยชาติในสาขาต่างๆ
คลิกอ่าน--รวมผลการประกาศรางวัลโนเบลปี 2009
ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในรอบ 15 ปี
2009 แฮร์ธา มือเลอร์ (Hertha Mueller)-เยอรมนี
2008 ฌอง-มารี กุสตาฟ เลอ เคลซีโอ (Jean-Marie Gustave le Clezio)-ฝรั่งเศส
2007 ดอริส เลสซิง( Doris Lessing) -สหราชอาณาจักร
2006 ออร์แอน ปามุก (Orhan Pamuk)-ตุรกี
2005 แฮโรลด์ พินเตอร์ (Harold Pinter)-สหราชอาณาจักร
2004 เอลฟรีด เยลีเน็กซ์ (Elfriede Jelinek)-ออสเตรีย
2003 เจ.เอ็ม. โคเอ็ตซี (J.M. Coetzee)-แอฟริกาใต้
2002 อิมเร เคอร์ติส (Imre Kertesz)-ฮังการี
2001 วี.เอส. นายพอล(V.S. Naipaul)-ตินิแดด/สหราชอาณาจักร
2000 เกา สิงเจี้ยน (Gao Xingjian) -จีน
1999 กุนเทอร์ กราส (Gunter Grass)-เยอรมนี
1998: โฮเซ่ ซาราโก( Jose Saramago)-โปรตุเกส
1997 ดาริโอ โฟ Dario Fo)-อิตาลี
1996 วิสลาวา ซีบอร์สกา( Wislawa Szymborska)-โปแลนด์
1995 ซีมัส ฮีนีย์ (Seamus Heaney)-ไอร์แลนด์