xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ย้ำจัดชุมนุมค้านแก้ รธน.ติงการเมืองเก่าเลิกผูกขาดประเทศเสียที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา
เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ยืนยันจัดชุมนุมใหญ่ ต่อต้านหากมีการยื่นญัติแก้ไข รธน.ทันที ชี้ เป็นแผนการต่อรองเกมการเมือง ติงการเมืองเก่าเลิกผูกขาดประเทศ และกลัวการชุมนุมเสียที ย้ำประชาคมโลกหันมาตอบรับ ให้ภาค ปชช.เข้ามามีส่วนร่วมในภาคการเมืองแล้ว

วันนี้ (8 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) กล่าวถึงจุดยืนของพันธมิตรฯและพรรคการเมืองใหม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หากมีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พันธมิตรฯ จะประชุมแกนนำทันที เพื่อกำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวคัดค้าน ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องชุมนุมใหญ่เหมือนที่ผ่านๆ มา

สำหรับแนวทางประชามติของนายกรัฐมนตรีนั้น คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่า จะให้ประชามติในประเด็นเอารัฐธรรมนูญ 2540 คืนมา ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับนายกฯ ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเกมการต่อรองทางการเมืองของนักเลือกตั้งไปแล้ว ไม่ได้เอาการปฏิรูปการเมืองเป็นตัวตั้งแต่อย่างใด จึงไม่มีความหมาย และไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำประชามติ และคนที่คิดแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ควรล้มเลิกความตั้งใจได้แล้ว

นายสุริยะใส ยังกล่าวอีกว่า นักการเมืองบางคนออกมาคัดค้านบทบาทของพันธมิตรฯ นอกสภา เพราะเป็นพรรคการเมืองแล้วนั้น ถือเป็นความไม่เข้าใจของนักการเมืองหัวเก่า ที่เคยชินกับการผูกขาดประเทศไทย ความคิดแบบนี้เป็นตัวแทนความคิดของการเมืองระบบเก่า

พรรคการเมืองทั่วโลกปรับตัวเข้าหาประชาชนกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป โดยเฉพาะพรรคกรีนที่มีบทบาทโดดเด่นก็โต และดำรงอยู่ได้จากเคลื่อนไหวภาคประชาชนนอกสภา ในละตินอเมริกาหลายประเทศพรรคการเมืองก็เริ่มยึดโยงกับฐานมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคแรงงาน

“มีแต่พรรคการเมืองในไทย ที่กำลังจะเป็นผู้รับเหมาทำแทนประชาชน วิธีคิดแบบนี้เองที่เปิดช่องให้การเมือง กลายเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยไม่กี่ตระกูล ที่ผลัดกันมาผูกขาดและทุจริตคอร์รัปชัน จนทำให้ประเทศไทยพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น” นายสุริยะใส กล่าวและว่า

อยากให้นักการเมืองไทยศึกษา และทำความเข้าใจสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการตื่นตัวของประชาชน เป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยปรับตัวไม่ทัน จึงมักมองว่าเป็นการเมืองข้างถนน ทำให้ระบบการเมืองไทยไม่เท่าทันและไม่สนองตอบต่อความต้องการของปรนะชาชน

ถ้าเป็นนักการเมืองที่ดีตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องกลัวม็อบ หรือไม่ต้องกลัวการชุมนุมของประชาชน ถ้าจำกันได้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ก็มีแต่บรรดานักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ที่มาขึ้นเวทีชุมนุม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อพรรคการเมืองจัดชุมนุมแล้วจะได้รับความชอบธรรมจากสังคมเสมอไป เพราะต้องดูประเด็นและข้อเรียกร้องด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การชุมนุมของ นปช.ที่มีพรรคเพื่อไทย อุปถัมภ์อยู่ ก็ไม่ได้รับความชอบธรรมจากสังคม เพราะข้อเรียกร้องไม่ได้เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น