ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ชี้แนวคิดแก้ไข รธน.แค่หลุมพรางเกมการเมือง เชื่อไม่ว่าใช้รูปแบบใด จะเกิดแรงต้านจากมวลชน แนะล้มเลิกแนวคิดชงเองกินเอง หันมาให้เกียรติประชาชน แนะทางออกตั้ง คกก.อิสระขึ้นมาศึกษาก่อนแก้ไข รธน.
วันนี้ (27 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวถึงแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ กำลังตกอยู่ในหลุมพรางของเกมการเมือง โดยเฉพาะบรรรดาพรรคการเมือง ทำให้กรอบและสาระที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ไม่ได้อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังถูกลากไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองตลอดเวลา สังเกตได้จากการประชุมของวิป 3 ฝ่ายที่ยังไม่สามารถได้ข้อยุติ หรือบางครั้งได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้วแต่ก็ไม่นิ่งหรือไม่เป็นที่ยุติ ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าเป็นเกมการต่อรองทางการเมือง ยื้อหยุดฉุดกระชากกันตลอดเวลา
ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้ข้อยุติในรูปแบบใดก็ตาม ก็จะไม่จบและถูกลากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของความขัดแย้งทางการเมือง เช่น ถ้าใช้รูปแบบการลงประชามติ กระบวนการลงประชามติ ก็จะถูกบิดเบือนไปเป็นประเด็นเอาหรือไม่เอารัฐบาล คล้ายๆ กับตอนที่พรรคพลังประชาชนรณรงค์ ให้ประชาชนลงมติไม่รับร่าง รธน.ฉบับ 2550 โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.จึงไม่สนใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญว่า ก้าวหน้าหรือไม่
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า หากใช้กระบวนการ ส.ส.ร.3 พรรคเพื่อไทยก็จะไม่รับและจะเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้าน เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการรวบรัดตัดตอน รื้อรัฐธรรมนูญเพื่อหวังผลนิรโทษกรรมทักษิณ และบีบให้รัฐบาลยุบสภา ซึ่งลึกๆ แล้วเพื่อไทยไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องการเอาระบอบทักษิณกลับมาเท่านั้น
แต่หากใช้วิธีแก้โดยสภา ส.ส.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติ ก็จะถูกประชาชนเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่ห้าม ส.ส.-ส.ว.ทำหน้าที่ขัดกันทางผลประโยชน์ ซึ่งยิ่งจะทำให้เรื่องล่าช้าไปอีก เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยก็ต้องใช้เวลา และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องยุติไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา
นายสุริยะใส กล่าว่าบรรดา ส.ส.-ส.ว.ควรล้มเลิกความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพราะหากยังดันทุรังแบบนี้ก็พอคาดการณ์ได้ว่า ความแตกแยกรุนแรงกำลังรออยู่เบื้องหน้า ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองไทย ชอบนำพาสังคมไปสู่ความแตกแยก และมักใช้ประชาชน เป็นเหยื่อทางการเมือง ทำไมไม่เลือกหนทางสันติและสมานฉันท์อย่างแท้จริง ถ้าจะให้ดีควรตั้งคณะกรรมอิสระ จากหลายฝ่ายขึ้นมาศึกษาและทบทวนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญก่อนค่อยพิจารณาว่า จะแก้ไข้ปรับปรุงอย่างไร
ถ้า ส.ส.-ส.ว.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและให้เกียรติประชาชนมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าแรงต้านต่อการแก้ไขรัฐธรรรมนูญจะลดลง และจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต เป็นแนวทางสมาฉันท์มากกว่าแนวทางเผชิญหน้า