xs
xsm
sm
md
lg

วิปค้านยึกยัก ชูรักแร้แก้ รธน.ขยักเมินทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทยา บุรณศิริ
วิป 3 ฝ่ายมีมติตั้งฝ่าย กม.2 สภา ยกร่าง รธน.2 แนวทาง ก่อนนำกลับหารือ 22 ต.ค.ฝ่ายค้านกลับลำร่วมสังฆกรรมอีกรอบ อ้างยึกยักเหตุไม่ไว้ใจรัฐบาล ย้ำ จุดยืนไม่เห็นด้วยทำประชามติ เลขาวิปวุฒิ ชี้ บรรยากาศดี วิป รบ.ให้ความมั่นใจไม่ดึงเวลา

วันนี้ (8 ต.ค.) ที่รัฐสภา หลังการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายกว่า 1 ชั่วโมง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงข่าว โดย นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทั้ง 2 สภา เป็นกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกร่างตามข้อเสนอของคณะกรรมสมานฉันท์ใน 2 แนวทาง คือ ฉบับละประเด็น 6 ฉบับ และฉบับเดียวทั้ง 6 ประเด็น โดยให้กำหนดหลักการของกฎหมายอย่างกว้าง จากนั้นให้ดำเนินการจัดทำโครงร่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 พร้อมเหตุผลข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ จากนั้นวิป 3 ฝ่ายจะนำมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค. เวลา 10.00 น.

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ยังหารือถึงการจัดทำประชามติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอให้ทำก่อนผ่านวาระแรก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ได้มอบให้แต่ละพรรคไปหารือให้ได้ข้อสรุป และนำกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 ต.ค.เช่นกัน ทั้งนี้กระบวนการในการยกร่างคาดจะใช้เวลาภายใน 30 วัน และฝ่ายกฎหมายจะยกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วให้นำกลับมาหารือวิปทั้ง 3 ฝ่าย ในวันที่ 5 พ.ย.การประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฎิรูปการเมืองและสมานฉันท์ต่อไป แต่การดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับ คือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ส่วนการทำประชามติต้องเป็นไปตามมาตรา 165

ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ กล่าวว่า ก่อนจะเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย วิปฝ่ายค้านได้หารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว จึงมายืนยันในวิป 3 ฝ่ายให้สบายใจว่า ฝ่ายค้านยังยืนยันที่จะสนับสนุนมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น และคิดว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง 2 พันล้านบาท แต่ต้องการเห็นว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม ดังนั้น กระบวนการนี้ก็ต้องไปว่ากันอีกทีหลังการยกร่างเสร็จ ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้หารือและพูดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิม แล้ว ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม เกรงกลัวว่า การดำเนินการจะไม่เร่งรัด เกรงว่า รัฐบาลไม่ดำเนินการ ดังนั้น เทคนิคทางการเมืองก็เป็นอย่างที่รับทราบกัน “เรียนตามตรงว่าความไว้เนื้อเชื่อใจหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งเกรงว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ การเมืองก็เป็นเรื่องธรรมดา ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทยก็มีความเป็นห่วง ก็เป็นเรื่องธรรมดา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ยังอยู่ในเส้นทางในเงื่อนเวลาที่เรากำลังดำเนินการ ซึ่งนายกฯให้ความสำคัญอยู่ และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันเหมือนเดิม เมื่อถามว่า ขณะนี้ในฝ่ายค้าน ใครมีอำนาจที่จะให้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม เพราะกลับไปกลับมาตลอด นายวิทยา กล่าวว่า ที่นั่งอยู่นี้ยังเป็นประธานวิปอยู่ มีอำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ เมื่อถามย้ำว่า ต้องฟังประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ท่านห่วงใย และวิตก อาจเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่งเพื่อเป็นแรงผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญเร็วขึ้น ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อาจห่วงว่าชักช้าเกินไปหรือเปล่า แต่ยืนยันว่าไม่ได้ชักช้า

ด้าน นายวิทยา อินาลา เลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า บรรยากาศการประชุมร่วมในวันนี้ดีขึ้น การออกมาให้ข่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม คงเป็นเรื่องการสร้างข่าวกดดัน เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความมั่นใจว่า จะรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งวันนี้วิปรัฐบาลยังให้ความมั่นใจในการเดินหน้าแก้ไข คาดว่าจะใช้เวลาอยู่ที่ 9 เดือน มากที่สุดไม่เกิน 1 ปี สำหรับผลการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย กับฝ่ายกฎหมายของ 2 สภา ก็จะเสนอให้นาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งได้ในวันที่ 9 ต.ค.โดยให้ยกร่าง 2 แบบ พร้อมให้ทำข้อสังเกตมาด้วยว่า ประเด็นที่จะแก้กระทบกฎหมายลูกฉบับไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งวันที่ 22 ต.ค.ฝ่ายกฎหมายของ 2 สภา จะนำร่างมาให้วิป 3 ฝ่ายดู เพื่อพิจารณาปรับแก้ จากนั้นจะส่งกลับให้ฝ่ายกฎหมาย 2 สภา กลับไปจัดทำร่างที่สมบูรณ์แบบมาให้พิจารณาอีกครั้งว่าวิป 3 ฝ่าย จะเอาแบบร่างเดียว 6 ประเด็น หรือแยก 6 ร่าง จากนั้นจะให้ ส.ส. ส.ว.ร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป

เมื่อถามถึงท่าทีของฝ่ายค้านในการประชุมวันนี้ที่กลับลำอีกรอบ นายวิทยา กล่าวว่า ตอนแรกฝ่ายค้านยังยืนยันว่า ไม่ต้องทำประชามติ เพราะกลัวรัฐบาลดึงเวลา และกลัวว่าจะมีการแก้แค่ 2-3 ประเด็น แต่เมื่อประธานวิปฝ่ายค้าน ที่เข้ามาประชุมในภายหลัง แจ้งว่ายังให้การสนับสนุนต่อไป โดยยืนยันเห็นด้วยกับการแก้ไข 6 ประเด็น ทำให้ที่ประชุมเดินหน้าได้ ส่วนเรื่องประชามติยังไม่ได้ข้อยุติ แต่เบื้องต้นก็ยึดตามคำแนะนำของกฤษฎีกา ซึ่งทุกพรรคจะกลับไปพิจารณา รวมถึงพรรคเพื่อไทย ส่วนประเด็นว่าจะยุบสภาหรือไม่หลังจากแก้ไขเสร็จ ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุป ส่วนตัวเห็นว่าถึงอย่างไรก็ต้องทำประชามติ เพราะจะได้เห็นว่าประชาชนเสียงข้างมากต้องการอะไร และจะทำให้ฝ่ายคัดค้าน อย่างกลุ่ม 40 ส.ว.คงต้องยอมตามเสียงประชาชน ทั้งนี้เมื่อกรอบค่อนข้างชัดเจนว่า มีเวลายกร่างประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะทำให้ฝ่าย ส.ว.พอใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ได้ให้เหตุผลว่าควรให้เหตุผลชัดเจน นายชินวรณ์จึงฝากเป็นการบ้านกับทุกฝ่ายไปหาคำตอบมา 4 ข้อคือ 1.กระบวนการมีส่วนร่วมกระบวนการใด ที่สามารถควบคุมได้และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม 2.เป็นการรวบรวมความจากทุกฝ่าย และนำไปสู่ความเห็นพ้องสู่ความสมานฉันท์ 3.มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และ 4.เป็นกระบวนการที่สามารถหาข้อยุติได้
กำลังโหลดความคิดเห็น