นากยฯ อภิสิทธิ์ อวยพร 30 ปี ฐานเศรษฐกิจ พร้อมปาฐากถาหัวข้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ชี้มองปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าเป็นเรื่องอันดับแรกที่ต้องเร่งแก้ไข ลั่นไม่ได้หวังแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องวางแผนแก้ปัญหาอนาคตด้วย เผย 13 ต.ค.นี้ ชงโครงการไทยเข้มแข็งเข้า ครม.อีก 1.5 แสนล้านบาท ชี้หวังช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจ ทำตัวเลขศก.ไตรมาส 4 พุ่ง
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว เมื่อเวลา 11.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมงานการสัมมนาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในโอกาสครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม B-C โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นายกฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า” ให้กับภาคธุรกิจและเอกชนที่มาร่วมงานรับฟังด้วย
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับการครบรอบ 30 ปีของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ขอให้อวยพรให้การดำเนินการมีความก้าวหน้า ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มความเข้มแข็งของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ หากเรามีสื่อคุณภาพจะไม่เป็นประโยชน์เพียงการเสนอข่าวสาร แต่ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ได้แม่นยำ ดังนั้นความสำเร็จของการมีสื่อด้านนี้นอกจากเป็นความก้าวหน้าขององค์กรแล้วยังเป็นหัวใจสำคัญในระดับส่วนร่วมด้วย
นายกฯ กล่าวว่า ตนเชื่อทุกท่านติดตามการทำงานและการดำเนินมาตรการของรัฐบาลพอสมควร ตลอดระยะเวลา 9 เดือน และช่วงต่อไปหลายท่านทราบแนวทางที่เป็นนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลและตนได้ประกาศและแถลงเป็นระยะ แต่หัวข้อที่ตนมองว่ามีความสำคัญ คือ คำว่า “รวมพลังขับเคลื่อน” จึงอยากใช้โอกาสนี้พูดถึงแนวคิดของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อาจมีความจำเป็นต้องลงลึกแต่หวังว่าการพูดถึงมุมมองและเบื้องหลัง ที่มาของนโยบายจะทำให้เข้าใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อช่วงปีใหม่หลังจากมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ภาวะขณะนั้นหลายท่านทราบดีว่าคือภาวะที่ทุกฝ่ายมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งในเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ส่วนสาเหตุที่เป็นปัจจัยทำให้กังวล คือ 1.เกิดจากภายนอกประเทศและเราควบคุมไม่ได้ เช่น ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยไม่มีการเที่ยว ไม่ซื้อของ ไม่ค้าขาย ทำให้เศรษฐกิจของเราได้รับผลกระทบ 2.เราอยู่ในสถานการณ์ท่ามกลางความขัดแย้งมาต่อเนื่อง ภาพลักษณ์ของประเทศถูกบั่นทอนอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อ 9 เดือนที่แล้วที่หลายฝ่ายคิดว่าสถานการณ์จะหนักหน่วงมาก และวิตกว่าจะหาทางออกอย่างไร แม้แต่ชาวต่างชาติที่เห็นเรามีนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน และมีเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย และมองว่านอกจากประเทศไทยในภาวะปกติก็ไม่เดินไปข้างหน้า และเจอวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำเติมจะฟื้นได้อย่างไร
“ตั้งแต่วันแรกที่ผมทราบดี คือ การแก้ปัญหาของบ้านมันมีความเกี่ยวพันกัน ถ้าไม่คิดแก้การเมืองไปพร้อมกัน ก็คิดว่าเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ถ้าแก้ปัญหาการเมืองโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเศรษฐกิจก็จะลุกลาม หลักคิดเบื้องต้นที่ผมเน้นย้ำคือข้อแรกเราต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่มีผลกระทบกับประชาชนมีความสำคัญที่สุด ถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามก็จะเป็นวิกฤติทางสังคม ถ้าทั้งสองวิกฤติเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤติทางการเมืองก็จะเป็นวิกฤติความมั่นคงของประเทศด้วย ดังนั้นจึงเป็นจุดที่ผมเน้นย้ำก่อนเกิดวิกฤติว่าเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า 2.เราต้องยอมรับว่าประชาชนให้ความสนใจกับผลลัพธ์มากกว่า ดังนั้น ป่วยการที่รัฐบาลจะมาแก้ตัว จะบอกว่าการเมืองมีปัญหาขัดแย้งทำให้ประชาชนไม่ได้รับการแก้ปัญหา และตนก็มองไม่เห็นว่าประชาชนจะยอมรับการชี้แจงดังกล่าว ดังนั้นปัญหาอื่นๆจะมีอย่างไรแต่แผนเศรษฐกิจจะต้องเดินหน้าต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ชัดเจน อย่าทำให้ปัญหาอื่นเป็นอุปสรรค 3.ในท่ามกลางความขัดแย้งเราจะเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน แต่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เรียกร้องถ้าผู้มีอำนาจไม่ทำให้ประชาชนให้ความไว้วางใจหรือให้ความร่วมมือได้ และประการสุดท้ายสิ่งที่เน้นย้ำคือ ไม่ว่าจะเห็นปัญหาข้างหน้าหนักหนาเท่าไร สิ่งที่เราไม่ลืมคือเราไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เราต้องวางรากฐานให้ประเทศ อย่าแก้หนึ่งปัญหาเพื่อเพิ่มอีกสิบปัญหา นี่คือหลักคิดที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลทำในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกซึ่งถูกวิจารณ์พอสมควร คือ เราช่วยคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดก่อน เพราะวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้เข้ามาพร้อมกับราคาสินค้าเกษตรที่ราคาตก คนตกงาน 2 ล้านคน ดังนั้นเราต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้ และทำอย่างไรให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเร็วที่สุด
“มีการพูดว่าทำรัฐบาลไม่ทำเมกะโปรเจ็ค เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นกว่าเราจะเริ่มทำได้จริงก็คงเห็นผลในช่วงนี้ เราจึงใช้วิธีแก้ปัญหาแทรกแซงพืชผลเกษตร ช่วยที่มีผู้รายได้น้อย ลดรายจ่าย มีมาตรการค่าน้ำค่าไฟค่าเดินทาง มาตรการเรียนฟรี ดูแลรัฐวิสาหกิจ ยกเว้นลดหย่อนค่าธรรมเนียม มาตรการเหล่านี้ทำให้การช่วยเหลือลงไปถึงประชาชนเมื่อปลายเดือนมีนาคม และตัวเลขตลอด 9 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่ เม.ย.ดีขึ้นเป็นลำดับ” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า เรารู้ว่านี่เป็นมาตรการเริ่มต้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ที่ไม่เพียงพอ ฉะนั้นวันนี้มาตรการที่รัฐบาลผลักดันไปถือว่าได้ทำหน้าที่ในการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่การท่องเที่ยวติดลบเลขสองหลักอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผลักดันง่ายๆ เพราะต้องใช้งบประมาณกลางปีและผ่านระบบรัฐสภา แต่ว่าแม้การเมืองจะยุ่งวุ่นวายเท่าไร แต่ 9 เดือนที่ผ่านมามาตรการเหล่านี้ก็ออกตรงกับเวลา
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงโครงการไทยเข้มแข็งว่า มาตรการไทยเข้มแข็งเรียกว่าเมื่อมีความพร้อมก็ใส่เงินลงไปในลักษณะการ ลงทุน ที่เป็นการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 3 ปี ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท โดยใช้วิธีการระดมเงินจากภายในเป็นหลัก มีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอยู่ในขอบเขต ซึ่งโครงการของไทยเข้มแข็งจะกระจายไปทั่วประเทศหลายโครงการที่ครอบคลุมหลายเรื่อง และขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้วและกำลังดำเนินการ และเมื่อมีข่าวว่ากระทรวงการคลังเก็บรายได้มากกว่าการประมาณการ ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นมา 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้นในวันที่ 13 ต.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณาโครงการอีก 1.5 แสนล้าน เช่น เรื่องกองทุนหมู่บ้าน เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศต่อไป เพราะแม้ตัวเลขขณะนี้จะบอกว่าทุกอย่างดีขึ้น แต่ก็ต้องมีการเร่งลงทุนโครงการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่จะต้องติดตามอย่างเข้มข้น เพื่อให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นและมีความแข็งแกร่งภายในต้นปีหน้า ตนเชื่อว่าตัวเลขการหดตัวทางเศรษฐกิจเมื่อถึงไตรมาสที่ 4 ตัวเลขจะกลับมาเป็นบวก และปีหน้าการประมาณการก็จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ถึง 4 แต่คงไม่ถึง 4 เพราะยังไม่ไว้ใจ แต่จะต้องเร่งรัดต่อไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเงินที่เป็นเงินกู้ตามพระราชบัญญัติเพื่อดำเนินโครงการไทยเข้มแข็งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคงต้องใช้เวลา 2-3 เดือนจะยุติ รัฐบาลจึงปรับจุดเน้นในโครงการที่มีความพร้อมที่เป็นยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การบริการ ซึ่งจุดหลักที่ต้องเน้นคือเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ไทยยังแข่งขันได้และทำให้เกิดความยั่งยืนและเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างต้องใช้เวลาและมีความต่อเนื่อง เพื่อเดินหน้าหลายเรื่อง เช่น ภาคเกษตรเราต้องทำให้ผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรมเราได้สร้างมีฐานที่แข็งแกร่งมีการขยายตัวต่อเนื่อง ที่ขณะนี้กำลังจะมีการเข้ามาลงทุนเพิ่มในรายใหญ่ๆในส่วนของรถยนต์
“นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญมาก คือ การสร้างมูลค่าด้วยการใช้ทรัพยากรน้อยลง และใช้สติปัญญามากขึ้นในเรื่องของการออกแบบ ซึ่งในวันที่ 7 ต.ค.นี้ จะถึงจะประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเดินหน้าโครงการในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าในการเพิ่มสัดส่วนของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นี่คือแนวคิดแนวทางที่รัฐบาลเดินมาถูกทาง ซึ่งผมมั่นใจว่าแนวทางนี้สอดคล้องกับสภาวพของโลก และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการ แต่ตนทราบดีว่าการแก้ปัญหาไม่ราบรื่นเพราะมีปัญหาที่ต้องเผชิญด้านเศรษฐกิจบ้าง ทั้งจากการเมืองบ้าง การบริหารบ้าง แต่เป็นธรรมดาที่ยังมีความขัดแย้งและปัญหาระบบราชการที่ต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อรองรับในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่เราก็แก้ปัญหากันต่อไป เรื่องของการเมืองตนกำลังเดินหน้าหาฉันทามติในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามรีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมทั้งเรื่องของระบบระบบราชการ การบริหาร ภาคเอกชน ก็มีการตีความกฎหมายในกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคก็จะอำนวยความสะดวกในการตั้งศูนย์ช่วยเหลือภาคเอกชนเพื่อสะสางปัญหาภาษี การเมืองจะบริหารจัดการฟังเสียงและยึดหลักของกระบวนการของรัฐสภาบาล โดยยึดและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและดูแลรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้การเมืองซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.จะไม่เกิดขึ้นอีก
“แต่ว่าที่สุดแล้วอยากจะย้ำอีกครั้งว่า เราอาจจะก้าวข้ามปัญหาที่ผ่านมา เช่น การว่างงานลดลงจนไม่ต้องกลัวว่าเศรษฐิจจะติดลบถึงปีหน้า และการท่องเที่ยวอาจจะติดลบตลอด แต่เราจะไม่ตายใจ ไม่ประมาท หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะไม่ทำงานหนักเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินการได้ ดังนั้นความร่วมมือคือสิ่งที่รัฐบาลแสวงหาจากทุกฝ่าย ตนวางกลไกต่างๆเอาไว้ โดยกรณีของภาคเอกชน รัฐบาลนี้ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าเสนอปัญหาต่างๆผ่านการประชุมคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชนเพื่อแกไขปญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และรัฐบาลตัดสินใจตรงตามความต้องการของเอกชน บางเรื่องไม่เห็นด้วยก็ต้องมีการตัดสินใจ ส่วนภาคประชาชนตนได้ยื่นมือเข้าไปทำความเข้าใจเช่นกรณีมาตรา 67 ที่เกี่ยวกับมาบตาพุดเพื่อให้เอกชนมีส่วนร่วมแต่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชน แม้มีระบบศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ตนก็หาจุดตรงนี้ให้เดินไปข้างหน้าได้” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ความสำเร็จของแนวทางจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็อยู่ที่ตนและรัฐบาล แต่ปัจจัยที่สำคัญคือสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ตนเดินทางไปต่างประเทศ ตนคิดว่าทั่วโลกมั่นใจและเข้าในแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ที่เดินอยู่ แต่เครื่องหมายคำถามของเขาคือ เรื่องของการเมืองและสังคมไทย ว่าเรามีวิธีจัดการแล้วหรือยัง ซึ่งตนตอบว่าเรามีแล้ว แต่วิธีนี้จะมีหลักประกัน 100% หรือไม่ จะลุกลามให้เศรษฐกิจสะดุดหรือไม่ แต่ตนได้ยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการเห็นประเทศเสียโอกาสอีกต่อไป
“สิ่งที่ผมคิดและพูดจะเป็นความจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ในการดูแลรักษาให้บ้านเมืองของเราเดินไปข้างหน้าได้ด้วยการไม่มีเหตุขัดแย้งรุนแรงที่เป็นบ่อนทำลายนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ และถ้าเรารวมพลังได้จริงไม่เพียงแต่เราจะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจแต่เราจะฟื้นในฐานะประเทศที่เข้มแข็งกว่าช่วงที่เราก้าวเข้าสู่วิกฤติอีกด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว