การที่รัฐบาลโอบามาร์ค ประกาศต่อเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน หรือ โครงการ 5 มาตรการ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม รถเมล์ รถไฟ ค่าน้ำ และค่าไฟฟรี ออกไปถึงสิ้นปี 2552 มีประชาชนไม่น้อยที่ยกมือสนับสนุน เนื่องด้วยมาตรการดังกล่าวช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้มากโข ขณะเดียวกัน หลายคนก็ส่ายหัว ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่า เกรงจะกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล, กลัวว่าเราๆ ท่านๆ จะ ‘เคยตัว’ งอมืองอเท้าเพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และหนักสุดคือ รับไม่ได้ที่ เดินตามรูปรอย ‘ประชานิยม’ อย่างโจ่งแจ้ง!
ไปดูท่าทีและฟังทัศนะของประชาชนคนเดินดิน และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ที่มีต่อการยืดเวลา 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ในชื่อใหม่ ‘5 มาตรการ 5 เดือน’ ว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ หรือหาเสียง?
ปฐมบทมาตรการ ‘บริการฟรีรัฐจัดให้’
ย้อนกลับไปสมัยที่ สมัคร สุนทรเวช นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงทะลุเพดาน ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตาม ทำให้ ‘นายกฯ ชิมไปบ่นไป’ คลอด ‘มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทย’ ได้แก่ ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (ใช้งบ 32,000 ล้านบาท) ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน งดเว้นค่าน้ำประปาสำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกินเดือนละ 50 ลูกบาศก์เมตร (ใช้งบ 3,930 ล้านบาท) งดเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกินเดือนละ 80 ยูนิต หากใช้ 80-150 ยูนิต จ่ายครึ่งราคา (ใช้งบ 12,000 ล้านบาท) จัดรถเมล์ธรรมดาบริการฟรี 800 คันใน 73 เส้นทาง (ใช้งบ 1,224 ล้านบาท) และรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศ ฟรีทั่วประเทศ (ใช้งบ 250 ล้านบาท) รวมแล้วใช้งบไปทั้งสิ้น 49,404 ล้านบาท (ไม่รวมการชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม) ดำเนินมาตรการตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2551-31 มกราคม 2552
จากนั้นเมื่อเข้าสู่ รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เขาและคณะจึงเห็นดีเห็นงามที่จะยืดเวลามาตรการดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ แต่ได้ยกเลิกการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และปรับปรุงรายละเอียดมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นดังนี้คือ ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน งดเว้นค่าน้ำประปาสำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมผู้ใช้ในเขตนครหลวง และเขตภูมิภาค (ใช้งบ 5,840 ล้านบาท) งดเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 90 ยูนิต ในเขตนครหลวงและภูมิภาค (ใช้งบ 6,810 ล้านบาท) จัดรถเมล์ธรรมดาบริการฟรี (ใช้งบ 650 ล้านบาท) และรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศ (ใช้งบ 600 ล้านบาท) รวมแล้วใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 13,900 ล้านบาท (ไม่รวมการชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม)
ล่าสุด รัฐบาลไฟเขียวยืดเวลา 5 มาตรการออกไปอีกจนถึงสิ้นปี โดยคงหลักเกณฑ์เดิม ใช้งบจำนวน 11,117 ล้านบาท (ไม่รวมการชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม) แบ่งเป็น ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน งดเว้นค่าน้ำประปาสำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกิน 30 ยูนิต ครอบคลุมผู้ใช้ในเขตนครหลวง และเขตภูมิภาค (ใช้งบ 3,255 ล้านบาท) งดเว้นค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วย ในเขตนครหลวงและภูมิภาค (ใช้งบ 6,300 ล้านบาท) จัดรถเมล์ธรรมดาบริการฟรี (ใช้งบ 1,110 ล้านบาท) และรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศ (ใช้งบ 452 ล้านบาท)
บริการฟรี ดีจริงหรือ?
ด้วยโจทย์ที่ว่า การยืดเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน จะก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงหรือไม่? และมาตรการ (บริการฟรี) ที่ผ่านมา ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวได้จริงหรือ? ทีมข่าวคลิกจึงไปถามความเห็นและผลประโยชน์ที่ประชาชนในท้องที่ต่างๆ ได้รับจากมาตรการดังกล่าว
เริ่มจาก ภาดี ผดุงจันทร์ สาวโรงงานปลากระป๋อง จังหวัดสมุทรสาคร วัย 42 ปี บอกว่า การต่ออายุ 5 มาตรการออกไป เป็นเรื่องดีสำหรับเธอที่รับเงินค่าจ้างเป็นรายวัน เฉลี่ยแล้วเดือนละ 5,000 กว่าบาท เธอสำทับด้วยว่า ตั้งแต่มีมาตรการน้ำไฟ ฟรี สมัยรัฐบาลสมัคร จนถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ บ้านเธอไม่เคยเสียค่าน้ำค่าไฟเลยแม้แต่บาทเดียว
“เมื่อก่อนเดือนๆ หนึ่ง เสียค่าน้ำ 85 บาท ค่าไฟอีก 125 บาท นี่ก็มีความคิดว่า จะเอาเงินที่ไม่ได้เสียค่าน้ำค่าไฟ ไปหยอดกระปุกออมสิน เอาไว้ใช้ยามจำเป็น เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ข้าวของแพง”
ส่วนรถเมล์ฟรี ภาดีบอกว่า ไม่ได้รับผลประโยชน์เลย เพราะบ้านไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แต่ก็เข้าใจรัฐบาล ที่ไม่ได้ใช้มาตรการรถเมล์ฟรีครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะถ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คงต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อีกอย่างรถเมล์ที่บ้าน เป็นรถของเจ้าของธุรกิจเดินรถ ไม่ใช่ของรัฐบาล จึงเข้าใจและไม่ได้รู้สึกว่าได้รับสิทธิไม่เท่ากัน
ส่วน ป้านิด-คะนึงนิด สหะชาติมาฉพ อายุ 62 ปี อาชีพรับเย็บผ้า บอกว่า มาตรการที่ออกมา ช่วยลดค่าใช้จ่ายในบ้านได้ประมาณเดือนละ 300 บาท เธอไม่เสียค่าน้ำมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ที่บ้านอยู่กัน 3 คน จึงไม่ค่อยใช้น้ำเปลืองสักเท่าไหร่ เสียแต่ค่าไฟ
“ป้าว่าก็ดีนะ ที่รัฐบาลออกมาตรการนี้ แม้ว่าบ้านป้าจะไม่ได้ใช้ไฟฟรี แต่ก็สามารถช่วยเราประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ส่วนรถเมล์ฟรี จะได้ใช้หรือไม่ ป้าไม่ค่อยคิดอะไรมาก เพราะบางทีคนเยอะ คิดว่าให้คนอื่นเขาขึ้นเถอะ ป้าเอาสะดวกไว้ก่อน”
ขณะที่ สุนีย์ นิลประเสริฐ แม่บ้านวัย 41 ปี บอกว่าไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เท่าที่ควร แต่ในสมัยรัฐบาลสมัคร เธอได้รับผลประโยชน์จากการใช้น้ำ เพราะนโยบายในตอนนั้นคือ ให้ใช้น้ำฟรีได้ตั้งแต่ 0-50 หน่วย แต่พอมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ลดลงเป็น 0-30 หน่วย บ้านเธอจึงไม่ได้รับสิทธิตรงนี้อีกเลย
“ตั้งแต่ระดับหน่วยการใช้น้ำลดลง บ้านน้าก็ไม่เคยได้รับสิทธิการใช้น้ำฟรีเลย แม้ว่าพยายามจะประหยัดเพื่อให้ได้รับสิทธิค่าน้ำฟรีก็ไม่เป็นผล เต็มที่ก็ได้แค่ 32 หน่วย บางเดือนที่เลยมา 31 หน่วยแล้วไม่ได้รับสิทธิการใช้น้ำฟรี จะโมโหหาก เพราะเลยมาแค่หน่วยเดียวเอง”
มาตรการประชานิยม หว่านเท่าไหร่ก็ไม่มีผล
หลังฟังสิทธิประโยชน์ที่ทั้ง 3 ได้รับจาก ‘5 มาตรการ 6 เดือน’ อยากรู้ไหมว่า การต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปจะมีผลให้พวกเขาและคนอื่น เลือกอภิสิทธิ์ มาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่?
“คิดว่าดีแล้วที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะช่วยประชาชน ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” ภาดีบอกอย่างนั้น ส่วนจะมีผลหรือไม่มีผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น เธอคิดว่าขึ้นอยู่กับแต่ละคนมอง บางคนอาจจะพอใจหรือบางคนอาจจะไม่ชอบใจที่เอางบมาเอาใจคนมีรายได้น้อย
ต่างจาก สุนีย์ ที่คิดว่า ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งเลย เพราะบางทีมาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยคนไทยทั้งประเทศ การลดค่าอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคน่าจะดีกว่า เพราะเวลาที่สินค้าลดราคาจะช่วยคนได้มากกว่า
ขณะที่ ชาย วรวงศ์เทพ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี แสดงทัศนะว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ตอนนี้ ในการต่ออายุ 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพออกไปถึงสิ้นปี เหมือนจะไร้ผลต่อคะแนนความนิยมในตัวรัฐบาลเอง โดยเฉพาะคนในภาคอีสานคงไม่แยแสกับนโยบายนี้สักเท่าไหร่นัก
“มาตรการที่ออกมารัฐบาลก็ไม่เห็นคนต่างจังหวัดเป็นกลุ่มเป้าหมายสักที ทุกอย่างกำหนดนโยบายเอาใจคนกรุงเทพฯ อย่างรถเมล์ฟรี คนต่างจังหวัดก็ไม่ได้รับประโยชน์เหมือนกับคนที่อยู่กรุงเทพฯ นะ”
เขาให้เหตุผลว่า สำหรับคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่นิยมสิ่งที่สามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะชาวบ้านเขาจะไม่คำนึงถึงมาตรการหรืออะไรที่สร้างผลประโยชน์ระยะยาว แต่เน้นให้ความสำคัญกับคนที่สร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เช่น การทุ่มงบประมาณแล้วเข้าถึงชาวบ้านได้ทันที ถ้ารัฐบาลชุดไหนที่มองออกว่าคนอีสานต้องการอะไรแล้วให้ได้ ก็จะสามารถซื้อคะแนนความนิยมได้โดยปริยาย
ต่างจากป้านิด ที่ยืนกรานเสียงเดียวว่า มาตรการที่ออกมามีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน เพราะว่าเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยได้จริงๆ ส่วนคนอื่นจะคิดเห็นอย่างไร ป้าบอกว่าก็แล้วแต่มุมมอง เพราะคนเราความคิดต่างกัน
5 มาตรการ กับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
“หากถามถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผมจะลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เงิน 11,117 ล้านบาทที่ใช้ใน 5 มาตรการ 5 เดือน เทียบเคียงได้กับเงินที่ใช้ในกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลทำอยู่เลย หากเอาเงินดังกล่าวมาใช้ในกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง อาจให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะสามารถนำไปสร้างงาน และสร้างรายได้ต่อเนื่องมากกว่า
“หรือจะเอาไปทำอย่างอื่นก็ได้ หลายๆ อย่างเลยด้วย เช่น นำไปสร้างถนนหนทาง สร้างคลองชลประทาน หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ย่อมเกิดการสร้างงานขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลเลือกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพของประชาชน ถือว่าตรงตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลตั้งไว้ สรุปแล้วถือว่าคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งแต่ไม่คุ้มที่สุด” ผศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ให้ฟัง
เราอยากรู้ว่า หลังสิ้นสุดโครงการ 5 มาตรการ 5 เดือน เขาเห็นด้วยหรือไม่ หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการนี้ในระยะยาว?
“ผมว่าไม่เหมาะสมครับ หากรัฐบาลมองเห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า ควรยกเลิก เพราะมาตรการช่วยเหลือตรงนี้ เสริมส่งให้ประชาชนขาดความยั้งคิดในการใช้จ่าย เมื่อก่อนอาจใช้น้ำไม่มากเท่าไหร่ แต่ตอนนี้กลับใช้น้ำในปริมาณที่เต็มจำนวนที่ไม่ต้องเสียียเงิน หลายคนคิดว่าเป็นของฟรี จึงใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่มันมีต้นทุนอยู่ และรัฐบาลไม่ควรตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ประชาชนควรต้องจ่ายตามราคาจริง เพื่อให้เกิดการใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัด”
พร้อมกันนั้น ผศ.ดร. ธนวรรธน์ เสนอแนะว่า การที่รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือด้านสวัสดิการของประชาชน ต้องทำควบคู่กับการชดเชยรายได้ให้กแก่หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟ ในลักษณะการเหมาจ่ายเงินให้หน่วยงานเหล่านี้ เพื่อจะไม่ให้ขาดทุน เพราะผลของมาตรการเหล่านี้ ส่งผลให้ หน่วยงานข้างต้นขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ขาดโอกาสในการสร้างประสิทธิภาพให้กับการบริการ เพราะคิดว่าบริการห่วยหรือดีแค่ไหน อย่างน้อยต้องได้เงินจากรัฐบาลอยู่แล้ว
“ประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือ อาจมองเป็นนโยบายประชานิยม และหวังให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไม่คิดว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ประชาชนจึงเสพติดนโยบายเหล่านี้” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ แสดงทัศนะ
ด้วยข้อจำกัดของมาตรการนี้ที่มีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เช่น คนที่ใช้บริการรถเมล์ฟรีก็ต้องอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น คนที่โดยสารรถไฟฟรีก็อาจไม่ใช่คนยากจนข้นแค้นจริงๆ หรือคนที่ได้สิทธิยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเขตบริการของการไฟฟ้าฯ หรือการประปาฯ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่าไม่ถือเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท
“เป็นความง่ายในเชิงปฏิบัติของรัฐบาลมากกว่า ไม่มีทางที่มาตรการนี้จะช่วยเหลือคนยากจนทุกคนในประเทศไทยได้หรอก มาตรการนี้ผมถือว่าพอรับได้ อย่างน้อยความช่วยเหลือได้เข้าไปสู่ผู้ที่มีรายได้น้อย และรัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉยในการกระจายมาตรการนี้ไปสู่คนทุกกลุ่มในประเทศไทย มีการหาทางให้ประปาหมู่บ้านและหอพักได้รวมอยู่ในมาตรการลดหย่อนค่าบริการด้วย”
ถึงบรรทัดนี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินว่า มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนนี้ มุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง หรือหวังผลทางการเมือง?
************************************
เรื่อง : ทีมข่าวคลิก
ภาพ : ทีมภาพคลิก
ได้เวลา เปลี่ยนสติกเกอร์???
หากใครสังเกตให้ดี เริ่มต้นมาตรการในส่วนของรถเมล์ฟรี สมัยรัฐบาลสมัคร ใช้สติกเกอร์ที่เป็นแถบสีขาว ติดด้านหน้า ด้านหลัง และประตูทางขึ้นรถเมล์ ใช้ตัวหนังสือเขียนว่า ‘รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน’ ซึ่งรูปแบบตัวหนังสือมีลักษณะคล้ายกับอักษรโลโก้พรรคพลังประชาชน แต่เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2552 ได้มีการเปลี่ยนสติกเกอร์รูปแบบใหม่ เป็นพื้นสีน้ำเงินคล้ายกับสีของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งเปลี่ยนข้อความเป็น ‘รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน’
พิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนสติกเกอร์ที่ติดรถโดยสารก็เพื่อต้องการปลุกจิตสำนึกให้รู้ว่าใช้เงินภาษีมาอุดหนุน ไม่มีวาระแอบแฝง แม้รูปแบบสติกเกอร์ถูกมองเปลี่ยนไปตามการเมืองก็ตาม และอีกอย่างก็เพราะว่าสติกเกอร์อันเดิมที่เคยใช้ได้เก่า และชำรุดเสียหายบางส่วนแล้ว
ถึงแม้จะเปลี่ยนสติกเกอร์กันกี่ครั้งก็ตาม แต่หากคงไว้ว่าคนที่ควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดคือประชาชนก็คงไม่มีใครว่าอะไรกระมัง