โซ่ข้อกลางอาศัยจังหวะครบ 3 ปีรัฐประหาร ออกสมุดปกขาวแสดง “ความจงรักภักดี การสร้างความสามัคคีแห่งชาติ ทหารกับการเมือง” ชี้ทหารเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของบุคคลหรือคณะบุคคล วิเคราะห์ความขัดแย้งแดง-เหลืองเป็นเรื่องภายในของพวกเผด็จการ ยกพระราชดำรัสหากไม่สามัคคีกันอาจถึงคราวกลียุค
วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำสมุดปกขาว หัวข้อ “ความจงรักภักดี การสร้างความสามัคคีแห่งชาติ ทหารกับการเมือง” ซึ่งได้มีการนำมาแจกจ่ายที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล โดยมีความหนา 40 หน้า ซึ่งเนื้อหาในสมุดปกขาวในหัวข้อ ความจงรักภักดี ได้มีการอัญเชิญพระราชหัตถเลขาที่ทรงสละราชสมบัติของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 มาตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครอง ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้ ข้าพเจ้า มีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิม ให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้ายินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์... ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชน และประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คงได้ความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คงได้แต่งสัตยอธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบเจริญ และขอประชาชนสยามจงได้มีความสุขสบาย...”
ดังนั้น ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของชาติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยการสร้างประชาธิปไตยนั้น จึงมีบทบาทยิ่ง ทั้งในอดีตที่ผ่านมา และปัจจุบัน รวมทั้งอนาคต ดังเช่น กองทัพได้รับสั่งเกล้าฯ ในพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย ของ ร.7 มาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์สงครามการเมืองกับคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นนโยบาย 66/23 คือ เอาประชาธิปไตยเข้าต่อสู้เอาชนะเผด็จคอมมิวนิสตฺ และเผด็จการรัฐสภาที่เป็นแนวร่วม สามารถยุติสงครามปฏิวัติลงได้ และนำคนไทยเข้าร่วมกับ พคท.กลับมาเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ด้วยประชาธิปไตยระดับสูง คือขยายเสรีภาพของบุคคล ขยายอธิปไตยของปวงชน เพื่อบรรลุการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งการดำรงของชาติและความเจริญของชาติในทุกด้านขึ้นอยู่กับพระบรมราโชบาย สถาปนาปกครองแบบประชาธิปไตย ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้รับการปฏิบัติให้ปรากฎจริงเมื่อใด ดังเช่น ข้อเสนอการสร้างประชาธิปไตยโดยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลเฉพาะกาล ในสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นเอง
ขณะที่ในหัวข้อการสร้างความสามัคคีแห่งชาติ พล.อ.ชวลิต เขียนไว้ในสมุดปกขาวว่า ณ ปัจจุบันนี้ ชาติบ้านเมืองของเรามีปัญหาเรื่องความสามัคคีที่ยังแก้ไม่ตก และยิ่งนับวันจะรุนแรงขึ้นตามลำดับมีสภาพ “กลียุค” ตามพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาติล่มจมเพราะไม่สามัคคี ดังนั้นจึงต้องรีบรับใส่เกล้าฯ สร้างความสามัคคีเพื่อให้ออกจากกลียุค รอดพ้นจากความล่มจมของชาติ อันเป็นภารกิจแห่งชาติที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุด
ดังนั้น ความแตกสามัคคี คือ เงื่อนไขของความพ่ายแพ้ แต่ความสามัคคี คือ เงื่อนไขของชัยชนะ แม้นเรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ขาดความสามัคคีก็ไม่มีทางได้รับชัยชนะ
“การรัฐประหารของ รสช.และ คมช.มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตยแต่กลับใช้อำนาจที่ยึดมาได้นั่นไปสร้างรัฐธรรมนูญ ไม่สร้างประชาธิปไตย จึงประสพความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา เพราะเจตนารมย์ขัดกับนโยบาย กล่าวคือมีเจตนารมย์ประชาธิปไตยแต่มีนโยบายสร้างรัฐธรรมนูญ”
ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้น ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน แต่เป็นความขัดแย้งภายในของพวกเผด็จการ คือ ลัทธิรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญปี 40 และฝ่ายหนึ่งเอารัฐธรรมนูญ ปี 50 พี่น้องเสื้อเหลือง เสื้อแดง เป็นประชาชนตัวจริง ทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่เข้าใจผิดว่า ลัทธิรัฐธรรมนูญ คือ ลัทธิประชาธิปไตย จึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหว โดยเสื้อเหลืองต่อสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยสร้างด้วยรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกัน ซึ่งจบลงในข้อสรุปเดียวกัน คือ ได้ประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ ไม่ได้ประชาธิปไตยในแผ่นดิน ส่วนการปกครองจริงของประเทศ คือ ระบอบเผด็จการรัฐสภา
ส่วนในหัวข้อทหารกับการเมือง พล.อ.ชวลิต ระบุในปกขาวว่า ยุทธศาสตร์ทหารย่อมขึ้นต่อยุทธศาสตร์การเมือง ซึ่งยุทธศาสตร์การเมืองของชาติ คือ เอกราชและประชาธิปไตย
“เพราะกองทัพเป็นของชาติหรือของประชาชน มิใช่เป็นของบุคลลใดหรือของคณะบุคคล เหมาเจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งกองทัพแดง ได้กำหนดไว้ถูกต้องว่า อำนาจรัฐเกิดจากปลายกระบอกปืน และถ้ามีการเมืองถูก มีทหารคนเดียว เหมือนมีทหารเป็นกองทัพ แต่ถ้ามีการเมืองผิด แม้มีทหารทั้งกองทัพ ก็เหมือนไม่มีทหารสักคน กองทัพไทย ต้องยกระดับเป็นกองทัพแห่งประชาธิปไตย รักษาเอกราชและประชาธิปไตย ไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ”
“ผมเป็นผู้ยกร่างนโยบาย 66/23 และได้ออกคำสั่ง สร.ว่าด้วยนโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2523 ซึ่งเป็นรูปของ นโยบายแห่งชาติ โดยมีกองทัพเป็นกลไกหลักในการปฏิบัติตามที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้น ไม่ใช่นโยบายของกองทัพ แต่เป็นนโยบายแห่งชาติ ที่รัฐบาล กองทัพและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตลอดไปจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ เป็นหลักสองด้าน คือ นโยบายเป็นนโยบายแห่งชาติและด้านกฎหมาย เป็นกฎหมายสูงสุด เมื่อปฏิบัตินโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 1 ยุติสงครามกลางเมืองได้อย่างดงามแล้ว ด้วยการขยายเสรีภาพบุคคลระดับหนึ่ง เช่น งดใช้ พ.ร.บ.การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่เป็นกฎหมายเผด็จการ เน้นการเจรจาอย่างสันติ เพื่อร่วมกันสร้างประชาธิปไตย หรือ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” โดยไม่ฆ่า ไม่ด่า ไม่จับ
เมื่อสงครามการเมืองยุติลงโดยพื้นฐานแล้ว ทางรัฐบาลโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/25 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2525 แต่ยังขาดรูปธรรมสุดท้ายของการสร้างประชาธิปไตยที่แจ่มแจ้งเพียงพอ เช่น รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลเฉพาะกาล และนโนบายสร้างประชาธิปไตย เมื่อประกาศ สร.65/25 แล้ว ก็ปฏิบัติไม่ใคร่จะได้ จึงยังคงปฏิบัตินโยบาย 66/23 ให้สำเร็จไม่ได้จนบัดนี้ และตราบใดที่ยังไม่สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จตราบนั้น นโยบาย 66/23 ก็ยังคงจำเป็นอย่างที่สุดต่อประเทศและประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น”