โฆษกพรรคเพื่อไทยโชว์ความเขลา สงสัยรัฐบาลจับมือพันธมิตรฯ วางแผนแย่งซีนเสื้อแดงจัดชุมนุมบุกปะทะชาวบ้านภูมิซรอล อ้างทวงคืนเขาพระวิหาร แหกปากโวยดำเนินคดีเสียใจรัฐสองมาตรฐาน เหน็บโครงการไทยสามัคคีไทยเข้มแข็ง แค่ผักชีโรยหน้า
วันนี้ (20 ก.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างชาวบ้านภูมิซรอล กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ไปชุมนุมทวงคืนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่า รู้สึกสะเทือนใจกับการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯในการทวงคืนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.บริเวณชายแดนปราสาทเขาพระวิหาร ที่มีการปะทะกันจนชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องมาสร้างเหตุการณ์ในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำไมไม่ทำก่อนหน้านี้ หรือหลังจากนี้ เชื่อว่าเป็นการสร้างเหตุการณ์หนึ่งเพื่อกลบอีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่รู้ว่ามีนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายความมั่นคงอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯกรณีการทำร้ายชาวบ้านที่ปราสาทเขาพระวิหาร รวมถึงเร่งดำเนินคดีการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง รวมทั้งยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ทำงาน 2 มาตรฐาน เพื่อไม่ให้ใครบางคนคิดว่า ตัวเองมีเส้นจะทำอะไรก็ได้ หากนายอภิสิทธิ์ไม่กล้าดำเนินการ ก็ขอให้ลาออกไป ยืนยันว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการแก้ปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร คือ ควรใช้การเจรจา
นายพร้อมพงศ์ยังแถลงถึงโครงการไทยสามัคคี ไทยเข้มแข็งว่า มีการระดมประชาชนมาร้องเพลงชาติ เพื่อสร้างความสามัคคี แต่ในช่วงค่ำกลับมีกองกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้ามาประจำการ ตามประกาศ พ.ร.บ.รักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร ตนเห็นว่าโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นโครงการผักชีโรยหน้า ลักษณะเหมือนไฟไหม้ฟาง จัดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมือง การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น เป็นการใช้กฎหมายอย่างฟุ่มเฟือย เพราะการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่มีความวุ่นวายใดๆ พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ใช้เวลาที่เสียไป มาคิดแก้ปัญหาอย่างบูรณาการดีกว่า เพราะ 9 เดือนของการบริหารประเทศนั้น เป็นการทำงานแบบแบ่งสี แบ่งข้าง ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีควรแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาบ้านเมือง เดินหน้าบริหารงานเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม โดยเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดยไม่มีเงื่อนไข และที่สำคัญคือ ต้องหยุดแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ ยึดหลักการและหลักคุณธรรม นอกจากนี้รัฐบาลควรนำเวลาที่เหลือในช่วงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด และปัญหาสังคมให้มากขึ้นด้วย