xs
xsm
sm
md
lg

ติ๊กผิด - ตั๋วหาย เรื่องของช้างตายทั้งตัวที่ ใบบัวปิดไม่มิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าสงสาร "น้องเอม" นางสาวพิณทองทา ชินวัตร ที่ต้องหลั่งน้ำตา หน้าบัลลังก์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงแหน่งทางการเมือง ขณะขึ้นเบิกความ เพื่อช่วยแม่และพี่ชาย ยื้อแย่งเงิน 76,000 ล้านบาท ของครอบครัวกลับคืนมา

ไม่ได้สงสารที่เธอถูกกดดันจาการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เธอ และครอบครัว แต่สงสารที่เธอมีพ่อแม่ ที่ประมาท เลินเล่อ ทำอะไร ไม่รอบคอบ ผิดพลาด เผอเรอ บกพร่องโดยสุจริตเป็นประจำ

เงินทองก็มีมากมาย บริวารก็ออกเยอะแยะ ทำไมปล่อยให้ความผิดพลาด เล็กๆน้อยๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นหลักฐานมัดตัว ดิ้นไม่หลุด

ถ้าไม่ลืมแจ้ง ป.ป.ช. ว่า โอนหุ้นให้คนใช้กับคนขับรถไปแล้ว ก็ติ๊กแบบฟอร์มการซื้อขายหุ้น ที่ต้องส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯผิดช่อง หรือไม่ก็พิมพ์คำนำหน้าชื่อ ในตั๋วแลกเงินผิด ยังเป็นแค่ "นาง" ก็ไปพิมพ์ว่าเป็น "คุณหญิง" ตั๋วแลกเงินตั้ง 100 กว่าล้านบาท ก็ยังทำหาย ถุงใส่เงิน 2 ล้าน คิดว่าเป็นถุงขนม หยิบผิดไปให้เจ้าหน้าที่ศาล จนติดคุกหัวโตไปคนละ 6 เดือน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ในฐานะผู้คัดค้านที่ 1 ไปให้การแก่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่อัยการสูงสุด ร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 76,000 ล้านบาท ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท. ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ โดยขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

ตอนหนึ่งของคำให้การ คุณหญิงพจมานระบุว่า ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท ให้แก่ นายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม ซึ่งเป็นผู้ร่วม บุกเบิกทำธุรกิจมาด้วยกันซึ่งนายบรรณ-พจน์ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับให้ไว้เป็นประกัน โดยเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่ปี 2546 และชำระครบถ้วนเมื่อประมาณปี 2547 ซึ่งตั๋วสัญญาดังกล่าวพยานได้ส่งให้พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นแสดงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบด้วย พร้อมยืนยันว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีการซื้อขายและชำระเงินจริง ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวหาว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นายบรรณพจน์ออกให้พยานนั้นทำขึ้นมาที่หลังจากเกิดคดีนี้แล้วไม่เป็นความจริง ซึ่งนายบรรณพจน์ออกตั๋วสัญญาให้ตั้งแต่มีการซื้อขาย แต่ตั๋วใบเดิมได้หายไปจึงออกตั๋วสัญญาฉบับใหม่ให้ พยานไม่ได้เป็นการอำพรางการซื้อขายแต่อย่างใด

ที่คุณหญิงพจมานอ้างว่า ตั๋วหายจึงออกตั๋วใหม่ให้ ก็เพราะว่า ตั๋วใบหนึ่งในจำนวน 3 ใบ ที่นายบรรณพจน์ออกให้เป็นค่าหุ้นนั้น มีมูลค่า 102,135,225 บาท ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 โดยลงชื่อผู้รับคือ คุณหญิง พจมาน ชินวัตร

คตส. จับพิรุธได้ว่า ในวันที่ 16 มีนาคม 2542 คุณหญิงพจมาน ยังไม่ได้เป็นคุณหญิง เป็นแค่นางพจมาน เพราะนางพจมาน เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า เมื่อวันฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2542

แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 16 มีนาคม 2542 ที่มีการจองชื่อหุ้นเพิ่มทุนในนามนายบรรรพจน์ ไม่ได้มีการทำตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำขึ้นมาภายหลัง เมื่อนางพจมาน ใช้คำนำหน้าว่า "คุณหญิง" แล้ว

ทำไม คตส. ไม่คิดว่า ลูกน้องนายบรรณพจน์ พิมพ์ผิดละ หรือคิดว่า นายบรรณพจน์ คาดการณ์ล่วงหน้าได้ถูกต้องว่า อีก 50 วัน นางพจมานจะได้เป็นคุณหญิง

คตส. เป็นเสียอย่างนี้ ไม่รู้จักมองโลกในแง่บวกเสียบ้าง จะไม่ให้น้องเอมรู้สึกว่า ครอบครัวของเธอไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร

ข้อพิรุธที่ คตส.จับได้นี้ น่าจะอยู่ในสำนวนที่ อัยการยื่นฟ้องต่อศาล จึงทำให้ คุณหญิงพจมาน ต้องแก้ว่า "แต่ตั๋วใบเดิมได้หายไป จึงออกตั๋วสัญญาฉบับใหม่ให้พยาน ไม่ได้เป็นการอำพรางการซื้อขายแต่อย่างใด" เพื่อหักล้างข้อสังเกตของ คตส.ว่า ทำเอกสารย้อนหลัง

ถ้าตั๋วหายจริง แล้วมีการทำทดแทน ขึ้นมาใหม่ ทำไมคุณหญิงพจมานไม่แจ้ง คตส. ตั้งแต่ต้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้ จริงเท็จ เป็นอย่างไร พิสูจน์ไม่ยาก ตั๋วจำนำใบละ 500 บาท หาย ยังต้องมีการแจ้งความเป็นหลักฐาน ตั๋วแลกเงินใบละ 102 ล้านบาทหาย จะไม่มีการแจ้งความเชียวหรือ หรือดูวันที่ในตั๋วก็รู้แล้วว่า ใครโกหก

เรื่องตั๋วแลกเงินหายนี้ ก็อีหรอบเดียวกับเรื่อง "ติ๊กผิด" นั่นแหละ คือ เป็นเรื่องของการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ทำนิติกรรมอำพรางของ นช.ทักษิณ แล้วถูกจับได้ เพราะว่าเอกสาร หลักฐานที่ทำขึ้น เพื่อยืนยันความถุกต้องนั้น ไม่ใช่ของจริง จึงมีพิรุธให้จับได้

คนโกง พูดโกหก จะหลบเลี่ยงอย่างปิดบังอย่างไร สุดท้ายก็ต้องถูกจับได้

นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ระบุว่า วันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัท แอมเพิล ริช ได้ขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้น ให้แก่นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา และในวันเดียวกัน ทั้งนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาแจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า ได้ซื้อหุ้นจากแอมเพิล ริช เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 รายละ 164.6 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท และระบุว่าได้ทำรายการผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัท หลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด 329.2 ล้านหุ้น

แต่การตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหุ้นในวันที่ 20 มกราคม 2549 ไม่มีรายการ บิ๊กลอต หรือรายการดังกล่าวแต่อย่างใด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า "ติ๊ก" เครื่องหมายผิด

จำได้ว่า เรื่อง ติ๊กผิดนี้ ไม่ได้มีแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นอีก 2-3 ครั้ง

กระทั่งเรื่องที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา กรณีที่ทีมทนายของ นช.ทักษิณ ในคดีที่ดินรัชดาฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกา ด้วยเงิน 2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 วันเดียวกับที่ นช.ทักษิณ ก้มลงจูบทางเดินหน้าอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรรภูมิ ก่อนไปมอบตัวต่อศาลฎีกาฯ ก็ยังกุเรื่องหน้าตาเฉยว่า จะหยิบถุงขนมไปฝาก แต่หยิบผิด เป็นถุงใส่เงิน 2 ล้านบาทไป

หรือว่า ที่น้องเอมร้องไห้เมื่อวานนี้ เพราะอ่านคำให้การของแม่เมื่อวันก่อนแล้ว รู้ว่า เสร็จแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น