xs
xsm
sm
md
lg

“พัชรวาท”เก้าอี้หลุดแล้ว หน้าด้านอยู่ต่อก็ไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
"เรื่องมันฟ้อง" โดย กรงเล็บ

หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด

ด้วยการฟันคดีอาญากับสองนักการเมืองคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งมีมติว่า 2 นายพลแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ประพฤติชั่วร้ายแรงและมีความผิดทางอาญามาตรา 157ด้วย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

คำถามที่ตามมาคือ ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อได้หรือไม่?

หากดูตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 55 ระบุไว้ชัดว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องตามมาตรา 43(1) หรือ (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว

ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แล้วแต่กรณี

อ่านมาตรานี้จบคงมีคำตอบแล้วว่า

ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เป็นไปโดยอัตโนมัติ

เนื่องจากทั้งสองคนถูก ป.ป.ช.ส่งฟ้องไปยังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นความผิดร่วมระหว่างข้าราชการประจำกับนักการเมือง จึงใช้กฎหมายฉบับเดียวกันในการบังคับใช้

หลายคนอาจมีคำถามว่า บุคคลทั้งสองเป็นข้าราชการประจำ เหตุใดจึงถูกส่งฟ้องไปยัง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วศาลจะประทับรับฟ้องหรือ

เรื่องนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคดีที่ดินรัชดาที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมเป็นจำเลยกับสามี และคดีก็ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน

เพียงแต่กรณีดังกล่าว คุณหญิงพจมานพ้นผิด เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 ไม่ได้มีผลบังคับใช้กับบุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น

ประเด็นที่ทำให้คนธรรมดาหรือข้าราชการต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 275 รองรับ ดังนี้

มาตรา 275 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ ข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา

บทบัญญัติวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย

จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 275 วรรคสอง มีความชัดเจนว่าบุคคลอื่นแม้ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองแต่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไม่ว่าจะเป็น ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุน ฯลฯ ย่อมเข้าข่ายการกระทำความผิดที่ต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษา

ดังนั้นประเด็นจึงย้อนกลับมาที่กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 55 ซึ่งขอย้ำให้เห็นชัด ๆ กันอีกรอบว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใด “มีมูล” และ ข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องตามมาตรา 43(1) หรือ (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว

ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาแล้วแต่กรณี

กฎหมายชัดเจนขนาดนี้แล้วถ้า พล.ต.อ.พัชรวาท ยังตะแบงบอกต้องรอคำสั่งจึงจะยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ ใครที่มีอำนาจก็ควรจัดการให้คน ๆ นี้ ปฏิบัติตามกฎหมายได้แล้ว

หรือว่า กฎหมายมีไว้บังคับใช้กับคนที่ไม่ได้มีพี่ชายเป็น รมว.กลาโหมเท่านั้น?
กำลังโหลดความคิดเห็น