xs
xsm
sm
md
lg

ภาพลบที่ “ป.ป.ช.”ต้องล้าง.... ดึงเรื่อง-ดองสำนวน-กินตามน้ำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
การลงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.วันที่ 7 กันยายน 2552 กับหนึ่งสำนวนใหญ่แห่งปี

7 ตุลาฯ เลือด

ทั้งนี้ มีคำยืนยันจากกรรมการป.ป.ช.หลายต่อหลายคนว่าครั้งนี้ “โรคเลื่อน”ซ้ำซากของป.ป.ช.ไม่เกิดแน่!

การประชุม ป.ป.ช.ในวันดังกล่าวย่อมเป็นที่สนใจของทุกฝ่าย เหตุเพราะชีวิต-อวัยวะ-เลือดเนื้อ ของผู้เรียกร้องความถูกต้องชอบธรรมทั้งหลาย ที่ต้องสูญเสียไปในเหตุการณ์ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งนั้น เกิดจากความอำมหิตโหดเหี้ยมของผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้ลงมือกระทำการอย่างไร้มนุษยธรรมกับคนไทยด้วยกันเอง เมื่อ 7 ตุลาคม 2551

จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏผู้รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น ทั้งในระดับสั่งการ และผู้ปฏิบัติการ จนเวลาผ่านไปเกือบจะสองปีแล้ว

ผู้ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนในคดี 7 ตุลาเลือด ทั้ง 9 คนยังลอยนวล ลอยหน้าลอยตาในสังคม โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับโศกนาฏกรรมความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือด , พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในเวลานั้น รวมถึงนายตำรวจระดับสูงทั้งหมดไล่ตั้งแต่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร.

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. และกลุ่มที่เป็นรอง ผบช.น.ในช่วงนั้น ทั้ง พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา

จาก 7 ตุลาฯ 51 มา 7 กันยายน 52 ถ้าครั้งนี้ ป.ป.ช.ยังเกิดอาการ “ขัดลำกล้อง” ไม่มีคำตอบใดๆ ในการสอบสวนและลงมติเอาผิดกับนายตำรวจระดับสูง นักการเมือง ที่ทั้งสั่งการและบัญชาการให้ตำรวจไล่ทำร้ายประชาชนจน”น้องโบว์” น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ต้องเสียชีวิต

ก็น่าสงสัยยิ่งนักกับวิธีการทำงานของป.ป.ช.ชุดนี้ ว่าเหตุใดจึงใช้เวลาในการสอบสวนคดีสะเทือนความรู้สึกของประชาชน ช็อกกระบวนการยุติธรรม

เนิ่นนานผิดปกติเช่นนี้ ?

ทั้งที่เรื่อง 7 ตุลาฯ การสอบสวนไม่ได้ใช้ความยุ่งยากใดๆในการหาพยานหลักฐาน พยานบุคคล เนื่องจากภาพเหตุการณ์ต่างๆ ได้ถูกนำมาเผยแพร่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนเกือบทุกแง่มุม

อันปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุแน่นอน

การตั้งประเด็นการสอบสวนเพื่อนำไปสู่การชี้มูลความผิด ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย

อาทิ กรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ก็เพียงแค่สอบสวน ค้นหาข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็นสำคัญคือ

1.พัชรวาทอยู่ในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ ทั้งที่หน้ารัฐสภา หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ตลอดช่วงเช้าจนถึงกลางดึกวันที่ 7 ตุลาคม 51

2.ผู้สั่งการสูงสุดในฝ่ายตำรวจที่สั่งให้ตำรวจทำการสลายการชุมนุมทั้งการยิงแก๊สน้ำตา ปาระเบิดควัน จนนำไปสู่การเสียชีวิต อวัยวะ หยดเลือด คราบน้ำตาของประชาชน คือ พล.ต.อ.พัชรวาทใช่หรือไม่

แค่ 2 ประเด็นง่ายๆ เช่นนี้ ก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่า เหตุใด ป.ป.ช.ถึงใช้เวลาในการสอบสวนเนิ่นนาน จนเกินเหตุ

ชักช้า อืดอาด ยืดยาด จนน่าสงสัย

จึงไม่แปลกที่ทำให้ ทุกวันนี้สังคมภายนอกมองเข้าไปภายในสำนักงานป.ป.ช.แล้วจะเกิดเสียงวิจารณ์ดังอื้ออึงว่า สงสัยจะมีใครบางคนในสำนักงานแห่งนี้ มีพฤติกรรมทั้งเกียร์ว่าง เล่นตุกติก ทำงานไม่เป็น แถมอาจมีการหาประโยชน์จากการสอบสวน เข้าทำนอง

ดึงเรื่อง-ดองสำนวน-กินตามน้ำ


ไม่เชื่อก็ลองไปไล่เช็กดู สำนวนคั่งค้างในป.ป.ช.จะพบว่าหลายเรื่องไม่น่าจะต้องใช้เวลานานมาก เพราะไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน แต่เหตุใดการทำงานถึงอืดเป็นเรือเกลือ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกล่าวหาอดีตคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กระทำความผิดในเรื่องเขาพระวิหาร ด้วยการทำข้อตกลงไทย-กัมพูชา อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190

หรือคดีที่ป.ป.ช.รับโอนสำนวนมาจาก คตส.ก็พบว่ามีการดองเค็มเอาไว้เป็นจำนวนมาก ครั้นโดนสื่อไล่ถามหนักๆเข้า ก็เบี่ยงประเด็นว่า ใกล้สรุปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ส่งผลให้คดีหลายเรื่องในชั้น คตส.ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ไม่ว่าจะเป็นคดีท่อร้อยสายภายในสนามบินสุวรรณภูมิ คดีแอร์พอร์ตลิงค์ คดีเซ็นทรัลแล็บ คดีบ้านเอื้ออาทร ซึ่งทั้งหมด คตส.ได้มีการทำสำนวนการสอบสวนออกมาอย่างดีแล้ว ขาดแค่การเชื่อมโยงพยานหลักฐานบางอย่าง การสรุปสำนวน ซึ่งทำไม่ทันในชั้น คตส. ก็พบว่าจนถึงขณะนี้หลายเรื่องที่ป.ป.ช.รับช่วงมาต่อก็ไม่มีการส่งฟ้องต่ออัยการหรือศาลแต่อย่างใด


แถมยังมีสำนวนร้องเรียนการทุจริตส่วนอื่นๆ ในโครงการต่างๆของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ส่วนใหญ่ทำในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็พบว่ามีคดีคั่งค้างอยู่ 16 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดเป็นคดีใหญ่ๆ ทั้งสิ้น

เช่นการทำสัญญาให้เอกชนเข้าบริหารโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การทุจริตทำสัญญาร้านค้าปลอดภาษีและการใช้พื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิของทอท.กับบริษัทคิงส์ พาวเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด,การทุจริตการทำสัญญาการจัดจ้างผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับไทยแอร์พอร์ตกราวต์ เซอร์วิสเซส จำกัด(TAGS) ที่ทั้งหมดจนถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้เห็น

เสียงติติงเรื่องการทำงานที่ย่อหย่อน ไร้ประสิทธิภาพของป.ป.ช.อาจทำให้กรรมการป.ป.ช.ชุดนี้ที่มีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก เพราะมีจิตสำนึกต้องการเห็นบ้านเมืองไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นและเอาผิดพวกโกงชาติ อีกทั้งมีความกล้าหาญหากเห็นว่าผิดก็ลงดาบทันที อาจเสียกำลังใจไปบ้าง ทั้งที่ได้ทุ่มทำงานเต็มที่

อันผิดกับกรรมการบางคนที่เข้ามาเป็นป.ป.ช.เพื่อหวังเกียรติยศชื่อเสียง และอื่นๆในทางลับเพื่อตนเอง ขาดจิตวิญญาณในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง กรรมการบางคนทำงานแบบขอไปทีและยังขี้กลัว ว่าพอพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะถูกตามล้างแค้น หากไปเอาผิดใครบางคนในสำนวนที่รับผิดชอบต้องถูกปลดออก ไล่ออกจากราชการ เลยไม่กล้าทำอะไร

เก่งแต่ดองเรื่องไปเรื่อยๆ

เพื่อซื้อเวลากินเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งแสนกว่าบาท

เลยทำให้คดีต่างๆ ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในตู้เก็บแฟ้มลับของ ป.ป.ช. จนน่าสงสัยว่ากว่าคดีที่ป.ป.ช.สอบสวนอยู่จะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา สงสัยว่าคนที่ถูก ป.ป.ช.สอบหรือเอาผิด อาจเสียชีวิตด้วยโรคชราเสียก่อน

ทั้งที่หลายเรื่องที่คั่งค้างไม่ได้มีความยุ่งยากในการสอบสวน และหลายเรื่องควรที่ ป.ป.ช.ต้องรีบสอบสวนออกมาเพื่อทำให้สังคมเห็นเป็นตัวอย่างว่า อย่าได้คิดชั่วทำชั่ว หรือคิดว่าจะรอดพ้นการถูกตรวจสอบของ ป.ป.ช.ได้

แต่ ป.ป.ช.กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น ไม่ยอมจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่องว่า

ควรทำอะไรก่อน อะไรทีหลัง เรื่องไหนสำคัญ หากปล่อยไว้จะเป็นวิกฤตบ้านเมือง ควรจะต้องรีบสอบสวน แต่ไม่ได้หมายถึงให้เร่งรีบจนไม่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกสอบสวน เพียงแต่ต้องดูความสำคัญของแต่ละเรื่อง เพราะหากบางเรื่องมีผลกระทบกับส่วนรวมสูง สังคมต้องการรู้ความจริงและต้องการเอาคนผิดมาลงโทษ ป.ป.ช.ก็ต้องมุ่งน้ำหนักไปทางนั้นก่อน

อย่างเช่นคดี 7 ตุลาฯเลือดที่พบว่า ป.ป.ช.ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามากเกินไป จนทำให้เกิดกระแสข่าวเรื่องการล็อบบี้ทางการเมืองหรือเรื่องการยอมทำให้เรื่องนี้ให้ช้าลง เพื่อให้บางคนอย่างเช่น

พล.ต.อ.พัชรวาทได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร.อย่างสง่างาม ไม่ได้ถูกลงโทษว่ามีความผิดทางวินัยหรืออาญาในช่วงยังเป็น ผบ.ตร. อันมีผลต่อเบี้ยหวัดบำนาญ


ซึ่งผลเสียของการทำงานที่ล่าช้าของป.ป.ช.อาจทำให้เกิดผลกระทบในสำนวนการสอบสวนโดยที่กรรมการอาจคาดไม่ถึงโดยเฉพาะหากเป็นคดีซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการ นักการเมือง ระดับใหญ่

ก็ย่อมเปิดช่องให้มีการล็อบบี้หรือทำให้รูปคดีการสอบสวนอาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะอาจมีการทำลายหลักฐานที่สำคัญหรือจ้างวานให้พยานพลิกคำให้การได้

ยิ่งช้า ความยุติธรรมก็ยิ่งลดลง

จึงควรเป็นข้อคิดที่ ป.ป.ช.ต้องกลับมาทบทวนการทำงานของตัวเองเสียใหม่ ด้วยการปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมือง หากเรื่องไหนป.ป.ช.เห็นว่า สามารถคลี่คลายวิกฤตการเมืองได้ก็ควรต้องรีบทำ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม นิติรัฐ ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้สู้คดีเต็มที่

แต่ไม่ใช่ ร่วมกันถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือคนผิด

เสร็จจากลงมติชี้มูลคดี 7 ตุลาเลือด ก็ยังไม่สายสำหรับ ป.ป.ช.ที่ต้องหันหลังมองย้อนกลับไปกับผลงานในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา ว่าได้ทำงานคุ้มค่ากับเงินภาษีประชาชนและความคาดหวังของสังคมแล้วหรือยัง

เพื่อหยุดเสียงวิจารณ์เรื่องการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช.ที่ถูกมองทำงานแบบ “ดึงเรื่อง-ดองสำนวน-กินตามน้ำ” ให้หายเงียบไปโดยเร็วที่สุด
สมชาย วงศ์สวัสดิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น