ศอ.รส.ยันเตรียมสลายหน่วยหลัง พ.ร.บ.มั่นคงหมดอายุ แต่พร้อมกลับมาทำงานเมื่อประกาศใช้อีกครั้ง ย้ำแม้กระเทือนถึงภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ไม่กระทบวิถีชีวิตประชาชน เตรียมเดินหน้าสรุปผลงานให้ กอ.รมน.ส่งต่อถึงนายกฯ
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) แถลงภายหลังการประชุม ศอ.รส. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รม.เป็นประธาน โดยมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่มีข้อมูลข่าวสารที่จะส่อไปในทิศทางที่จะเกิดเหตุรุนแรง และ ศอ.รส.จะนำเสนอผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาด้วยความเรียบร้อยตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยจะสรุปผลดังกล่าวส่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ กอ.รมน.จะสรุปประเมินสถานการณ์ด้านการข่าวร่วมกับหน่วยข่าวด้านความมั่นคงอีกหลายหน่วยนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกอ.รมน.พิจารณาเป็นห้วงๆ ไป เพื่อให้นายกรัฐมนตรีตกลงใจในครั้งต่อๆ ไป ทั้งนี้ ในที่ประชุมนายสุเทพได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ตั้งใจปฏิบัติงานตามนโยบายของผู้ บังคับบัญชาด้วย
“พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ ศอ.รส.จะสิ้นสุดภารกิจในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.) ตามมติคณะรัฐมนตรี หากจะประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงอีก จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงอีกครั้ง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มีความพร้อมที่จะทำงาน ส่วนแผนการทำงานต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทั้งนี้ ทันทีที่สิ้นสุดภารกิจกำลังทหารและตำรวจจะต้องถอนออกจากพื้นที่ต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นหลักในการดูแลสถานการณ์ ทหารจะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานในกรณีที่ได้รับการร้องขอ หากต้องปฏิบัติภารกิจในลักษณะเร่งด่วนก็คงใช้กฎหมายปกติไปก่อน” โฆษก ศอ.รส.กล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.อ.สรรเสริญ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ แต่ยอมรับว่าที่ประชุมได้ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ หลายๆ ครั้ง ซึ่งจากข้อมูลของหลายหน่วยงานที่ได้รับมาเห็นว่ามีผลกระทบเชิงภาพลักษณ์ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งยังได้ประเมินการเลื่อนชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในทุกๆ ประเด็น และมีการแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งก็มีหลายคนที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 5 กันยายน รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
“การชุมนุมไมว่าจะเป็นวันที่ 5 และ 19 กันยายนนี้ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามอัธยาศัย และ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานด้านการข่าวด้านความ มั่นคงหลายๆ หน่วยเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นห้วงๆ ไป ผมบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าเรื่องการุชมนุมไม่ใช่ข้อห่วงใยของ ศอ.รส. แต่ที่เราห่วงคือ กรณีของผู้ที่ไม่หวังดีจะเข้ามาแสวงประโยชน์ก่อเหตุวุ่นวายจากเหตุชุมนุม ซึ่งมีข้อมูลข่าสารมาจากหน่วยด้านความมั่นคงหลายหน่วย” โฆษก ศอ.รส.กล่าว