อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
แม้ทั้ง “พันธมิตรฯ” และ “นปช.”จะไม่ต้องการ กม.นิรโทษกรรมฉบับ “พรรคภูมิใจไทย(ภท.)” แต่ไม่เกินสัปดาห์หน้า สภาคงได้ฤกษ์พิจารณาร่าง กม.ฉบับนี้หลังปู่ชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ บิดาของหัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน เร่งบรรจุเข้าวาระประชุม ขณะที่หัวหน้าพรรคอย่าง “ชวรัตน์” ก็ช่างคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า คนที่ค้าน กม.ฉบับนี้ เพราะกลัว ภท.จะได้เครดิตอยู่คนเดียว ทั้งที่หลายฝ่ายในสังคมค้านกันระงม เหตุเพราะการนิรโทษกรรมแบบนี้ หาใช่วิธีสร้างความสงบสุข-สมานฉันท์ดังปากว่า แต่ส่อเจตนาต้องการล้างความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐอย่าง “พล.ต.อ.พัชรวาท” กับพวก ที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่า “ผิดวินัยร้ายแรง-อาญา” กรณีใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเข่นฆ่า ปชช.เมื่อ 7 ต.ค.มากกว่า
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
อยู่ๆ พรรคภูมิใจไทย ที่มีแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินอย่างนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรค ก็ผุดไอเดียให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 26 พ.ค.-3 ธ.ค.2551 และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-14 เม.ย.2552 รวมทั้งนิรโทษกรรมให้เจ้าพนักงาน และผู้ช่วยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้ง 2 ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะทำการในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ ผู้ออกคำสั่ง หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัยอย่างสิ้นเชิง นั่นหมายความว่า กรณีที่ตำรวจใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 400 ราย ซึ่ง ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.กับพวกว่ากระทำผิดทั้งวินัยร้ายแรงและอาญา ก็จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
ทั้งนี้ แกนนำพรรคภูมิใจไทยได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีอยู่ 9 มาตรา ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 ส.ค.เพื่อบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาฯ โดยให้เหตุผลที่ต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ว่า “เพื่อความรักความสามัคคี ให้อภัยซึ่งกันและกัน และต้องการเห็นความสงบสุขของประเทศ” พร้อมยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยไม่มีนัยอะไรแอบแฝงจากการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้
ขณะที่ปฏิกิริยาจากทั้งฝ่ายพันธมิตรฯ และ นปช.ต่างไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย รีบออกมาบอกว่า “กลุ่มเสื้อแดงไม่เอาด้วย ไม่รู้ว่าพรรคภูมิใจไทยมีวาระอะไรเป็นพิเศษหรือหวังอะไรกันแน่ ยืนยันว่าคดีของคนเสื้อแดงจะเอามาแลกกับคดีของคนเสื้อเหลืองไม่ได้ เพราะความผิดมันแตกต่างกัน กลุ่มคนเสื้อเหลืองมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตจากการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ขณะที่คนเสื้อแดงมีโทษเล็กน้อยจากการปิดถนนเท่านั้น”
ด้านแกนนำพันธมิตรฯ ก็ประชุม (25 ส.ค.) และมีมติคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน โดยชี้ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว นอกจากจะไม่สร้างความสมานฉันท์ และทำลายหลักกฎหมายแล้ว ยังน่าจะมีวาระซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.มากกว่า
“1.กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นในการที่จะช่วยเหลือผู้มีอำนาจบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ตุลา และเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 7 ต.ค.ดังนั้น เราจะมีคำตอบไปถึงญาติของพี่น้องที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นเครื่องมือที่ไต่ไปสู่การนิโทษกรรมให้กับสมาชิกบ้าน 111 ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งรวมถึงนายเนวิน ชิดชอบ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาจใช้เป็นฐานในการออกร่างกฎหมายปรองดองออกมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็เคยพูดเรื่องนี้แต่ถูกคัดค้าน ภายหลังจึงแปรรูปเป็นกฎหมายปรองดอง 2.เราเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถจะเป็นเครื่องมือของความสมานฉันท์ได้ จุดยืนพันธมิตรฯ ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการสร้างสมานฉันท์ เราเห็นความจำเป็นในการสร้างสมานฉันท์ แต่หลักคือ คนผิดต้องถูกลงโทษ ซึ่งเราห่วงว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำลายความเชื่อถือของกฎหมายของประเทศ และเป็นบรรทัดฐานไม่ดีให้พวกป่วนเมือง มุ่งหมายทำไม่ดีแล้วจะออกกฎหมายยกโทษความผิดให้ตัวเอง นอกจากไม่สมานฉันท์แล้วยังจะทำให้เรื่องราวยืดเยื้อ”
พร้อมกันนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำรัฐบาลแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว และว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา พันธมิตรฯ จะจับตาอย่างใกล้ชิดและประเมินว่า จำเป็นต้องเคลื่อนไหวหรือไม่
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช.รวมทั้งตำรวจที่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเมื่อ 7 ต.ค.ว่า “ต้องฟังเหตุผลก่อนว่าครอบคลุมไปถึงใคร และเหตุใดจึงต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ ...กฎหมายนิรโทษกรรมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถทำได้ และต้องผ่านกระบวนการตรากฎหมายตามปกติ แต่โดยหลักต้องคำนึงว่า มีเหตุผลพิเศษ เพราะถ้าทำบ่อย หรือทำพร่ำเพรื่อ จะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนมองว่า ต่อไปอาจจะละเมิดกฎหมายได้ เพราะหวังว่าจะมีการนิรโทษกรรมอีก เพราะฉะนั้นในแต่ละครั้งที่จะทำ ต้องมีเหตุผลพิเศษจริงๆ”
ขณะที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดถึงกรณีกรณีที่พันธมิตรฯ คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคว่า ต้องให้สภาเป็นผู้ชี้ขาด ถ้าไม่ผ่านก็เก็บเข้าตู้ นายชวรัตน์ ยังอ้างแบบเข้าข้างตัวเองด้วยว่า “คิดว่าอาจมีบางคนกลัวว่าพรรคภูมิใจไทยเสนอเรื่องนี้แล้วจะได้เครดิตคนเดียว จึงออกมาคัดค้าน” ไม่เท่านั้น นายชวรัตน์ยังส่งสัญญาณพร้อมจับมือกับพรรคเพื่อไทยในการเสนอร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติเข้าสภา “สำหรับพรรคเพื่อไทยที่เคยเสนอร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติไว้นั้น ตนยินดีจับมือพรรคเพื่อไทยหากผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าสภา เพราะถือว่ามีเจตนาที่ดี ถ้าเป็นเรื่องที่ดีก็ควรจับมือกัน”
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติของพรรคเพื่อไทยที่พยายามเสนอก่อนหน้านี้ แต่ถูกกระแสสังคมคัดค้านจำนวนมากนั้น มีสาระสำคัญ นอกจากจะนิรโทษกรรมให้กลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช.แล้ว ยังนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นและถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรคด้วย
ก่อนที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทยจะถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ลองมาวัดกระแสสังคมว่าเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่?
พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ร่วมกับ 4 องค์กรในสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้านการล่าชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม และอาจเป็นการตั้งต้นของการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ของประชาชน พูดถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช.รวมทั้งตำรวจที่สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยไม่เชื่อว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้บ้านเมืองสงบหรือเกิดความสมานฉันท์ได้ แต่น่าจะเป็นบ่อเกิดให้เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น และว่า บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อยได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายมากกว่า
“จะให้สังคมเรียบร้อยนี่มันต้อง Rule by Law น่ะ และนโยบายของรัฐบาล เขาบอกว่าจะต้องใช้กฎหมายที่จะทำบ้านเมืองให้เรียบร้อย ทีนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถ้าว่าไปโดยสุจริตมันก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาอีกมาก แต่ที่คนสงสัยกันก็คือ มันจะมีเบื้องหลังของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อเสนอเข้าไปแล้ว เกรงว่าจะเกิดความยุ่งยากขึ้นไปอีก จะทำให้การเมืองยุ่งยาก ควรจะให้บรรยากาศของสังคมดีกว่านี้ ผมคิดว่าอย่างนั้น ผู้เสนออาจจะหวังดีว่าจะแก้ปัญหาได้ แต่หลายคนเท่าที่ผมฟังเสียงดู คิดว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ อาจจะเป็นบ่อเกิดให้เหตุการณ์ที่มันจะรุนแรงหรือเอาอย่างมากขึ้น ผมคิดว่าการที่จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อก่อให้เกิดความสงบ สมานฉันท์ ผมเข้าใจว่ามันเป็นไปไม่ได้ จุดมุ่งหมายดี แต่เป็นไปไม่ได้ เข้าใจว่าความสามัคคีของคนในชาติเนี่ย มันจะเกิดขึ้นจากสังคม ผมยังเชื่อว่าสังคม มีคนเสนอว่าจะต้องมีคนกลางไปเจรจาหรืออะไร มันเป็นไปไม่ได้ ผมว่าอยู่ที่สังคมไทยเรา คือสังคมส่วนรวม พวกเราที่เป็นคนกลางๆ เนี่ย จะต้องออกมายืนในทิศทางที่ถูกต้อง คือจะไม่มีอคติใดใดทั้งสิ้น ผมเองก็พยายามที่จะเชิญชวนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เพราะเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าบ้านเมืองเรากำลังล่มจม เพราะฉะนั้นพวกเราก็จะต้องออกมาช่วยกัน ใครล่ะพวกเรา ไม่ใช่นักการเมือง คือประชาชนส่วนใหญ่ ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นน้ำหนักที่จะตัดสินแพ้ชนะหรือคะคานอะไรกันเนี่ย หรือจะนำบ้านเมืองไปทางไหน แต่พวกเราก็ยังไม่ออกมาพอเพียง ผมก็พยายามชักชวนอยู่เท่าที่ทำได้”
“(ถาม-ทางพรรคเพื่อไทยก็ระแวงว่า ภท.มีเบื้องหลังอะไรหรือเปล่าที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ เพื่อไทยก็เลยอยากเสนอกฎหมายปรองดองของเขามากว่า ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงนักการเมืองด้วยจากคดียุบพรรค?) ก็จะไปกันใหญ่ นี่ก็เห็นชัดๆ แล้ว พอรับเรื่องนี้ เรื่องอื่นก็จะมากันใหญ่ เวลาก็มีน้อย เรื่องอื่นๆ ที่เราจะแก้ไขก็ยังมีอีกมาก ผมคิดว่าเจตนาดีด้วยกันทุกๆ ฝ่าย ควรจะเก็บไว้ชั่วระยะหนึ่งก่อน ผมว่าอย่างนั้น ช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมืองเสียก่อน (ถาม-ท่านสายหยุดเกรงว่าจะเกิดเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุมของ นปช.ในวันที่ 30 นี้มั้ย?) วันที่ 30 เนี่ย คราวนี้ก็จะเป็นการทดสอบเรื่องการใช้กฎหมายปกครองเนี่ย Rule by Law ก็มีกฎหมายอยู่นี่ กฎหมายรักษาความมั่นคงก็มีอยู่ (ถาม-ตรงนี้เห็นด้วยใช่มั้ยที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง?) ถ้ามันจะช่วยให้เกิดความสงบได้ ก็ต้องใช้ ต้อง Rule by Law น่ะ ทหาร ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ บ้านเมืองมันจะอยู่ได้ยังไง ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ ก็มันมีขั้นตอนอยู่ตามกฎหมายทำได้ ก็น่าจะทำได้”
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และประธานที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า รับไม่ได้กับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทย เพราะนอกจากจะทำลายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังขัด รธน.ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 6 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ที่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข่นฆ่าประชาชน
“ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะในมาตรา 6 ที่จะนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เราดูว่ามันขัด รธน.ด้วย คือ รธน.ให้สิทธิคุ้มครองกับชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคล การที่ไปนิรโทษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปทำให้ประชาชนเสียชีวิต ไปทำให้ประชาชนพิการ ไปทำให้ประชาชนบาดเจ็บ และไปนิรโทษไม่ให้มีความผิด ไม่ต้องรับผิดในคดีแพ่ง อาญา และทางวินัยด้วย เป็นการไปตัดสิทธิของผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่พิการ และผู้ที่บาดเจ็บ รวมทั้งทรัพย์สินที่เสียหายด้วยในการกระทำของเจ้าหน้าที่ เราเห็นว่าการที่ไปออกกฎหมายลักษณะดังกล่าวนั้น ใช้ไม่ได้ ขัด รธน.ด้วย และเป็นการที่รัฐไปออกกฎหมายเพื่อที่จะมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง เป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียไปหมด ก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
“(ถาม-คุณไพบูลย์ มองว่า เจตนาของ ภท.ที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ เจตนาน่าจะต้องการให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง ให้อภัยกันจริงๆ หรือน่าจะต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นผิดมากกว่า?) ประการหลังมากกว่า ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นผิด เพราะถ้าเจตนาต้องการให้ปรองดองสมานฉันท์เพราะประชาชนผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย ก็หารือกันและร่วมมือกัน และสร้างความเห็นชอบในกลุ่มผู้ชุมนุมเสียก่อน ก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายมา แต่การเสนอร่างกฎหมายมา และไปมีมาตรา 6 ไว้เนี่ย ผมมองว่ามาตรา 6 คือ วัตถุประสงค์ของเขา แต่เอามาตรา 4-5 มา เพื่อที่จะให้ พยายามสร้างความชอบธรรมขึ้น โดยอ้างว่าเมื่อนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมแล้ว ก็ต้องนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดด้วย แต่เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องรับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้กระทำผิดธรรมดา เป็นการทำให้เสียชีวิต เป็นการทำให้พิการอย่างทารุณ และเรื่องดังกล่าวก็เขียนไว้ในกฎหมายมาตรา 6 ด้วยว่า ถ้าเจ้าหน้าที่มีการกระทำผิด ก็ให้พ้นผิด โอ้โห! รับไม่ได้น่ะ เพราะเรื่องนี้อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า เป็นเรื่องของสิทธิของชีวิตและร่างกายและทรัพย์สินของบุคคล ไปล่วงละเมิดเขาแล้ว และรัฐไปออกกฎหมายมาเพื่อที่จะมาตัดสิทธิของเขาออกไป โดยไม่สามารถจะไปฟ้องร้องได้ ไม่สามารถจะเรียกให้รับผิดตามกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ดังนั้น พรรค ภท.ที่เสนอก็คือต้องการมุ่งในมาตรา 6 นี้มาตราเดียว แต่จะเสนออย่างเดียวไม่ได้ รวมทั้งระแวงด้วยว่า จะพยายามเชื่อมต่อไปยังกฎหมายปรองดองแห่งชาติของพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะนิรโทษกรรมในกรณีของพรรค ภท.หลายคนที่ต้องคดีอาญาด้วย”
เมื่อถามว่า เกรงจะเกิดเหตุรุนแรงในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงวันที่ 30 ส.ค.หรือไม่ และเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงในเขตดุสิตระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย.เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง นายไพบูลย์ บอกว่า เชื่อว่ากลุ่มเสื้อแดงคิดจะก่อเหตุรุนแรง แต่คงทำไม่ได้ เพราะไม่มีเงื่อนไขเพียงพอ และเห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในเขตพื้นที่ดุสิต เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นกฎหมายป้องกันที่ดีในกรณีที่คิดว่าจะเกิดเหตุไม่สงบ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและไม่กระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของประเทศเหมือนกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งในสหรัฐฯ ก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทั้งประเทศ นายไพบูลย์ ยังเสนอด้วยว่า จริงๆ แล้ว บริเวณรัฐสภา รัฐบาลน่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงตลอดไปเลย เพราะเป็นพื้นที่สำคัญ เหมือนที่ต่างประเทศก็ทำกัน เช่น มาเลเซีย เป็นต้น!!