“สาทิตย์” ชักติดใจลูกเด็ดขาด ขู่ใช้ พ.ร.บ.คอมพ์เอาผิดคนส่งต่ออีเมล สกัดคลิปเสียงนายกฯ ขยายวง เหน็บเสื้อแดงบอกไม่แปลกชิงออกตัวปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องคลิปเสียง พร้อมเรียกสื่อทีวีซักซ้อมรายงานสถานการณ์ชุมนุมเสื้อแดง 30 ส.ค. อ้างหวั่นเกิดอันตราย พร้อมกำชับสื่อดับเบิลก่อนเสนอข่าว หวั่นถูกลวงตกเป็นเครื่องมือนำไปสู่สถานการณ์รุนแรง
วันนี้ (27 ส.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเทปบันทึกเสียงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้กำลังมอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบอยู่ เพราะต้องดูอย่างเป็นทางการแล้ว และต้องใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์เสียง ส่วนการใช้ทีมงานของรัฐเข้าไปตรวจสอบจะเชื่อถือได้มากแค่ไหนอยู่ที่ว่าเราใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์เสียงที่เชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าเชื่อถือได้ มันก็เชื่อถือได้ และเข้าใจว่าเครื่องวิเคราะห์เสียงมีของบริษัทเอกชนอยู่ด้วย และถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์พันทิปมีคนทำวิเคราะห์เสียงแล้ว ส่วนที่เสื้อแดงออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะคิดอยู่แล้วว่าจะต้องปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะถ้าวิเคราะห์เสียงได้ก็สามารถตามที่มาที่ไปของมันได้ ต้องจัดการโดยเร็ว เพราะไม่อย่างนั้นจะมีการนำไปขยายผลแน่นอน อาจจะในสภาด้วยซ้ำ และมีการขยายผลข้างนอกด้วย โดยเนื้อหามันชัดมากว่าเป็นการผูกโยงที่จะสร้างเงื่อนไขให้เห็นว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11-12 เม.ย.เป็นความโกรธแค้นส่วนตัว เป็นการสั่งการให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งมันข้ดแย้งโดยสิ้นเชิงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หลังวันที่ 12 เม.ย.
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าคนที่ไม่รู้กฎหมายอาจนำคลิปนี้ไปเผยแพร่ต่อ นายสาทิตย์กล่าวว่า อันนี้อันตราย ใน พ.ร.บ.การกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ... ในกรณีที่มีการดัดแปลงทางคอมพิวเตอร์ กรณีเสียง ถ้ามีการบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์ จะเป็นข้อมูลบุคคล และเมื่อมีการนำไปดัดแปลงแล้วทำให้เขาเกิดความเสียงหายและมีการเผยแพร่ออกไปไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ในรูปแบบใดก็ตาม เช่น ถ้ามีการส่งอีเมลไปแล้วมีการส่งต่อ คนที่ส่งต่อจะมีความผิด เพราะมีการดำเนินการในสิ่งที่ผิดแล้วมีการขยายต่อ แต่คนที่ได้รับอีเมลแล้วเปิด โดยที่ตัวเองไม่ได้ส่งต่อ คนนั้นไม่ผิด แต่คนที่ส่งต่อให้เพื่อนผิด อันนี้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องของการฟ้องร้องหมิ่นประมาท และความผิดทางอาญา อยู่ที่นายกรัฐมนตรี
นายสาทิตย์กล่าวภายหลังการเชิญตัวแทนสถานีวิทยุและโทรทัศน์มาประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ชุมชนของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ว่า เป็นการหารือร่วมกับกลุ่มสื่อที่จะต้องทำข่าวติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 30 ส.ค.นี้ โดยเห็นได้จากประสบการณ์จากช่วงการชุมนุมที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาของสื่อในการเข้าไปทำข่าวยังพื้นที่ หรือเรื่องของรถโอบี ซึ่งทางรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากและเกิดอันตรายได้ การประชุมครั้งนี้จึงมีการหารือถึงสถานการณ์ชุมนุมโดยรอบทำเนียบรัฐบาล ในกรณีที่สถานีโทรทัศน์จะนำรถโอบีมาถ่ายทอดจะจอดบริเวณใดได้บ้าง รวมถึงตัวเจ้าหน้าที่และทีมนักข่าวที่จะทำข่าวโดยบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลทั้งหมดว่า แต่ละสถานีจะส่งเจ้าหน้าที่มาทั้งหมดกี่ชุด และต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ดูแลอย่างไร
นายสาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการนำเสนอข่าวในบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่จะทำให้บางคนอาจจะฉกฉวยสถานการณ์เพื่อสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เช่น บางรายการที่มีการโฟนอินก็เพียงแต่ขอกำชับให้ระมัดระวังเท่านั้นเอง เพราะอาจจะมีคนโทรศัพท์เข้าไปและสร้างสถานการณ์ว่ามีการยิงกัน จึงได้ขอร้องให้สื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ดีก่อน แต่ทั้งนี้สื่อก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่รัฐบาล ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการทำหน้าที่ของสื่อ และ เคารพในการทำหน้าที่ของทุกฝ่าย ดังนั้น การหารือในกันในวันนี้จึงเป็นการช่วยกันเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และคงไม่มีการตรวจการทำข่าวของสื่อ และไม่ก็ไม่เคยตรวจอยู่แล้ว อย่างเมื่อเช้านี้ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก็ยังออกได้ ก็เพียงแต่ระมัดระวังการฉกฉวยโอกาสในการสร้างสถานการณ์เท่านั้นเอง และขอให้ช่วยเผยแพร่การทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ที่รัฐบาลได้ชี้แจงออกไปแล้ว
นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า อยากขอเป็นพิเศษในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค.นี้ เวลา 15.00 น.จะมีการแถลงของศูนย์อำนวยการ กอ.รมน.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายหลังการประชุมแล้วจะมีการแถลงข่าวที่ตึกสันติไมตรีหลังใน โดยจะมีการเชิญสื่อทั้งในและต่างประเทศ รับฟังการชี้แจงถึงจุดประสงค์การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และทำไมต้องประกาศเขตดุสิต เป็นพื้นที่ความมั่นคงและแนวปฏิบัติเป็นอย่างไร ขณะที่สื่อเองก็ไม่ได้แสดงความกังวลอะไร มีเพียงการแลกเปลี่ยนการทำหน้าที่เท่านั้นเองว่าต้องระมัดระวังตรงไหนอย่างไร ก็ได้ขอให้ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เฉพาะคนที่จะเข้าออกที่จะเป็นคนที่คอยควบคุมรถโอบี เนื่องจากน่าจะมีการเดินทางเข้าออกในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จะเข้ามาดูแลทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป