มติ 5 ต่อ 4
ของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ที่คว่ำการประชุมเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่
ไม่เอา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.
ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ต.ช.เสนอต่อที่ประชุม ที่ถือเป็นการฉีกหน้า “อภิสิทธิ์”อย่างยับเยิน
ทำให้สภาวะผู้นำทางการเมืองของอภิสิทธิ์ในสายตาและความรู้สึกของประชาชน เริ่มมีปัญหาหนักขึ้น
หลังเห็นว่า ขนาดตำแหน่ง ผบ.ตร.คนเดียว นายกรัฐมนตรียังตั้งคนที่ตัวเองต้องการคือ “บิ๊กทีป” พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ มาทำงานยังไม่ได้ เพราะไม่ได้รับความร่วมมือ ความไว้วางใจจากกรรมการ ก.ต.ช.ไม่กี่คน
แถมกรรมการในซีกเสียงข้างมาก 5 เสียง ที่ฉีกหน้า “อภิสิทธิ์”บางคนก็เป็นข้าราชการประจำ ซึ่งว่ากันตามการเมืองก็คือผู้ใต้บังคับบัญชาอภิสิทธิ์เสียด้วย อย่างเช่น นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
แบบนี้ “อภิสิทธิ์”จะเหลือศักยภาพในการเป็นผู้นำอีกแค่ไหน?
นี่คือ ภารกิจหนักหน่วงยิ่งนักสำหรับอภิสิทธิ์ในตอนนี้กับการเรียกความเชื่อมั่นทางการเมืองให้กลับคืนมา ไม่ใช่การแค่จะมานั่งคิดว่า จะแก้เกม เพิ่มเสียงสนับสนุนใน ก.ต.ช.ให้อยู่กับฝ่ายตัวเองอย่างไร เพราะนั่นกลายเป็นเรื่องรองไปแล้วสำหรับนายกรัฐมนตรีคนนี้
แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นคือ ต้องแก้ปัญหาทางการเมืองในรัฐบาลให้เสร็จสิ้นเสียก่อนเพื่อทำให้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีในสำนักงานตำรวจราบรื่น ไม่ติดขัด จะได้เข้าไปกวาดบ้านทำความสะอาดองค์กรแห่งนี้โดยเร็วที่สุด ตามความต้องการของอภิสิทธิ์ที่หวังจะปฏิรูปวงการสีกากีแบบยกเครื่องเพื่อให้
ตำรวจคือตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจของนักการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้
ภารกิจและความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ทว่าผลพวงจากมติ 5 ต่อ 4 ที่กรรมการ ก.ต.ช.วีโต้ข้อเสนอของ “อภิสิทธิ์”ที่น่าเจ็บใจมากที่สุดสำหรับอภิสิทธิ์ กับ 5 เสียงข้างมาก
คงหนีไม่พ้น คนอยู่ร่วม ครม.-รัฐบาลเดียวกัน แต่กลับรู้หน้าไม่รู้ใจ ไม่ไว้หน้า-ไม่เชื่อใจกัน
นั่นคือ ชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
เป็นชวรัตน์ ที่เป็นร่างทรงนาย เนวิน ชิดชอบ แห่งภูมิใจไทย ที่สั่งให้ชวรัตน์ซ้ายหันขวาหันได้ตลอด 24 ชั่วโมงเหตุเพราะมท.1 คนนี้สมองคิดอะไรไม่เป็นอยู่แล้ว นอกจากเรื่องรับเหมาก่อสร้าง
แม้ “อภิสิทธิ์”จะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ชวรัตน์มีท่าทีไม่หนุน”บิ๊กทีป”ขึ้นเป็นผบ.ทบ. แต่ลึกๆ ก่อนลงมติ “อภิสิทธิ์”ก็อาจหวังว่าชวรัตน์ ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอันดับสอง และอยู่ร่วมประชุมครม.-ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกันมาเกือบ 9 เดือน น่าจะต้องให้เกียรติผู้นำรัฐบาลที่ไปนั่งเป็นประธานในห้องประชุม ก.ต.ช. กันบ้าง
หากไม่เห็นด้วย ก็น่าจะงดออกเสียงเพื่อไว้หน้ากันบ้าง ก็ยังดีอันถือเป็นการถนอมน้ำจิตน้ำใจกันทางการเมือง แต่นี่ชวรัตน์ ที่รับใบสั่งเนวิน ชิดชอบ มาเต็มๆ กลับ
แข็งข้อ ยกมือยกสวน
ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี ที่ชวรัตน์ แม้จะแก่พรรษากว่าอภิสิทธิ์อยู่หลายสิบปี แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอภิสิทธิ์ มันก็ต้องเกรงใจกันบ้าง ตามประสาคนอยู่รัฐนาวาเดียวกัน
แม้ชวรัตน์ อาจจะอ้างว่า การลงมติ ก.ต.ช.ถือเป็นอำนาจการตัดสินใจที่เป็นอิสระของกรรมการแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องเห็นตามประธาน ก.ต.ช.ทุกครั้งไป หากเห็นว่าข้อเสนอของประธาน ก.ต.ช.ไม่ถูกต้อง
อันนี้ก็ถูกต้องในหลักการ และต้องชมด้วยซ้ำ หากชวรัตน์มีจุดยืนเช่นนี้ในการลงมติหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ในที่ประชุม ก.ต.ช.ด้วยความเป็นอิสระ
แต่ทว่าข้อเท็จจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เพราะมันชัดเจนว่า ชวรัตน์ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นอมินีการเมืองเนวิน ชิดชอบ ไม่ได้หวังจะแสดงความเป็นอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองในที่ประชุม ก.ต.ช.เพราะชวรัตน์ได้วางแผนโดยการใช้ 1 เสียงใน ก.ต.ช.มาเป็น
เครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์
เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภูมิใจไทยยังมีความสำคัญกับทุกการตัดสินใจครั้งสำคัญๆของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่งานในหน้าที่ซึ่งได้รับการจัดสรรแบ่งเค้กไปในกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น
แต่ขนาด 1 เสียงใน ก.ต.ช. ที่จะชี้เป็นชี้ตายในการได้ผู้นำสีกากีคนใหม่และจะแสดงศักยภาพผู้นำของอภิสิทธิ์ให้วงการสีกากี ความมั่นคง ได้แลเห็น ภูมิใจไทยก็ยังไม่เว้น เล่นไม่เลิก
เอา 1 เสียงของชวรัตน์ มาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อเล่นเกมการเมืองไม่มีที่สิ้นสุด เพราะหวังให้บุคคลที่ฝ่ายตัวเองสนับสนุน
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.
เพื่อที่ภูมิใจไทยจะได้ง่ายต่อการวางแผนและสร้างคอนเน็กชั่นในการวางฐานอำนาจการเมืองไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยทำไว้สมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร.ในตอนนี้
จนทำให้แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พรรคภูมิใจไทยจะไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานแห่งนี้อย่างเป็นทางการ แต่ฝ่ายพัชรวาทก็สนองตอบในเรื่องต่างๆ
เช่นการผลักดันนายตำรวจที่ใกล้ชิดและมีสายสัมพันธ์อันดีกับเนวินและพรรคภูมิใจไทยขึ้นไปรับตำแหน่งสำคัญๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนมาก ตั้งแต่ระดับ รอง ผบ.ตร.จนถึงชั้นประทวน
จนหลายคนอาจคิดไปว่า สุเทพ เป็นประธานก.ตร.จากพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว !
ทั้งนี้ เหตุที่ชวรัตน์-เนวิน-ภูมิใจไทย ไปรวมตัวอยู่ซีกหนุน”จุมพล”ก็เพราะรู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า จุมพลกับคนของภูมิใจไทยอย่างเนวิน ชิดชอบ-อนุทิน ชาญวีรกุล ซี้ย่ำปึ๊กกันมาหลายปีตั้งแต่ร่วมกันเสวยอำนาจในระบอบทักษิณ ก่อนที่ต่อมาจะจำแลงแปลงกายตีตัวออกห่างทักษิณยามเมื่อหมดอำนาจ แบบต่างฝ่ายต่างเอาตัวรอด
และมาวันนี้ก็หวังจะกลับมาตอกเสาเข็มร่วมกันอีกครั้งในรั้วปทุมวัน เพียงแต่อันดับแรกสิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อนคือ เอาจุมพลขึ้นเป็น ผบ.ตร.ไม่ใช่ปทีป ตันประเสริฐ
นี่จึงเป็นเหตุผลและเบื้องหลังสำคัญของการลงมติของชวรัตน์ ที่ต้องการจะแสดงให้อภิสิทธิ์เห็นว่า ภูมิใจไทย ยังคงมีอำนาจการต่อรองทางการเมืองในรัฐบาลอยู่ ในทุกหน่วยงานทุกโครงการและการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของรัฐบาล แม้แต่กับการจัดสรรอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานหลักด้านความมั่นคงและกลไกการเมืองที่มีสรรพกำลังอยู่ในหน่วยงานแห่งนี้เกือบ 3 แสนคน
เนวิน-ภูมิใจไทย ที่แม้จะไม่ได้คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ก็ต้องการขอมีเอี่ยวด้วยทุกครั้งไป
อย่างไรก็ตาม การล้มโต๊ะประชุม ก.ต.ช.แต่งตั้ง ผบ.ตร.ครั้งนี้ จึงเป็นอีกครั้งของการพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้อยคำหลอกหลอนทางการเมือง
ไม่มีเขา ก็ไม่มีเราในวันนี้
ที่หลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้ นายกฯอภิสิทธิ์ ไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ เพราะมัวแต่เกรงใจเนวิน-ภูมิใจไทย ที่ “อภิสิทธิ์”จะทำสิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเนวิน “สุเทพ”ก็เตือนอย่าไปทำให้เขาไม่พอใจ เพราะว่า “ไม่มีเขา ก็ไม่มีเราวันนี้”
หรือหาก “อภิสิทธิ์”กระโดดเข้าขวางทางเนวินกับภูมิใจไทย “สุเทพ”ก็จะมากระซิบอีกว่า “ไม่มีเขาก็ไม่มีเราในวันนี้”
อย่างเรื่องโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันของ ขสมก. ในวันนี้ยังไม่กล้าออกมาประกาศยกเลิกทั้งที่ “อภิสิทธิ์”ไม่อยากเอา แต่เลิกไม่ได้เพราะกลุ่มเนวินจะเอา และการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ก็เป็นเรื่องที่แทงม้าคนละตัว เชียร์มวยคนละมุม นายกฯอภิสิทธิ์ก็เลยไม่อาจเสนอคนที่ต้องการได้
“เนวินกับภูมิใจไทย”มีบุญคุณทางการเมืองกับประชาธิปัตย์มากเสียจน
จะบีบ จะขี่คอ กันเช่นนี้ไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น
ควรหรือยังที่อภิสิทธิ์จะปลดแอก เลิกเป็นทาสการเมือง ให้เนวิน-ภูมิใจไทย ขี่คอเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
คำตอบก็คือ ต้องไม่ช้าแม้แต่วันเดียว!
เพราะเมื่อจะต้อง”แตกหัก”กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยหรือแม้แต่กับคนในประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง คือสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและประธาน ก.ตร.ที่ไปจับมือกับเนวิน ชิดชอบ
หักหน้าหัวหน้าพรรคตัวเองเช่นนี้
ก็ควรที่อภิสิทธิ์ต้องเด็ดขาด กล้าได้กล้าเสีย บนการตัดสินใจที่เห็นว่าสิ่งที่จะต้องทำ เป็นการยืนบนความถูกต้องในหลักการบริหารผลประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของคนไม่กี่คนในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลถ้าจะต้อง
”หักกันไปข้าง”
ก็ไม่ควรที่อภิสิทธิ์จะรอช้า เพราะเมื่อ ฟ้าลิขิต ชะตากรรมกำหนด อภิสิทธิ์ก็ยากจะไม่เดินไปบนเส้นทางนั้น
เพราะหากดำรงความเป็นนายกรัฐมนตรีแค่ในนาม แต่กลับมีสภาพเป็น “หุ่นเชิด” ให้คนอยู่เบื้องหลังในรัฐบาลไม่กี่คนมาชักใย หลอกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ไม่จบไม่สิ้น โดยอภิสิทธิ์ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่สามารถจัดการ แก้ปัญหาภายในพรรคตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลได้ แล้วแบบนี้ จะมาแก้ปัญหาประเทศชาติ และปัญหาประชาชนได้อย่างไร
รีบคิด ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ
พลิกสถานการณ์จากรับมาเป็นรุก
เปลี่ยนความปราชัย เสียหน้า ให้มาเป็นชัยชนะ และกู้ศักดิ์ศรีคืนโดยพลัน!