xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ ยื่น ป.ป.ช.แล้ว สอบเอาผิด ครม.-“แม้ว” ขายพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ที่ผ่านมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ข้าราชการกระทรวงการต่างประทเศ นายทหาร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีที่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยและเขตแดนบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหาร

                                                                            สะพานมัฆวาฬรังสรรค์
                                                                   ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

                                  ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑

เรื่อง คำร้องให้ดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบุคคลอื่นผู้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๕

กราบเรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. รายชื่อประชาชนผู้กล่าวหา
๒. มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง
๓. รายชื่อคณะรัฐมนตรี
๔. ข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
๕. แถลงการณ์ร่วมฉบับลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ พร้อมคำแปล
๖. แถลงการณ์ร่วมฉบับภาษาอังกฤษพร้อมคำแปล
๗. คำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑
๘. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๖ – ๗ / ๒๕๕๑
๙. บันทึกถ้อยคำนายกฤต ไกรจิตติ
๑๐. บันทึกถ้อยคำนายนายเชิดชู รักตะบุตร
๑๑. บันทึกถ้อยคำนายพิษณุ สุวรรณรชฎ

ด้วยพวกของข้าพเจ้าทั้งหมด ดังมีรายนามปรากฏตามรายชื่อเอกสารที่ส่งมาด้วยอันดับ ๑ เป็นประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า “บุค คลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิป ไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้” มาตรา ๗๑ บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้า ที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย” ดังนั้น พวกข้าพเจ้าทั้งหมดจึงเป็นผู้เสียหายอันมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการ เมืองและบุคคลผู้ เกี่ยวข้องตามมาตรา ๒๗๕ โดยมีสาระสำคัญดังจะกล่าวในข้อต่อไปนี้

ข้อ ๑ พวกของข้าพเจ้ามีความประสงค์จะขอกล่าวหาบุคคลดังต่อไปนี้
๑. นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
๒. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม
๓. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ
๔. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงพาณิชย์
๕. นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง
๖. นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี
๗. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี
๘. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
๙. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.กระทรวงการคลัง
๑๐. ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.กระทรวงการคลัง
๑๑. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๑๒. นายสมพัฒน์ แก้วพิจิตร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๑๓. นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๑๔. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.กระทรวงคมนาคม
๑๕. นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.กระทรวงคมนาคม
๑๖. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.กระทรวงคมนาคม
๑๗. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.กระทรวงมหาดไทย
๑๘. นายสุพล ฟองงาม รมช.กระทรวงมหาดไทย
๑๙. นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รมช.กระทรวงมหาดไทย
๒๐. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.กระทรวงยุติธรรม
๒๑. นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
๒๒. นายพงศกร อรรณนพพร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
๒๓. นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงสาธารณสุข
๒๔. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข
๒๕. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.กระทรวงพาณิชย์
๒๖. พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.กระทรวงพาณิชย์
๒๗. นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๒๘. นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒๙. นายมั่น พัธโนทัย รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๓๐. พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.กระทรวงพลังงาน
๓๑. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
๓๒. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
๓๓. นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม
๓๔ นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงแรงงาน
๓๕. นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
๓๖. นายเชิดชู รักตะบุตร อัครราชทูตประจำกรุงปารีส ปฎิบัติราชการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ
๓๗. นายพิษณุ สุวรรณรชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ
๓๘. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
๓๙. พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
๔๐. พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
๔๑. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มีส่วนเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน

ข้อ ๒ พฤติการณ์ของการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดมีความเป็นมาโดยลำดับดังจะกล่าวต่อไปนี้

๒.๑ ด้วยปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสารมวลชนแขนงต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ซึ่งรวมทั้งการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา มีข้อ มูลปรากฎตรงกันในสาระสำคัญว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความประสงค์จะเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ทั้งทางด้านแหล่งบันเทิงครบวงจร (Entertainment complex) และด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเช่าพื้นที่เกาะกงเป็นระยะเวลา ๙๙ ปี และมีผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างประเทศไทย - ประเทศกัมพูชา บนพื้นฐานข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงมีข้อวิพากษ์วิ จารณ์เชิงตั้งข้อสงสัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณฯจะเอื้อประโยชน์เป็นการตอบแทนให้รัฐบาลกัมพูชาโดยสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยประเทศไทยไม่คัดค้านหรือขอขึ้นทะเบียนร่วมกัน เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าในการแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมืองจากประชาชนกัมพูชาของนัก การเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลบริหารประเทศกัมพูชาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดจึงได้วางแผนร่วมกันและดำเนินการในลักษณะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนร่วมกัน โดยแบ่งงานกันเป็นขั้น เป็นตอน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

๒.๒ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางไปเจรจากับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของประ เทศกัมพูชา เพื่อตกลงในหลักการไว้ก่อนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐ มนตรี ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิป ไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ทำการรัฐประหาร ต่อมามีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งมาเป็นเสียงข้างมาก และได้เข้าร่วมกับ ๕ พรรคการ เมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาล เป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๕๗ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๑ มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ - ๓๕ รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช กระทำการในลักษณะเป็นตัวแทนเชิดของพรรคไทยรักไทย จนคณะกรรมการเลือกตั้ง ลงมติยืนยันข้อเท็จจริงไว้ รายละเอียดปรากฏตามมติคณะกรรมการเลือกตั้งเอกสารที่ส่งมาด้วยอันดับ ๒ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปรากฏตามเอกสารที่ส่งมาด้วยอันดับ ๓

๒.๓ เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง หมดก็ได้ดำเนินการสานต่อนโยบายที่ได้รับมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณฯ โดยนายนพดลให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าการเจรจาสำเร็จได้เพราะบารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ รายละเอียดปรากฎตามข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์สิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๔ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ นายนพดล ปัทมะในฐานะรัฐมตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปประชุมร่วมกันนายซกฮัน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักคณะรัฐมนตรี ของกัมพูชา เพื่อที่จะหารือกันต่อในเรื่องที่เกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก การประชุมได้จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ ขององค์การยูเนสโกในกรุงปารีส ต่อหน้านางฟรองซัวส์ ริวิแยร์ ผู้ช่วยอธิบดีกิจการวัฒนธรรม ของยูเนสโก, เอกอัครราชทูตฟรานเซสโก คารูโซ , นายอเซดีน เบส์ซาวุซ, นางปาโอลา ลีออนซินี และ นายจีโอวานนี บอคคาร์ดี และนายนพดลฯ ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเอกสารที่ส่งมาด้วยอันดับ ๕ โดยไม่มีอำนาจและแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวในเนื้อหาต้องถือเป็นสัญญา หรือสนธิสัญญา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ นายนพดลฯจะกระทำมิได้ เพราะแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นายนพดลกับข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามมาตรา ๑๙๐ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ,๑๑๙,๑๒๐ ประกอบมาตรา ๘๓

๒.๔ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๑ คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอโดยเป็นการลงมติให้มีผลย้อนหลังไปถึงแถลงการณ์ร่วมที่นายนพ ดลฯ ได้ลงนามไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๑ จึงเป็นการลงมติไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๙๐

๒.๕ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายนพดล ปัทมะ ได้ร่วมกับนายกฤติ ไกรจิตติ,นายเชิดชู รักตะบุตร, นายพิษณุ สุวรรณรชฎ และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล นำแถลงการณ์ร่วมซึ่งความจริงคือสนธิสัญญาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยอ้างความเห็นของพล.ท.แดน มีชูอรรถ และพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ที่ได้รับรองข้อเสนอและแผนที่ของประเทศกัมพูชาว่าไม่เป็นการกระทบกระเทือนอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ผู้ถูกกล่าวหาอันดับที่ ๒ - ๓๕ ในฐานะคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันลงมติไปโดยมีเจตนาร่วมกันที่จะรับรองการกระทำที่นายนพดลฯ ได้กระทำไปแล้ว และในที่สุดได้ลงมติให้รับรองแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าว

๒.๖ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายนพดลฯ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมอีกครั้งโดยอ้างว่า การลงนามดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วและมีความประสงค์จะให้ประเทศกัมพูชานำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปใช้ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๖

๒.๗ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ กับพวกรวม ๙ คน ได้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ศาลปกครอง และทำการไต่สวนฉุกเฉินห้ามมิให้นายนพดล และคณะรัฐมนตรี ดำเนินการใด ๆ อันเป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา และดำเนินการตามมติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลปกครองได้ทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คุ้มครองก่อนพิพากษา รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งด้วยอันดับ ๗ ในวันเดียวกันนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีการลงมติเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยให้เปลี่ยนแปลงคำว่าแผนที่แนบท้ายให้ใช้คำว่าแผนผังแทน แต่มิได้มีการแก้ไขข้อความในแถลงการณ์ร่วมแต่อย่างใด ในแถลงการณ์ร่วมจึงยังคงใช้คำว่าแผนที่ (MAP) อยู่อย่างเดิม

๒.๘ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑ คณะกรรมการมรดกโลกรับจดทะเบียนให้ปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกเป็นของกัมพูชา และในวันเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๖-๗/๒๕๕๑ เรื่อง ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ หรือไม่ โดยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communiqué ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางอีกด้วย ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง รายละเอียดปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๘

๒.๙ สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓๖ - ๓๘ ได้เคยให้การถึงการมีส่วนร่วมของตนไว้ในการจัดทำแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ปรากฏตามบันทึกถ้อยคำสิ่งที่ส่งมาด้วยอันดับ ๙ - ๑๑

๒.๑๐ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ ๓๙ – ๔๐ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการรักษาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศไทย นอกจากจะไม่ได้คัดคัดหรือทักท้วงร่างแถลงการณ์ร่วม และแผนที่แนบท้ายแล้ว ยังให้การรับรองว่าไม่เห็นเหตุให้กระทบอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยอีกต่างหาก ความเห็นดังกล่าวนี้ถูกผู้กล่าวหาที่ ๑ – ๓๕ นำมาอ้างอิงต่อสาธารณะโดยตลอด

๒.๑๑ อาศัยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ถูกกล่าว หาทั้งหมดมีเจตนาจงใช้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ กระทำการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือปฎิบัติตามบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลเสียหายต่อเขตอาณาเขตของประเทศไทย กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจขององค์พระ มหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้กล่าวหาทั้งหมด และปวงชนชาวไทยทุกคน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ เป็นการกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักร ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ตามมาตรา ๑๑๙ และเป็นการร่วมกันคบคิดกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศ ด้วยความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการดำเนิน การรบต่อรัฐ หรือในทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ ตามมาตรา ๑๒๐ การกระทำมีลักษณะเป็นการร่วมกันตามมาตรา ๘๓

ข้าพเจ้าทั้งหมดจึงขอร้องเรียนกล่าวโทษ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด และผู้เกี่ยวข้องอื่น เพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดำเนินการไต่สวน และดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าว หา จนถึงที่สุด

                                ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

..........................................             ..........................................
    (พลตรี จำลอง ศรีเมือง)                             (นายสนธิ ลิ้มทองกุล)
       ผู้กล่าวหา (1)                                         ผู้กล่าวหา (2)

..........................................            ..........................................
     (นายพิภพ ธงไชย)                                  (นายสมศักดิ์ โกศัยสุข)
        ผู้กล่าวหา (3)                                        ผู้กล่าวหา (4)

..........................................             ..........................................
  (นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์)                     (นายสุริยะใส กตะศิลา)
         ผู้กล่าวหา (5)                                         ผู้กล่าวหา (6)













กำลังโหลดความคิดเห็น