xs
xsm
sm
md
lg

‘อภิสิทธิ์’ ชี้รบ.ไม่ควรสร้างเงื่อนไขล้มตัวเอง ยัน‘สมเกียรติ’ร่วมพันธมิตรเรื่องส่วนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – ‘อภิสิทธิ์’ ออกรายการกรองสถานการณ์แจงประเด็นตั้ง ครม.เงา ระบุไม่ได้แข่งกับครม.จริง แต่เพื่อประโยชน์ในการทำงานตรวจสอบและเสนอหนทางการแก้ไขปัญหาให้สังคม ระบุกรณีพันธมิตรฯ ชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ภายในกรอบของ รธน. เช่นเดียวกับกรณีชมรมคนรักทักษิณ ปฏิเสธ ‘สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์’ ร่วมประชุมพันธมิตรในนามพรรค พร้อมระบุจะเคลียร์กับสมเกียรติในวันนี้ (26 ก.พ.) ชี้ทักษิณกลับบ้านได้ แต่รัฐบาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างความไม่พอใจให้คนในสังคม

คลิกที่นี่ เพื่อฟังบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในรายการกรองสถานการณ์ทางช่อง 11

วานนี้ (25 ก.พ.) ในรายการกรองสถานการณ์ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ได้มีการเชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพื่อมาสอบถามถึงความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน เช่นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเงา (ครม.เงา) ขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์เพื่อมาตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีจริง รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ล่าสุดออกมาประกาศรวมตัวเพื่อตรวจสอบและคัดค้านต่อการกระทำมิชอบของรัฐบาลที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวชอีกครั้ง

ตอนต้นของรายการ นายอดิศักดิ์ ศรีสม พิธีกรได้ตั้งคำถามต่อนายอภิสิทธิ์ กรณีข้อสงสัยของประชาชนที่มีต่อการจัดตั้ง ครม.เงา โดยนายอภิสิทธิ์ได้ตอบว่า หลายประเทศในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาไม่ว่าจะเป็น ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ ต่างก็มีการจัดตั้ง ครม.เงาทั้งสิ้นเพื่อตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาลตัวเอง และเพื่อความเข้มแข็งทางการเมืองของประเทศ

“จริงๆ แล้วรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเขามีคำกล่าวว่า รัฐบาลจะเข้มแข็งแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของฝ่ายค้าน แต่ก่อนเรากลับไปคิดว่าฝ่ายค้านอ่อนแอคือรัฐบาลเข้มแข็ง แต่ในประเทศประชาธิปไตยเขาบอกว่าไม่ใช่ เขาบอกว่าหากฝ่ายค้านเข้มแข็ง รัฐบาลก็ต้องทำงานอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีฝ่ายค้านคอยติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

นายอภิสิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ประโยชน์ของระบบครม.เงา ก็นับแต่นี้ฝ่ายค้านต้องสนใจปัญหาทุกปัญหา เพราะมีบุคลากรของฝ่ายค้านที่คอยติดตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆ เรื่องของสังคมและการทำงานของทุกกระทรวง ประโยชน์ประการต่อมาคือเมื่อมี ครม.เงา แล้วการแสดงความคิดเห็นของคนที่เป็น รมต.เงานั้นเป็นในนามของพรรคฝ่ายค้านจริงๆ มิใช่เป็นความเห็นส่วนตัว นอกจากนี้ ครม.เงาจะมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อประเมินสถานการณ์และปัญหาของบ้านเมือง ทั้งนี้การตั้ง ครม.เงามิใช่การตั้งรัฐบาลขึ้นมาแข่งขันกับคณะรัฐมนตรีจริง

“การทำงานของครม.เงาที่ดีคงไม่ใช่การไปวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านแต่เพียงอย่างเดียว อะไรที่ดีต้องสนับสนุน นอกจากนี้ผมยังกำชับด้วยว่าอะไรที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ลอยๆ ว่าไม่เห็นด้วย ไม่ดี แต่ต้องตอบคำถามได้ด้วยว่าหากเราเกิดเป็นรัฐมนตรีจริงแล้วเราจะทำอย่างไร หนทางที่ดีกว่าคืออะไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

พิธีกรถามต่อว่า ในเมื่อครม.เงามีการประชุมกันสัปดาห์ละหนึ่งครั้งแล้วจะมีมติออกมาด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า คงไม่เป็นมติครม.อย่างนั้น แต่จะเป็นแนวความคิดของฝ่ายค้านต่อสภาพปัญหาของบ้านเมือง อย่างเช่นในสัปดาห์นี้จะต้องมีการหยิบปัญหาของแพงขึ้นมาหารือ นอกจากนี้จะยังมีการเสนอกับรัฐบาลเรื่องปัญหาของงบประมาณกลางปีด้วย”

ยืนยัน 164 เสียงพอตรวจสอบ

เมื่อถามถึงเรื่องการทำงานตรวจสอบในระบบรัฐสภาว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวมีอุปสรรคใดๆ กับเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในมือที่อยู่ 164 เสียง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า คงไม่มีอุปสรรคอะไร เพราะข้อจำกัดในเชิงตัวเลขไม่มี สามารถเสนอญัตติ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือการถอดถอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีเสียงพอ

“ผมถูกถามอยู่เรื่อยว่าจะเปิดอภิปรายเมื่อไหร่ ผมก็ตอบว่า จริงๆ เราไม่สามารถพูดล่วงหน้าได้เลย เพราะว่าถ้ารัฐบาลทำงานดีไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้มาตรการอันนี้ พวกเราไม่ได้วางเป็นเงื่อนเวลา เพราะถ้ารัฐบาลทำงานดีสองปี สามปีไม่มีปัญหาอะไรก็ไม่ควรเปิดอภิปราย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาบรรยากาศในการทำงานร่วมกับฝ่ายรัฐบาลถือว่าดี เนื่องจากในตอนแรกมีความกังวลว่าในขณะที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมสภาจะทำให้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ขึ้นมา แต่เมื่อหารือกับฝ่ายรัฐบาลแล้วก็ได้ข้อสรุปว่าสามารถตั้งได้เลย ส่วนร่างข้อบังคับฯ ฝ่ายค้านกับรัฐบาลก็มีการตกลงล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่าบรรยากาศในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลก็ถือว่ามีบรรยากาศที่เรียบร้อยกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านๆ มา

ชี้มีชมรมคนรักทักษิณได้ พันธมิตรฯ จะรวมตัวอีกก็ไม่แปลก

เมื่อถามถึงความเห็นของนายอภิสิทธิ์ต่อการประกาศรวมตัวกันอีกครั้งของเหล่าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวานนี้ (25 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เป็นสิทธิ์ของคนในสังคมที่จะแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้กฎหมายและกติกา ทั้งนี้การกระทำของรัฐบาลก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สร้างเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์

“การเมืองคงไม่ได้มีอยู่แต่ในสภา เพราะฉะนั้นก็จะมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชมรมคนรักทักษิณก็จัดงาน ตอนนี้พันธมิตรก็บอกจะฟื้นขึ้นมา เพราะฉะนั้นแต่ละคนในสังคมก็มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น มีสิทธิ์ที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่ว่าอยู่ในของเขตของกฎหมาย อีกประการหนึ่ง ผมไม่อยากเห็นความรุนแรง เพราะฉะนั้นหากอะไรที่จะเป็นเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงแล้วก็ขอให้ช่วยกันหลีกเลี่ยง

“ผมถึงได้เรียนในการประชุมอภิปรายนโยบายฯ ว่ารัฐบาลจะมีส่วนสำคัญมาก ถ้ารัฐบาลสามารถสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ก็จะเป็นเรื่องที่ทำให้บ้านเมืองได้ประโยชน์ รัฐบาลก็สามารถเดินหน้าไปทำเรื่องราวอื่นๆ ได้อย่างเช่นในการฟื้นเศรษฐกิจ โครงการต่างๆ แต่ถ้าหากมีประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองร้อนๆ ตลอดก็จะเป็นปัญหา”

ปฎิเสธ ‘สมเกียรติ’ ร่วมพันธมิตรฯ ในนามปชป.

ต่อกรณีที่มีผู้ชมทางบ้านถามถึงการเข้าร่วมประชุมและแถลงข่าวกับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บ้านพระอาทิตย์ในช่วงเที่ยงวานนี้ (25 ก.พ.) ของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วยหรือไม่ ในกรณีนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า การประชุมกับพันธมิตรฯ ของนายสมเกียรติในวันนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะก่อนหน้าที่จะเป็น ส.ส.ของพรรคนายสมเกียรติก็เป็นแกนนำพันธมิตรฯ อยู่แต่เดิมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในวันนี้ (26 ก.พ.) ในการประชุม ส.ส. ตนจะสอบถามถึงเรื่องนี้กับนายสมเกียรติต่อไป

“เนื่องจากว่าสมัยก่อนนี้ อ.สมเกียรติ เป็นหนึ่งในห้าแกนนำพันธมิตรฯ วันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าจะมีเรื่องของพันธมิตรฯ ก็เข้าใจว่าเดิมทีห้าท่านที่เขาบริหารกันอยู่เขาก็คงไปพบปะกัน แต่ว่าพรุ่งนี้ผมก็จะพบกับ อ.สมเกียรติก็จะสอบถามท่านว่าตกลงท่านจะเอายังไง เพราะจากนี้ไปบทบาทของท่านก็เป็น ส.ส.แล้ว ก็คงจะสอบถามกัน แต่ว่าที่ท่านไปร่วมในวันนี้ก็สืบเนื่องจากที่ท่านเป็นแกนนำ แล้ววันนี้เขามาพบปะกันท่านก็ไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์”

ระบุย้ายอธิบดีดีเอสไอน่าสงสัย

เมื่อพิธีกรอ่าน แถลงการณ์จุดยืน 7 ประการของพันธมิตรฯ ให้ฟัง นายอภิสิทธิ์ก็กล่าวถึงข่าวการเดินทางกลับประเทศไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ตนยืนยันมาตลอดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ควรกลับมาประเทศไทย เพื่อพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายว่าจะบริหารว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ให้การกลับมาของคุณทักษิณเป็นอย่างตรงไปตรงมา ราบรื่นและไม่เป็นเงื่อนไขที่จะสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองจนเกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้งจนเกิดการเผชิญหน้ากัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมระบุว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคำสั่งย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ นายสุนัย มโนมัยอุดม) ที่กำลังดำเนินการคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่หลายคดีจึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเคลือบแคลงว่าการโยกย้ายดังกล่าวจะเป็นการแทรกแซง การเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

“ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขในการทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้ ต้องยอมรับว่ากรณีการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นสร้างเครื่องหมายคำถามขึ้นมาจริงๆ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

นอกจากนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า ท่าทีของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงสื่อนั้นก็ถือว่าเป็นการกระทำที่สร้างความหวั่นไหว แตกแยกในสังคม โดยเฉพาะจากกรณีการสั่งถอดนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทองออกจากรายการวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม 105 ซึ่งเป็นคลื่นในความควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์

“ถ้ามีเหตุการณ์และเงื่อนไขที่น่าสงสัยเพิ่มมาอีกเป็นกรณีที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ผมก็เป็นห่วงว่า สุดท้ายการเมืองที่ทุกคนอยากเห็นมันนิ่ง มันก็ไม่นิ่ง รัฐบาลจะอายุยาวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาลเอง เชื่อเถอะครับว่าถ้ารัฐบาลทำงานดี ทำงานสุจริต ใครคิดจะไปล้มรัฐบาลคงอยู่ไม่ได้ รัฐบาลควรจะตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปส่วนกรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณทักษิณก็อย่าไปยุ่งเกี่ยว ควรปล่อยให้กระบวนการทำงานไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

สำหรับรายชื่อ “คณะรัฐมนตรีเงา” ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์หลังการประชุมบริหารพรรคประชาธิปัตย์นั้นประกอบไปด้วย

1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2.นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ รองนายกรัฐมนตรี
3.นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล รองนายกรัฐมนตรี
4.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี
5.นายสุทัศน์ เงินหมื่น รองนายกรัฐมนตรี
6.นายอลงกรณ์ พลบุตร รองนายกรัฐมนตรี
7.นายกษิต ภิรมย์ รองนายกรัฐมนตรี
8.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
9.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
10.พลเอกพิชาญเมธ ม่วงมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
11.นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
12.นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
13.ดร.สรรเสริญ สมะลาภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
14.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
15.นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
16.พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
17.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
18.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา
19.นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
20.ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
21.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
22.ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
23.นายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
24.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
25.นายแพทย์บุรณัชย์ สมุทรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
26.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
27.ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
28.นายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
29.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
30.นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
31.นายเกียรติ สิทธีอมร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
32.นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
33.นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
34.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
35.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
36.นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะที่รายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2551 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นประกอบไปด้วย

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
3. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
4. นายสหัส บัณฑิตกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี
5. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
6. นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
7. นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
8. นายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
9. นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
10. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
11. ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
12. นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
13. นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
14. นายสุธา ชันแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
15. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
16. นายสมพัฒน์ แก้ววิจิตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
17. นายธีระชัย แสนแก้ว เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
18. นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
19. ทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
20. นายอนุรักษ์ จุรีมาศ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
21. นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
22. นายมั่น พัธโนทัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
23. พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
24. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
25. พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
26. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
27. นายสุพล ฟองงาม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
28. นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
29. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
30. นางอุไรวรรณ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
31. นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
32. นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
33. นายบุญลือ ประเสริฐโสภา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
34. นายพงศ์กร อรรณนพพร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
35. นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
36. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

กำลังโหลดความคิดเห็น