"ฮิวแมนไรท์วอชท์" เหน็บ "นช.แม้ว" ก่อนขอความเป็นธรรม เคยให้โอกาส 2,800 ศพ ดคีตัดตอนยาเสพติดบ้างหรือไม่ ระบุ ความไม่เป็นธรรมของ ตร. ก่อให้เกิดระบบศาลเตี้ย อึ่ง! คนใต้ถาม มีตำรวจแล้วทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่ ขณะที่เลขาธิการสิทธิฯ ยันตำรวจเป็นอุปสรรค์คลี่คลายคดีมากที่สุด แนะนายกฯปฏิรูปตำรวจ กระจายอำนาจแต่งตั้งสู่จังหวัด
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2552 โดยมี รัตติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมพูดคุยถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและวงการตำรวจไทย
นายสุนัย กล่าวว่าเรื่องที่น่าอับอายที่สุดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ การฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด 2,800 ศพ ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีความคืบหน้าในการเนินคดี อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามที่ได้ประกาศไว้เมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง ว่า จะคืนความยุติธรรมให้ประเทศ ตนในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ ได้ให้ความสำคัญถึงสิทธิฯ ทวงความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติด โดยการผลักดันญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม แต่ดูเหมือนถูกลอยแพ ไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล ตั้งแต่นายกฯ จนถึง รมว.ยุติธรรม ควรทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ คือ 1.ออกมาทำทุกอย่างให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น 2. ดึงคดีเหล่านี้ออกจากมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้มาอยู่ในความดูแลของ ดีเอสไอ
นายสุนัย กล่าวต่อว่าการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ประเด็นคือขอโอกาส เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตนขอถามกลับว่าสมัยที่เคยเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เคยให้โอกาส คนเพียงแค่ถูกต้องสงสัยก็ต้องตายแล้ว บ้างหรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ 1-2 ศพ แต่มากถึง 2,800 ศพ ดังนั้นหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนสัตบุรุษ เป็นคนที่มีจิตใจมีศีลธรรม ควรต้องสำนึกบาป ถ้าอยากจะพิสูจน์โอกาสในการเรียกร้องหาความยุติธรรม ต้องกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
“ต่างประเทศเข้าใจดีถึงสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ การปฏิวัติก็ส่วนหนึ่ง ขณะที่การละเมิดสิทธิมนุษย์ชน และจำเป็นต้องจับกุมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ระหว่างที่อยู่ในอำนาจก็ไม่เคยเคารพกติกาอธิปไตยเลย แถมยังขึ้นชื่อว่าละเมิดสิทธิมนุษย์ชนร้ายแรกอันดับต้นๆของโลก อีกด้วย”นายสุนัย กล่าว
นายสุนัย กล่าวต่อว่า การที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร ลงพื้นที่ภาคใต้ ตนเคยหวังว่า ก่อนเกษียณอายุราชการ ในช่วงเวลาที่เหลืออีกน้อยนิด ท่านจะฝากชื่อไว้ในวงการตำรวจให้คนไทยได้จดจำถึงความดีที่ให้ไว้แก่ประเทศ ด้วยการลงไปจี้คดีคนร้ายคดียิงมัสยิด เพราะคดีนี้สามารถจับมาได้แล้วหนึ่งคน แทนที่จะกำชับให้ไปเร่งรัดขยายผลหาแนวร่วม ทำคดีนี้ให้เป็นประเด็นสาธารณะ แต่ก็ต้องผิดหวัง ด้วยท่าทีนิ่งเฉย ไม่แสดงวิสัยทัศ หรือจุดยืนในการแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่เลย ทั้งที่ควรเล็งเห็นว่า ประชาชนไม่อยู่ในภาวะปกติสุข พื้นที่ชายแดนภาคใต้ลุกเป็นไฟอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“สิ่งที่คนใต้ถามมากที่สุด หลัง ผบ.ตร. ลงพื้นที่ 1.เขาไม่แน่ใจว่า มี ผบ.ตร กี่คนกันแน่ 2. การมีตำรวจทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือไม่ เพราะเขาขาดความเชื่อมั่นในกลไกตำรวจ แล้วอย่างนี้จะหวังให้คนในพื้นที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของรัฐได้อย่างไร” นายสุนัย กล่าว
นายสุนัย กล่าวว่า ถึงแม้ในประเทศไทยจะมี จเรตำรวจ คอยตรวจสอบองค์กรภายในกรมตำรวจ แต่ก็ยังไม่เห็นบทบาทที่ชัดเจน จึงกลายเป็นว่าการตรวจสอบภายในไม่เกิดขึ้น และเมื่อมีหน่วยงานพิเศษ อย่าง ดีเอสไอ เข้ามาแก้ไขช่องโหว่นี้ ปัญหาต่อมาก็คือหน่วยงาน ดีเอสไอ ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่มากพอจึงต้องเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยงาน ก็เลยทำให้เกิดการเกียเซียะ จึงทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจตำรวจ ต้องหันมาปกป้องสิทธิด้วยมือของตัวเอง จนนำไปสู่ศาลเตี้ย เช่น เกิดการล้างแค้นเอาคืนในภาคใต้ เพราะเขาเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมล่าช้า
นายสุนัย กล่าวว่ารัฐบาลชุดอภิสิทธิ์ เป็นภาพลักษณ์ของความตั้งใจที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรม แต่ปัญหาก็ คือ นายกฯ ดูเหมือนจะโดดเดียว หลายครั้งที่ท่านเสนอแนวคิดทางนโยบายที่เป็นคุณต่อประเทศ กลับไม่ได้รับการขานรับจากคนที่อยู่ร่วม ครม. ด้วยกัน โดยเฉพาะ รมว.ความมั่นคง อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านมาหกเดือน ก็ยังให้คะแนนความตั้งใจอยู่ แต่อยากเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ตนคิดว่าตอนนี้เรื่องของการจัดว่างตัว ผบ.ตร. มีส่วนสำคัญอยากมาก ที่จะผลักดันให้เกิดกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถ้าได้ ผบ.ตร. ที่เชื่อฟังนายกฯ ในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษย์ชน อย่างเป็นธรรม บ้านเมืองก็จะเจริญขึ้น
นายสุนัย กล่าวถึงฎีกาของกลุ่มเสื้อแดง ตอนนี้ตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะพิจารณา ว่า ฎีกาที่ยื่นมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการยื่นถวายฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วนายกฯออกมาพูด ทางกลุ่มเสื้อแดงก็จะคัดค้านเพราะเขาไม่ฟังรัฐบาล หรือถ้าพิจารณาผ่านให้มีการยื่นถวายฎีกาได้ คนบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด ควรหาหน่วยงานหรือกลุ่มคนที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม มาชี้แจงเรื่องนี้
นายเมธา กล่าวว่าหลังจากที่ได้ติดตามเรื่องละเมิดสิทธิฯ ตำรวจบางส่วนเป็นตัวอุปสรรค์ ในการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ จนทำให้ไม่สามารถคลี่คลายได้ เช่นคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีช็อตไขที่อยุธยา คดีเชอร์รี่แอน หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปซ้อมแล้วแขวนคอเหยื่อ ที่กาฬสินธุ์ ด้วยเหตุนี้ตนจึงไปร้องเรียนนายกฯ ให้ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม เพราะญาติของผู้เสียชีวิตไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกคุกคาม ประกอบกับประเด็นใหญ่ในปัจจุบันที่มีการทุจริต ซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดในรอบเดือนที่ผ่านมานี้ สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจอย่างมากกับตำรวจดีๆ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประเทศ
นายเมธา กล่าวต่อว่าการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนในไทย ไม่มีเรื่องไหนใหญ่ไปกว่าการฆ่าตัดตอนคดียาเสพติด ถ้าหากทำให้ประเด็นเรื่องนี้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ ต่างประเทศก็จะตาสว่างไปด้วย อย่างไรก็ตามน่าเสียดายเมื่อมีการตั้ง กตน. ได้มีการเสนอต่อ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีการนำเสนอให้ประชาชนรับรู้ ในที่สุด กตน. ได้ยุบไป ดังนั้นเมื่อมาถึง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แม้จะเน้นความยุติธรรม แต่ก็ไม่มีหน่วยงานของรัฐมาช่วยเสริม ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงไม่สำฤทธิ์ผลเท่าที่ควร
นายเมธา กล่วอีกว่าในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ชาวบ้านชุมชนต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษย์ชน ถูกคุกคามจนเสียชีวิตกว่า 20 ราย สะท้อนว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ปัจจุบันหากเราจะคลี่คลายตรงนี้ รัฐบาลต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 1.ทำคดีต่างๆไม่ว่าจะมีตำรวจหรือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 2.ปฏิรูปองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
นายเมธา กล่าวอีกว่า ผบ.ตร.คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสืบสวนสอบสวน ควรหาตัวคนร้ายในคดีสะเทือนขวัญของประชาชนมาลงโทษให้ได้ แต่ทุกวันนี้อุปสรรค์ในการทำคดีอยู่ที่ ผบ.ตร. ซึ่งเรื่องอย่างนี้ไม่น่าเกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้ดีว่าในวงการตำรวจถ้าไม่รับใช้นาย โอกาสที่จะเลื่อนขั้นแทบจะไม่มี ดังนั้นตนจึงได้เสนอนายกฯ ว่า การจัดโผตำรวจ ปกติจะจะเลื่อนตำแหน่งใคร อยู่ที่โต๊ะส่วนกลางในกรุงเทพ ขณะที่ตำรวจที่ทำงานดีใกล้ชิดกับประชาชนในต่างจังหวัด ส่วนกลางมองไม่เห็น ดังนั้นควรมีการกระจายอำนาจให้ขึ้นต่อจังหวัด หรือจัดระบบให้มีระบบที่มีคุณธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่แล้วแต่ ผบ.ตร. หรือแล้วแต่กรรมการตำรวจเท่านั้น
“การใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลายเป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจ ถ้าตำรวจผู้กระทำผิดขึ้นตรงต่อใครมีระบบอุปถัมภ์อย่างชัดเจนก็จะไม่รายงานความผิดนั้น และที่จริงผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ควรย้ายออกนอนพื้นที่ เพราะหากมีอำนาจในพื้นที่ก็จะ คุกคาม ข่มขู่พยานได้ อย่างกรณีทนายสมชาย ผู้ต้องหาท่านหนึ่งก็กลับเข้ารับตำแหน่งในราชการเหมือนเดิม ตรงนี้สะท้อนภาพพจน์ด้านลบของวงการตำรวจไทยได้อย่างดี” นายเมธา กล่าว