คณาจารย์จุฬาฯ ผนึกกำลังรวบรวมรายชื่อ 5,000 คน ยื่นหนังสือถึง “มาร์ค” เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายประเพณีที่ถูกต้อง วอน “นช.ทักษิณ” รักษาคำสัตว์ ยับยั้งลิ่วล้ออย่าทำผิดกฎหมาย หวั่นกลายเป็นประเด็นลบหลู่สถาบัน ชี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งเป็นเรื่องส่วนตัว
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.00 น. ผศ.นพ.ตุล สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำรายชื่อของคณะอาจารย์และประชาชน จำนวน 5,000 คน พร้อมทั้งจดหมายเปิดผนึกเรื่องฎีกา ตามกฎหมาย จารีตประเพณี และฎีกาการเมือง เพื่อแสดงจุดยืนต่อการกระทำที่ไม่สมควร โดยเห็นว่าการถวายฎีกาครั้งนี้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจารีตประเพณี ทั้งมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ตลอดยังเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องในการถวายฎีกา โดยจะยื่นหนังสือและรายชื่อคณาจารย์ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวได้เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เคยถวายต่อพระมหากษัตริย์ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย จารีตประเพณี และระเบียบที่ถูกต้อง ด้วยการขอให้กลุ่มผู้นำทางการเมืองที่สนับสนุนตัวเองหยุดยั้งการกระทำผิดกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการถวายฎีกา หากจะขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณด้วยตัวเอง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะกระทำได้
หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขอเรียกร้องผู้นำการเมือง ยุติการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมทั้งยุติการกระพือความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย และประชาชน ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จารีตประเพณีและระเบียบปฏิบัติ เกี่ยวกับการถวายฎีกา การมีความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะนำความนิยมนั้นมาเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย ประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องไม่ได้ นอกจากนั้น ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญด้วยการกลั่นกรองเรื่องฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการบริหาราชการแผ่นดินอย่างรอบคอบและแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความกล้าหาญโดยไม่นำฎีกาการเมืองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ลำบากพระราชหฤทัย และเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามไปประทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ขอเรียกร้องให้สำนักราชเลขาธิการซึ่งมีอำนาจกลั่นกรองเรื่องฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ
นพ.ตุล ยังกล่าวอีกว่า การที่คณะอาจารย์จุฬาฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่าผู้ยื่นถวายฎีกาไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะไม่ใช่ความเดือดร้อนส่วนตน หากยื่นไปทางสำนักราชเลขาธิการและรัฐบาลก็คงจะลำบากใจ เพราะเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ตรงกับระเบียบก็คงจะนำยื่นไม่ได้ และอาจจะส่งผลให้ผู้ที่ลงชื่อไปประมาณ 5 ล้านคนเกิดความไม่พอใจได้หรือไปให้ข่าวลักษณะว่าพระองค์ท่านไม่โปรด จึงอยากจะวิงวอนขอร้องว่าอย่ามีความคิดอย่างนั้น การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบบอกว่าไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้แสดงว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ อย่างไรก็ตาม เรายืนยันว่าการที่ยื่นถวายฎีกาเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และต้องเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ แต่ถ้าหากยื่นแล้วไม่เป็นไปตามประสงค์หรือตามที่คาดหมายเอาไว้ขอให้ระงับความไม่พอใจ และใช้ปัญญาในการพิจารณาว่าดำเนินการไม่ได้เพราะอะไร และฝ่ายที่รับเรื่องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบด้วยว่าเพราะเหตุใด