"อังคณา" ระบุผู้หญิงมีมากกว่าครึ่งควรใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ติงอย่ามองบทบาทเป็นแค่แม่บ้าน ต้องเปิดโอกาสทางการเมืองอย่างแท้จริง ชี้ควรกำหนดสัดส่วน ส.ว. ชาย-หญิง ที่ชัดเจน ขณะที่ "มาลีรัตน์" เผยผู้หญิงเข้าถึงการเมืองน้อยมาก หลายคนถอดใจเพราะแพ้อำนาจเงินซื้อเสียง วอนสังคมสลัดภาพลักษณ์เก่าๆ ผู้หญิงก็สร้างบ้านเมืองได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2552 โดยมีนางสาวรัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจากนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนางมาลีรัตน์ แก้วก่า แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 มาร่วมพูดถึงพลังผู้หญิงกับการเปลี่ยนแปลงการเมือง
นางอังคณา กล่าวว่าโอกาสที่ผู้หญิงมุสลิมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศค่อนข้างน้อย เพราะยึดติดอยู่กับค่านิยมที่ต้องมีผู้ชายเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตามจากที่ลงพื้นที่ภาคใต้ในหลายหมู่บ้านมีแต่ผู้หญิงอยู่ ด้วยเหตุกระบวนการยุติธรรมล่าช้ามาก คนยากคนจนที่ไม่มีเงินมาประกันก็ต้องติดอยู่ในเลือนจำเป็นเวลานาน หนีไปบ้าง อยู่ค่ายบ่อทองบ้าง ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงต้องกลายเป็นเสาหลักครอบครัว เพราะผู้ชายไม่สามารถทำหน้าที่ได้ในภาวะปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงน่าจะได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทมากขึ้น ตรงนี้ตนอยากให้ผู้นำศาสนาอิสลาม เปิดโอกาสให้ผู้หญิง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำชนชั้นในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นมากขึ้น
นางอังคณา กล่าวอีกว่า การสรรหาคนเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา น่าจะระบุไปเลยว่าจะให้มีผู้หญิงกี่คน ชายกี่คน ซึ่งเรื่องนี้ตนเคยเสนอให้กรรมาธิการการมีส่วนร่วมไปแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะท่านให้เหตุผล ว่า จะหาคนที่มีความเชี่ยวชาญบางทีก็หายาก อีกอย่างรัฐธรรมนูญไม่ควรกำหนดให้มีสัดสวนผู้หญิงที่คิดเป็นเบอร์เซ็นต์ แต่อยากให้เปลี่ยนเป็นเป็นคำว่าสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันแทน เพราะเมื่อบริหารประเทศไปแล้วความนิยมชมชอบในตัวหญิง-ชาย บางทีอาจเปลี่ยนแปลงได้
"อย่ามองผู้หญิงเป็นแค่แม่บ้าน ต้องเปิดโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เข้าร่วมในการตัดสินใจบ้าง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการขอร้องใคร แต่อยากให้ทำตามที่กฎหมายรับรอง ทั้งกฎหมายไทยและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิฯ ไม่ใช่รัฐบาลสักแต่ว่าลงนามอย่างเดียวต้องปฎิบัติด้วย และในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 82 ก็บอกว่ารับรองกติกาด้านสิทธิฯทุกฉบับ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่การขอร้อง" นางอังคณา กล่าว
นางอังคณา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนผู้หญิงสามัญ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคม อยากบอกพี่น้องที่เป็นผู้หญิง ว่า เราต้องกล้าเสนอตัวเอง กล้าเสนอแนวคิดสิงดีๆออกมา พร้อมวอนสังคมอย่ายึดติดอยู่ที่ความเป็นหญิงหรือชาย ให้มองคนที่คุณค่าของคนแล้วใช้ผู้หญิงให้มีประโยชน์ สังคมก็จะได้ประโยชน์ ปัจจุบันถ้ามองดูสังคมวันนี้กว่าครึ่งเป็นผู้หญิง ฉะนั้นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้เบื้องหลังทั้งหมดก็คือผู้หญิง
นางอังคณา กล่าวถึงปัญหาภาคใต้ เป็นเพราะรัฐบาลยังไม่เข้าใจเข้าถึงประชาชน การปกครองเป็นแบบการทหารนำการเมือง โดยอำนาจทุกอย่างยังอยู่ที่กองทับอยู่หรือที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) เพราะปัจจุบันยังได้ยินประชาชนในพื้นที่เรียกร้องขอความเป็นธรรม เรียกร้องด้านสิทธิมนุษย์ชน อยู่ ดังนั้นเมื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล อีกอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่สามารถบริหารงบประมาณหรือบริหารงานได้อย่างอิสระ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ กอ.รมน. ส่งผลให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ดังนั้นหากประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ต่อให้มีโครงการดีเลิศขนาดไหนก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
"การที่รัฐเอาเจ้าหน้าที่มาอบรมประชาชนในภาคใต้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ตอนนี้ก็หลายพันคนเข้าไปแล้ว ทำไมถึงยังเปลี่ยนทัศนคติไม่ได้ ตรงนี้ต้องดูว่าประชาชนที่เข้าอบรมเต็มใจให้ความร่วมมือหรือไม่ หรือเพียงเพราะมีงบประมาณเลยต้องเกณฑ์คนเข้าไป และรัฐบาลต้องตอบให้ได้ ว่า วิธีการเหล่านี้คือการเปลี่ยนเขาให้เป็นเราหรือป่าว ถ้าคิดจะเปลี่ยนเขาให้เป็นเรามันยาก ทำไมเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นตัวตนของเขา แล้วให้เขาเคารพในความเป็นตัวตนของเรา อย่างนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด" นางอังคณา กล่าว
นางมาลีรัตน์ กล่าวถึงกรณีมักมีคนพูดว่า ผู้หญิงมุสลิมไม่ค่อยอยากให้เปิดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ตนได้ลองเข้าไปคุยกับผู้หญิงมุสลิมในทางการเมือง ว่าจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร ผลปรากฏความเชื่อจากที่เคยมีว่าจะได้รับการต่อต้าน พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้หญิงมุสลิมใส่ใจการเมืองเข้าไปเป็นหัวหอกในการสมัครเลือกตั้งในหลายระดับ อย่างไรก็ตามเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง ตนเคยคุยกับผู้นำศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้นำศาสนาอิสลามบอกว่าตามคัมภีร์ ระบุ ให้หญิงชายสิทธิเท่าเทียมกันในทางการเมือง แต่เนื่องจากกฎหมายอิสลามมีข้อจำกัดบางอย่าง ประกอบกับจารีตประเพณีที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผู้ชายขึ้นเป็นผู้นำเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามในภาวะปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีผู้หญิงอยู่เป็นส่วนใหญ่ นับเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่ผู้หญิงจะได้แสดงออก ในการแก้ปัญหาภาคใต้ ดังนั้นอยากให้ประชาชนแยกแยะระหว่างหลักการอิสลาม กับจารีตประเพณี
"รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 114 ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทได้ดีมาก ที่ระบุให้ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา ต้องคำนึงถึงสัดส่วนหญิง-ชาย ทำให้มีจำนวนผู้หญิงมากกว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าไปมีบทบาททางการเมืองเพียง 12% ถือว่ามีน้อยมาก แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นก็ตามที" นางมาลีรัตน์ กล่าวว่า
นางมาลีรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาททางการเมืองน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการสมัครเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงไม่กล้าที่จะเข้าสู่เวทีการเมือง แต่มีหลายคนต้องถอยเพราะอำนาจเงิน เนื่องจากมีการใช้เงินซื้อเสียงแม้กระทั่งในระดับ อบต. อย่างไรก็ตามยอมรับว่าโอกาสทางกฎหมายมี แต่โอกาสความเสมอภาคในทางปฎิบัติยังไม่มี ยกตัวอย่างในประเทศอินเดีย มีการกำหนดสัดส่วนเจ้าหน้าที่ อบต . ที่ต้องมีทั้งหญิงและชายในสัดส่วน 1 /3 จะมีแต่ชายหรือหญิงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ตนก็พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้อยู่ แต่คงเป็นไปได้ยากเพราะประเทศไทยยึดหลักสิทธิความเท่าเทียมในการแข่งขัน
นางมาลีรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการชุมนุมพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2548 จนกระทั่ง 2551 จะมีผู้ชายน้อยลงขณะที่ผู้หญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆที่การต่อสู้ ต้องเจอแดด ความร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้หญิงกลัวมากที่สุดจะไม่ทนให้ผิวตัวเองเสีย แต่ก็ยังยืนหยัดชุมนุมต่อต้านความอยุติธรรม ไม่ยอมให้นักการเมืองคอร์รัปชั่น สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ความอดทน ความมุ่งมั่นได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ตนอยากให้ประชาชนลองคิดใหม่ทำการเมืองใหม่ ลองเอาผู้หญิงมาร่วมคิดนโยบายใหญ่ๆของประเทศบ้าง นอกจากนี้โครงสร้างของการเข้าสู่การเมือง ที่บอกให้สาขาพรรคเป็นผู้คัดคนตนอยากให้กระทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่ให้หัวหน้าพรรคเป็นคนชี้นิ้วว่าจะเลือกใคร เพราะต่อให้มีนโยบายดีอย่างไร ถ้าคนที่เข้ามาไม่รู้จักคำว่าเสมอภาค คุณธรรมหรือสิทธิมนุษย์ชน เข้ามาก็เปล่าประโยชน์
"ทุกคนไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ในวันนี้ถ้าคิดสิ่งดีเพื่อบ้านเมืองต้องกล้าที่จะสลัดสิ่งภาพลักษณ์เก่าๆ จะเห็นได้จาก 70 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับบ้านเรา ดังนั้นต้องกล้าลองทำสิงใหม่ๆ เพราะบ้านเมืองของเรา เราสามารถสร้างได้ด้วยมือของเราเอง" นางมาลีรัตน์ กล่าวว่า