xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” ตีปี๊บหนุน-ค้านถวายฎีกา แค่ตัวอย่างของความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง
“จาตุรนต์” ชี้ หนุน-ค้านถวายฎีกา แค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้นของความขัดแย้งในสังคมไทย แก้ต่างแทน “แม้ว” ตัวการความแตกแยก ยันใหญ่เกินกว่าที่กล่าวถึงบุคลากร เชื่อการแก้ไข รธน.ยังช่วยได้แม้ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แนะ รบ.เดินหน้าแก้ รธน.เพื่อความสมานฉันท์

วันนี้ (9 ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับความสมานฉันท์ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ถึงขั้นเป็นคำตอบสุดท้าย แต่เป็นคำตอบสำคัญคำตอบแรกๆ ถ้าหากเราจะเริ่มแก้วิกฤตการเมืองภายในประเทศ การจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ การพัฒนาสังคมเป็นอย่างราบรื่นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง ถ้าสังคมเรายังสาลวนสู้กันแต่ในประเด็นย่อยๆ โต้กัน แล้วใครเห็นประเด็นใดอย่างไรแล้วโต้แย้งหรือขัดแย้งกันโดยไม่ไปดูที่ต้นเหตุ ไม่ไปดูสิ่งที่เป็นตัวกำหนดเรื่องอื่นๆ ก็คือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ยากที่เราจะแก้ปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องที่เราไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่ยุติธรรม หรือความไม่เชื่อถือต่อระบบในแง่ของการปกครอง หรือระบบอำนวยความยุติธรรม เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาและเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมาดูกัน แต่การแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างเดียวก็ไม่พอสำหรับสังคมไทยยังต้องคิดเรื่องค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมือง คนในสังคมยังต้องศึกษาทำความเข้าใจในการหาทางที่เหมาะสมร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลโยนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา มองว่า เป็นการซื้อเวลาหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ประเด็นนี้อยากให้ฝ่ายเกี่ยวข้องมาคุยกัน ในฐานะที่ทำงานกับสถาบันการศึกษาพัฒนาประชาธิปไตยเห็นว่า เมื่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุม 2 สภา ให้ทางสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมา รัฐสภาก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษากันจนเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่อไป ในสังคมนี้ก็คงตั้งคำถามเหมือนกันว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะว่าอย่างไร ฝ่ายต่างๆ จะว่าอย่างไร ที่สำคัญ เราเป็นห่วงว่า ถ้าเราปล่อยให้สังคมพัลวันโต้แย้งในประเด็นต่างๆ แล้วก็ลืมความตั้งใจที่ดีเกิดขึ้นแล้ว รัฐสภาหารือกันแก้วิกฤตการเมือง และรัฐบาลก็รับลูกมาแล้ว ตั้งคณะกรรมการแล้ว ดังนั้น รัฐบาลและรัฐสภาถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่สามารถวิกฤตการเมืองไทย วิกฤตของประเทศไทย ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาต้องการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง แน่นอนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ดีกว่าโต้แย้งในประเด็นย่อยๆ ความจริงแล้วมันเป็นผลจากการที่กติกาไม่ถูกต้อง ระบบที่ใช้อยู่มีปัญหา

เมื่อถามว่า สังคมเวลานี้กับการถวายฎีกาดูเหมือนว่า เกิดการเผชิญหน้ากันขึ้นระหว่างผู้ที่ต้องการยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับผู้ที่คัดค้าน นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การถวายฎีกาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งกันแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ความเห็นที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ยังจะมีขึ้นอีกได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องมาพูดกัน คือ จะทำให้สังคมมีความสมานฉันท์ได้อย่างไร ทำให้สังคมพัฒนาไปอย่างราบรื่นได้เป็นเรื่องใหญ่ ความรู้เกี่ยวกับความสามานฉันท์ มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันของผู้ที่มีความเห็นต่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ทำไมสังคมไทยเลือกวิธีแก้ไขปัญหาด้วยการเผชิญหน้า มากกว่าแนวทางสมานฉันท์หรือด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในระหว่างที่เรายังไม่มีทางออกในแนวทางสมานฉันท์ ยังไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขกติกา เรื่องที่เป็นต้นเหตุปัญหาต่างๆ ความเห็นแตกต่าง ความขัดแย้งทางความคิด ก็จะขึ้นได้เรื่อยไป เรื่องการถวายฎีกาก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และยังจะมีเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีกความเห็นต่อรัฐบาล ความเห็นต่อตัวรัฐมนตรี การบริหาร ความเห็นที่แตกต่างจะมีได้เรื่อยๆ และอาจพัฒนานำไปสู่ความรุนแรง เพราะความพยายามสมานฉันท์บนหลักการที่ถูกต้องควรจะต้องได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า คิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังจะสามารถแก้วิกฤตประเทศได้อยู่ได้หรือไม่ เพราะเวลานี้ความขัดแย้งมันเกินเลยกว่าที่จะมานั่งคุยกันได้แล้ว นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาส่วนหนึ่งในความเป็นประชาธิปไตย อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความยุติธรรม ความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่ง เราถึงจุดที่จะต้องศึกษาหาความรู้การที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ และจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก ต้องเรียนรู้ในหลายประเทศที่เขาขัดแย้งกันมากกว่านี้ เขาก็มีวิธีหาทางออกของสังคมที่จะให้คนอยู่ร่วมกันได้ เขาทำกันมาแล้วทั้งนั้น แต่เราไม่สนใจเรื่องนี้เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการที่จะสนใจความสามานฉันท์ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้คนอยู่ร่วมกัน หนึ่งที่อยู่ในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นเท่ากับว่า เราปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินการกันไปเรื่อยๆ จนพัฒนานำไปสู่ความรุนแรง เมื่อไปถึงขั้นนั้นทุกคนก็จะพูดว่า ไม่อยากเห็นเลย แต่มันก็อาจจะสายไป จึงอยากให้ดึงเรื่องความสามานฉันท์แก้ที่ต้นเหตุความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ก็มีคนพูดว่า ต้นเหตุความขัดแย้งเวลานี้คือตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความเห็นต่อตัวท่านทักษิณก็เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยได้เลยเรื่องตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไปแล้ว มาได้ระยะหนึ่งแล้ว และนับวันจากนี้ไปถึงแม้จะพิสูจน์ยากความขัดแย้งของสังคมไทยเลยขั้นตอนตัวบุคคลไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น