xs
xsm
sm
md
lg

เป็นรองโฆษก ยากกว่า ส.ส. เปิดใจกระบอกเสียงรัฐบาล “ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ
หลังจากที่ “นายศุภรัตน์ ควรหา” จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ลาออกจากตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุม ครม.ได้มีความเห็นชอบแต่งตั้ง “นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ” อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ให้ดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีเสนอ

น.พ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ หรือ “หมอภูมินทร์” เกิดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2506 การศึกษา: แพทย์ศาสตร์บัณฑิต (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนตำบลหนองหญ้าลาด อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประสบการณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ ปี 2535-2538 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ปี 2539-2543

ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2540 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ปี 2544-2547 และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2546-2547 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) 2544-2546 และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ( จาตุรนต์ ฉายแสง ) ปี 2544-2547

“หมอภูมินทร์” เล่าว่า 1 เดือนกว่า หลังจากที่พรรคเพื่อแผ่นดินมีมติให้มานั่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา หากเปรียบตำแหน่ง ส.ส.กับตำแหน่งรองโฆษกฯที่ใกล้กับฝ่ายบริหารที่สุด

"ตำแหน่ง ส.ส.กับตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแตกต่างกันมาก “ส.ส. ลงพื้นที่พบกับประชาชนได้ตลอดเวลา ส.ส.มีโอกาสที่จะคิดเพื่อนำเสนอเรื่องในพื้นที่ในสภาฯ แต่ตำแหน่งรองโฆษกฯ เราต้องมารับฟังปัญหาและมาสรุปประเด็นก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน”

เราผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง เมื่อได้เป็นส.ส.ประเด็นไหนที่มีปัญหาในพื้นที่ เราก็พร้อมที่จะเข้าไปหา แต่มาเป็นรองโฆษกฯผมยอมรับว่า ประหม่าเมื่อเข้าไปฟังการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์แรก ยอมรับเลยว่าแม้จะอ่านวาระครม.มาทุกๆเรื่องและฟังวาระการประชุมในทุกเรื่อง แต่ความประหม่ายังมี คิดว่าจะฟังอย่างไร จดประเด็นอย่างไรเพื่อมาสรุปเป็นข่าวสารเพื่อให้สื่อมวลชนในทำเนียบรัฐบาลและประชาชนได้รับฟัง อย่างถูกต้องและแม่นยำ 

หลายคนแปลกใจกับอาการประหม่า !! เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับ คนที่เคยวาดลวดลายซักฟอกอดีต รมว.คลัง “ธารินทร์ นิมมานเหมินท์” จนโด่งดังมาแล้ว

เมื่อถามถึงมติ ครม.ปราบเซียนเช่นมติที่เป็นร่าง พ.ร.บ.หรือร่างกฎหมายของกระทรวงต่าง ๆที่จะได้อ่านก่อนวันประชุ่มเพียงคืนเดียว “หมอภูมินทร์” ชี้แจงว่า อย่างมติครม.เรื่องร่างกฎหมายสถานบริการ เพื่อขอใบอนุญาตการจัดตั้งสถานบริการประเภท (34) “ผมก็บอกสื่อไปว่า เป็นเพียงวาระของข้อกฎหมาย คืนวันนั้นผมก็ดูข่าวก็ยังมีการพูดถึงสถานบริการที่จะได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และใบอนุญาตของกระทรวงวัฒนธรรม มาดูข่าวตอนเช้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็พูดว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนของข้อมูลดังกล่าว

ตัวอย่างตรงนี้ มามีปัญหาเรื่องเด็กนั่งดริงค์ สาวคาราโอเกะ สื่อหลายสำนักก็ออกมาโจมตีว่า สำนักโฆษกชี้แจกไม่ชัดเจนบ้าง รัฐมนตรีชี้แจงไม่ชัดเจนมาก ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ผมจะต้องไปปรับปรุง

ในฐานะรองโฆษกฯ “หมอภูมินทร์” ได้รับการมอบหมายให้ร่วมประชุมกับคณะกรรมการระดับนโยบาย ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้านสังคมเป็นหลัก เช่น คณะกรรมการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมกรสิ่งแวดล้อมแห่ชาติ คณะกรรมการคนพิการแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อดูวาระงานที่น่าสนใจของกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อแผ่นดินกำกับอยู่ ซึ่งถือเป็นหน้าที่กระบอกเสียงของฝ่ายบริหาร

หมอภูมินทร์ ยังเชื่อว่า “เลือกตั้งครั้งหน้า หากลงพื้นที่ในฐานะรองโฆษกฯ และทำงานเพื่อชาวบ้านจริง ๆจังๆ ก็จะได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้ง นี้ยังมีแนวคิดที่จะประสานกับวิทยุชุมชนนำมติ ครม.ที่น่าสนใจหรือผลการประชุมคณะกรรมการฯชุดต่างๆ ที่มีโอกาส เข้าร่วมประชุมด้วยไปถ่ายทอดออกอาอากาศในวิทยุชุมชนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ให้ประชาชนได้รับฟัง เหมือนกับรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ที่อกอากาศทางช่อง 11 ทุกเช้าวันอาทิตย์ เหมือนกับรายการเจาะลึก ครม.ที่โฆษกรัฐบาลออกอากาศทุกวันอังคาร

แต่ที่สำคัญ “หมอภูมินทร์” ไม่ได้บอกว่า จะนั่งจัดรายการในห้องส่ง หรือ โฟนอิน เข้าสถานีเหมือนใครบางคน แต่สิ่งที่ “หมอภูมินทร์” น่าจะดีใจมากที่สุดตอนนี้ ก็คือยังสามารถทำงานเป็นรองโฆษกฯได้อีกนานหลังจากเสียงเฮ!! รอดยุบพรรค จากคดีใบแดง “นพดล พลซื่อ” มากกว่า

กำลังโหลดความคิดเห็น