xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ล.ปนัดดา” แนะรัฐยึด กม.เป็นหลัก ชี้ผู้หลงผิดถอนรายชื่อได้ทุกที่ว่าการอำเภอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
“พีระพันธุ์” ยันรัฐไม่ได้ละเลยการล่ารายชื่อ เหตุล่าช้าหวั่นถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง วอน ปชช.แยกแยะระหว่างความดีกับความผิด ด้าน “จรัส” จี้รัฐทำให้ปชช.เข้าใจหลักอภัยโทษ ย้ำแม้ไม่มีกฏหมายห้ามแต่ต้องคำนึงถึงกลักสากล ท้า “นช.แม้ว” เปิดใจกลับมาติดคุก ขณะที่ “ม.ล.ปนัดดา” แนะรัฐยึด กม.เป็นหลัก ชี้ชัดการถวายฎีกา กับการขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นคนละเรื่องกัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แถลงการณ์ผ่านรายการพิเศษ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

แถลงการณ์ผ่านรายการพิเศษ ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับการลงชื่อเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า เรื่องการยื่นรายชื่อถวายฎีกา ทางรัฐบาลไม่ได้นึ่งนอนใจในเรื่องนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ สื่อสารอธิบายมานานแล้ว แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากทำอะไรเกินเลยอาจถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมือง และตนเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ สื่อมวลชนและออกรายการเป็นระยะ ถึงขั้นตอนกฎหมายในการขอพระราชทานอภัยโทษตามหลักการยื่นฎีกา ซึ่งหากประชาชนติดตามข่าวสารจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญตอนนี้ เสื้อแดงระบุให้ชัดว่าต้องการทำอะไรกันแน่ เพราะตอนแรกบอกว่าจะยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่พอมีการแจ้งทำความเข้าใจในเรื่องหลักกฎหมาย ก็บอกว่าเป็นการร้องทุกข์ อย่างไรก็ดีจะเป็นการยื่นฎีกาขออภัยโทษหรือร้องทุกข์ ให้ดูที่เนื้อหาที่เขียน แม้จะเขียนว่าร้องทุกข์ แต่เนื้อหาเป็นเรื่องการกระทำความผิด ขอให้ลดโทษ มันก็ไม่เป็นร้องทุกข์ อีกอย่างถ้าเป็นเรื่องการกระทำความผิด ตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหลักสากลทั่วโลกจะมีแค่ 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลฎีกา หากศาลฎีกาบอกผิดก็จบ ทั้งนี้ถ้าหากคนที่ถูกศาลลงโทษ แล้วอาศัยความมีมวลชนเยอะ เอามวลชนมาเรียกร้องกดดันให้ปล่อยตัว หากศาลปล่อยตัวไป อย่างนี้ระบบศาลพังแน่

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก จึงมี ระบบพระราชทานอภัยโทษ อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎเกณฑ์ปัจจุบันแม้จะทรงมีอำนาจ แต่พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ ภายใต้กฎหมาย ซึ่งท่านก็ต้องดูก่อนว่าการจะใช้พระราชอำนาจนั้นกฎหมายได้วางกฎเกณฑ์กติกาอย่างไรไว้บ้าง ดังนี้หากจะขอพระราชทานอภัยโทษก็ต้องดำเนินตามที่กฎหมายกำหนดก่อน พระองค์ท่านถึงจะใช้พระราชอำนาจอภัยโทษให้ และที่ผ่านมาไม่เคยมีการอภัยโทษเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง เพราะเรายึดหลักว่า สถาบันพระมหากษัตริย์แม้จะทรงมีพระราชอำนาจ แต่ทรงอยู่เหนือการเมือง และการที่พระองค์ท่านจะอยู่เหนือการเมือง ประชาชนทุกคนต้องทำให้พระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง เพราะพระองค์ท่านไม่ได้อยู่เหนือการเมืองด้วยตัวของพระองค์ท่านเอง

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ประชาชนต้องแยกให้ออกระหว่างคุณงามความดี กับ การกระทำความผิด ยอมรับว่าการที่จะออกมาแสดงความเห็นใจหรือเป็นห่วงคนที่รักศรัทธา เป็นเรื่องที่ดี แต่หากเลยไปกว่าจุดนี้ เช่นรวมพลังที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ มันจะเป็นการสร้างความกดดันให้บ้านเมือง ซึ่งก็มีคำถามต่อไปว่ากดดันใคร หากกดดันรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หรือจะกดดันศาล คดีนี้ก็ไม่เกี่ยวกับศาลแล้ว เพราะศาลได้วินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว แล้วอย่างนี้กดดันใคร อีกอย่างการกดดันดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นความผิดไปได้ และการอภัยโทษก็ไม่จำเป็นต้องรวมคนเป็นหมื่นเป็นแสนแค่ญาติพี่น้องก็ขอได้แล้ว

“ชื่อว่าในส่วนลึกของทุกคนไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง ทุกคนต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข เพียงแต่เขาแสดงออกซึ่งความรักความศรัทธาบุคคลที่เขานับถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้แต่อย่าให้เลยไปถึงจุดที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง ดังนี้ทุกคนต้องรู้ว่าแค่ไหน เพียงใด และก็พอได้แล้ว หลังจากนั้นมาช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อตัวเรา ครอบครัว และลูกหลานเรา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายจรัสกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการล่ารายชื่อถวายฎีกาในตอนนี้ คือ ความคาดหวังของประชาชนทั้งคนที่สนับสนุนและคัดค้าน ว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้มาอย่างไร จะมองเป็นเรื่องที่ชอบตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ ดังนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจ อธิบายความมีเหตุผล หลักการให้สังคมเข้าใจ ว่า การตัดสินตามคำพิพากษาเพื่อลงโทษบุคคลใด ปกติจะสิ้นสุดโดยศาล แต่ก็มีในหลายประเทศที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่นอกเหนือไปกว่านั้นให้มีการขอพระราชทานอภัยโทษจากประมุขของประเทศได้ หากประเทศใดมีพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นผู้พระราชทานอภัยโทษ สำหรับประเทศที่มีประธานาธิบดี ประธานาธิบดีก็จะเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น แต่ต้องใช้ภายใต้กฎหมาย อย่าง ประเทศสเปน ที่เขียนไว้ให้มีอำนาจพระราชทานอภัยโทษได้ แต่ห้ามใช้พระราชอำนาจดังกล่าว เกี่ยวกับความผิดของนักการเมือง ความผิดฐานกบฏ หรือคอร์รับชัน ดังนี้ถ้าหากพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดี สามารถพระราชทานอภัยโทษให้กับนักการเมืองได้ การเมืองจะสามารถบีบให้องค์ประมุขทำอย่างไรก็ได้ ด้วยอำนาจทางการเมือง เมื่อสามารถบีบได้ก็แปลการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศจะขาดความเป็นธรรมทันที

“การถวายฎีกาไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่สาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เพราะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองกดดัน เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง ดังนี้ผู้มีหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้ควรวิเคราะห์ให้ดี ว่า สมควรรับหรือไม่ หากรับเข้าไปแล้วก็จะเกิดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาได้ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เขียนห้ามนักการเมืองขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องคำนึงถึงหลักสากล ตามประเทศต่างๆที่มีการปกครองคล้ายๆกับเราด้วย ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งต่างก็ห้ามอภัยโทษให้กับนักการเมือง”

นายจรัสกล่าวว่า หนทางสมานฉันท์ที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ไม่เกิดความขัดแย้ง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องกล้าเปิดใจกลับมาผ่านกระบวนการยุติธรรม เหมือนกับในหลายๆประเทศที่เจริญแล้ว นักการเมืองเขา กล้าที่จะเข้ารับโทษตามกระบวนการศาล ดังนี้หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมกลับมาติดคุก ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรม สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีให้กับประเทศ อีกอย่างการขอพระราชทานอภัยโทษ ในลักษณะแย้งศาลเช่นนี้ ไม่มีประเทศไหนทำกัน

“จำนวนคน ใช้วัดความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมไม่ได้ ตนเชื่อว่าฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวยังรักความสงบ และรู้ว่าไม่ชอบด้วยหลักการ ที่ต้องออกมาก็เพียงแค่แสดงให้รูสึกให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่จะไปใช้กำลังกดดันอย่างอื่นตนคิดว่าคงไม่มีใครทำ” นายจรัส กล่าว

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการยื่นรายชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ คือ การที่มีคนมารวมกันจำนวนมากอาจเกิดความไม่สงบ ดังนี้ข้าราชการฝ่ายปกครองต้องดูแลให้ดี ทั้งจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน รวมถึงประชาชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมด้วย รวมถึงอธิบายบอกกล่าวแก่เพื่อนร่วมชาติว่าอะไรถูก อะไรเป็นไปได้หรือไม่ได้

ม.ล.ปนัดดา กล่าวต่อว่า ข้าราชการต้องยึดระบบกฎหมายนิติรัฐ เป็นความศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอยู่รอดของแผ่นดิน ปัจจุบันการยื่นถวายฎีกาประชาชนเกิดความสับสน เพราะการถวายฎีกา กับ การขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นคนละเรื่องกัน หากย้อนกลับไปดูพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ จะพระราชทานในทุกๆครา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของแผนดิน หรือความปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนี้หากการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของกลุ่มเสื้อแดงในครั้งนี้ มีการพระราชทานวินิจฉัยลงมา ในขณะที่พระองค์ท่านประทับอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ จนมีความเป็นกลางตามพระราชสถานะนั้น จะอธิบายให้เพื่อนร่วมชาติอย่างไร ว่า พระราชสภานะดังกล่าวนั้น คงดำรงอยู่ได้หรือไม่

ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า การที่มีคนร่วมลงนามเพื่อถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี โดยถูกชี้นำ หรือไม่เข้าใจเอกสารนั้น นายนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งให้ทุกศาลาการจังหวัด ทุกที่ว่าการอำเภอ ตั้งโต๊ะสำหรับถอนชื่อครบคลุมทุกพื้นที่แล้ว โดยในวันพรุ่งนี้จะได้จำนวนคนที่มาขอถอนชื่อ ว่ามีเท่าไร ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ต้องการถอนรายชื่อ ต้องใช้มีเพียงแค่ เอกสารสำเนาบัตรประชาชน และต้องมาถอนชื่อด้วยตนเอง
นายจรัส สุวรรณมาลา
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น