คดีทุจริตจากทั่วประเทศไหลทะลักเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนล้นมือ ส่งผลให้หลายคดีต้องเข้าคิวรอนานจนสำนวนขาดอายุความไปก็มี และวันนี้เชื่อว่า หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามผลการไต่สวน 2 คดีดัง ที่กระทบความรู้สึกคนไทยทั้งประเทศ คือคดีปราสาทพระวิหารและคดี 7 ตุลาฯ ซึ่งกระแสข่าวว่าเดือนสิงหาคมนี้ ป.ป.ช.น่าจะวินิจฉัยชี้มูลได้ หลังใช้เวลาในการไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำสำนวน มานานกว่าครึ่งปี
สมรักษ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวนคดีปราสาทพระวิหารเปิดเผยต่อ “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ถึงขั้นตอนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.หลังรับคำร้องว่า ปกติการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช.เมื่อมีการร้องเรียนมา กรรมการ ป.ป.ช.จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย เสนอต่อกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าคำร้องอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของ ป.ป.ช.หรือไม่
หากเห็นว่าอยู่ในอำนาจ จะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา โดยให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมด 8 คน ไม่รวมประธาน ทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน โดยครั้งแรกจะสอบผู้ถูกกล่าวหาและพยานต่างๆ ถ้าสมควรแจ้งข้อกล่าวหาก็จะแจ้ง แต่ถ้าเบื้องต้นเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นการกล่าวอ้างลอยๆก็จะถูกเสนอให้ตกไป
สมรักษ์บอกว่า ในกรณีที่พยานหลักฐานเห็นว่ามีมูลที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้ ทาง ป.ป.ช.จะแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามาแก้ข้อกล่าวหาในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อสืบพยานทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาเรียบร้อย มีพยานหลักฐานพร้อม จะมีการรวบรวมสำนวน นำเข้าสู่ที่ประชุมชั้นอนุกรรมการไต่สวน เพื่อพิจารณาผิดหรือไม่ผิด หากไม่ผิดจะถูกเสนอให้ตกไป ถ้าผิดก็จะเสนอให้ชี้มูลในชั้นอนุกรรมการ
“จากนั้นจะนำสำนวนเข้าที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมาการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน โดยที่กรรมการจะตรวจดูสำนวนอีกครั้ง โดยอนุกรรมการและฝ่ายเจ้าหน้าที่จะคอยชี้แจงถึงขั้นตอนการรวมรวบสำนวนต่างๆที่เสนอมา หากกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เห็นว่าสำนวนยังไม่เรียบร้อย ยังมีข้อบกพร่อง ก็จะให้นำกลับไปแก้ไขหรือสืบพยานเพิ่มเติม นั่นคือคดีทั่วๆ ไป” สมรักษ์สาธยาย
และกล่าวอีกว่า หากเป็นคดีที่ค่อนข้างจะสำคัญ มีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมให้ความสนใจ เราจะไม่ตั้งคณะอนุกรรมการ แต่จะให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นคณะไต่สวน โดยตั้งกรรมการคนหนึ่ง เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน คอยดูแลการไต่สวน หากเชิญผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานมาไต่สวน ผู้รับผิดชอบสำเนาจะต้องแจ้งให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนมานั่งรับฟังการไต่สวน ทั้งนี้หากกรรมการคนไหนติดภารกิจ ไม่ต้องมาก็ได้
เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆเรียบร้อยจะต้องสรุปสำนวนส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ของ ป.ป.ช. เพื่อขอมติว่า ที่สอบมาครบถ้วนหรือยัง หากครบกรรมการ ป.ป.ช.จะนัดวัน แต่ถ้ากรรมการวินิจฉัย เห็นว่า ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ก็ต้องนำกลับไปไต่สวนเพิ่มเติม
สำหรับข้อกล่าวหารัฐมนตรีสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีออกมติ ครม.สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น สมรักษ์เปิดเผยว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบการไต่สวนและรวบรวมสำนวน เห็นว่าน่าจะครบแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมสำนวนตรวจสอบถ้อยคำ เดือนสิงหาคมนี้ จะสามารถส่งเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของ ป.ป.ช.ได้
“เรื่องนี้คนที่ยื่นคำร้องมาจากหลายทาง ทั้งจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งยื่นสมัยเป็นฝ่ายค้าน และจากบุคคลธรรมดา โดยอ้างความผิดทางกฎหมายหลายมาตรา ทั้งผิดรัฐธรรมนูญและความผิดทางอาญา”
พร้อมกับแย้มให้ฟังว่า “ป.ป.ช.ต้องพิจารณาแต่ละประเด็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ส่วนเรื่องการถอดถอนต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกกล่าวหา รู้หรือไม่ว่าเป็นการล้ำเส้นแดน รู้หรือไม่ว่ากระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดต้องดูพฤติกรรมด้วย จงใจหรือไม่ หากรู้แล้วยังทำอย่างนี้โดนแน่”
แม้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น จะอ้างว่า ทางฝ่ายกัมพูชาที่ลงนามยืนยัน ไม่เป็นการล้ำเขตแดน ทาง ป.ป.ช.ก็ต้องดูเหตุผลหลายๆด้านมาประกอบการพิจารณา รัฐมนตรีบางคนอ้างว่า ไม่ได้มาร่วมประชุม บ้างอ้างว่าเดินออกมาข้างนอก บ้างบอกว่าไม่ฟังผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการต่างประเทศ เจ้ากรมเขตแดน แล้วจะให้ฟังคนข้างนอกหรือไง ซึ่งทั้งหมด ป.ป.ช.ต้องดูพฤติการณ์เป็นหลักใหญ่”
สมรักษ์บอกด้วยว่า วันนี้กระแสสังคมอาจจะตั้งข้อสังเกตุว่าหลายๆคำร้อง ทำไม ป.ป.ช. ทำงานยืดเยื้อ ชักช้า โดยเฉพาะ 2 คดีที่สังคมเฝ้ารอ ตรงนี้อยากจะชี้แจงว่า ผู้ถูกกล่าวหามีจำนวนมาก เกี่ยวข้องข้อกฎหมายหลายมาตรา ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะคดีปราสาทพระวิหารที่มีผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ฉะนั้น ป.ป.ช.ต้องไต่สวนหลายด้านให้รอบครอบ
“เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุเหมือนคดี 7 ตุลาฯ ที่ในชั้นอนุกรรมการฯเห็นว่าสำนวนเพียงพอและส่งให้ที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.พิจารณา กลับเห็นว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้กรรมการห่วงเรื่อง “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ต้องสอบให้ครบเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อยู่บนหลักของตัวบทกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คดี เชื่อว่าน่าจะเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกันคือเดือนสิงหาคมนี้ หากที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช.เห็นว่าข้อมูลเพียงพอต่อการชี้มูลได้
ส่วนที่มีข้อสงสัยกันว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด รัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหา และมาเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้จะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น สมรักษ์ ยอมรับว่า ตรงนี้ยังเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ที่หาข้อสรุปไม่ได้ อาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ทั้งนี้ ในความเห็นของสมลักษณ์มีแนวว่า “ถ้าดูโดยเจตนาหากทำผิดก็น่าจะต้องพ้น แต่บังเอิญถ้อยคำในกฎหมาย ป.ป.ช.บอกว่าให้ผู้นั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่ อย่างนั้นหมายความว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ แต่บังเอิญรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ระบุว่าให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ถูกกล่าวหา หากตีความอย่างนั้นก็ต้องว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายแม่บท เป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมาย ป.ป.ช.เป็นเพียงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เขาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา”
สมรักษ์เพิ่มเติมว่า ไม่ต้องห่วงว่า ป.ป.ช.จะสอบเหนื่อย เราก็ดำเนินการฟ้องร้องไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากรัฐมนตรีถูกชี้มูลว่าผิด ก็ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา หากถูกถอดถอนก็ส่งให้ประธานสภาฯต่อไป
“ความจริงการเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง อย่ามายืมมือของ ป.ป.ช.หรือองค์กรที่ตรวจสอบอำนาจของรัฐไปใช้กับการเมืองเลย มันไม่ได้ วันนี้เขาคิดอย่างนั้น เวลานี้มีอะไร ก็ส่งมาที่ ป.ป.ช. แต่เราจะไม่ทำตามกระแส ไม่มีอคติกับใครทั้งสิ้น ต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย เราทำทุกรัฐบาล สมัยรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นรัฐมนตรี มีคนถามว่า รัฐบาลนี้ถูกกล่าวหากล้าทำไม เราทำ โดยดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากไม่ทำ และไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ป.ป.ช.จะถูกเล่นงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและต้องรับโทษมากกว่าเท่าตัว”
สมรักษ์ย้ำว่า การลงมติแต่ละครั้งของ ป.ป.ช.ไม่มีใครมาวิ่งล๊อบบี้ได้ เวลาอภิปรายกันเราเถียงกันมาก เพราะต่างคนต่างเหตุผล แต่เมื่อเสียงข้างมากออกมาอย่างไร ออกนอกห้องประชุมเราก็จบ ไม่โกรธกัน ถ้าไม่จบเรื่องก็ยาว กรรมการมีด้วยกัน 9 คน หากทะเลาะกันเอง สังคมที่ไหนที่จะเชื่อถือและหวังเป็นที่พึ่ง กรรมการ ป.ป.ช.ต้องให้ความมั่นใจและให้ความอบอุ่นกับผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ
“โชคดีที่สุดตั้งแต่นั่งทำงานตรงนี้ ไม่มีใครกล้ามาหยิบยื่น ข้อเสนอ สินบนต่างๆ เราทำงานแบบมีอุดมการณ์ มีอุดมคติ จึงไม่มีใครกล้า อุดมคติการทำงานคือ พยายามให้ความเป็นธรรม เมื่อลงมือทำงานต้องทำจิตใจให้เป็นกลาง แม้ว่าคนคนนั้นเราจะรู้จักสนิทสนมก็ตาม เกียรติศักดิ์ตรงนี้คนที่รู้จักและลูกศิษย์ และนักการเมืองหลายคนทราบดี”