เหตุการณ์ที่มีคนจำนวนหนึ่งกลุ้มรุมทำร้าย มุ่งหมายเอาชีวิตบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี และกรณีการใช้อาวุธสงครามนานาชนิดระดมยิงถล่มเพื่อสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และยังเป็นสื่อมวลชนคนสำคัญกันกลางเมืองหลวง ทั้งสองกรณีถือว่าโหดร้าย ป่าเถื่อนจนเหนือคำบรรยายแล้ว
ยิ่งมาเห็นพฤติกรรมและท่าทีขัดขวาง พยายามทำลายหลักฐานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีก็ยิ่งเห็นภาพสะท้อนความล้าหลังได้เป็นทวีคูณ และที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผู้บังคับบัญชาได้อย่างดี
แม้ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำกับดูแลคดีลอบสังหาร สนธิ จะโพล่งออกมาอย่างเหลืออดว่า “เจอตอ” รวมทั้งเปิดโปง “ไส้ศึก” เนื่องจากสังคมคาดเดาและรับรู้กันไปแล้วว่า กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังย่อมมีความเป็นมาไม่ธรรมดา
ต้องเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างแน่นอน และต้องมีอำนาจในระดับ “น่าสะพรึงกลัว” มีเครือข่ายควบคุมทั้งกองทัพและตำรวจถึงจะกล้าลงมือได้อย่าง “อุกอาจ” แบบนี้ได้
เพราะตลอดระยะเวลาผ่านมาทั้งก่อนและหลังจากออกหมายจับผู้ต้องหาในเบื้องต้นจำนวน 2 ราย ก็ต้องเจอกับการขัดขวาง ข่มขู่คุกคามพนักงานสอบสวนที่ทำคดีอย่างหนัก จนถึงกับทำให้บางคนต้องถอดใจก็มี
เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ของ ผู้ต้องหาดังกล่าวทั้งสองคนที่คนแรกมาจากทหารจากหน่วย “รบพิเศษ” และตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติดช่วยราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่สำคัญบุคคลทั้งสองก็ล้วนมีความใกล้ชิดกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี หากมองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมาภาพที่เห็นจนชินตาก็คือความ “หละหลวม” ของการควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาจนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม คุมบ่อน คุมซ่อง รับจ้างทวงหนี้ เป็นเด็กของ เสธ.นั่น หรือเสธ.คนนี้
ที่เห็นได้ชัดก็คือ “การยืมตัว” มาช่วยราชการ หรือการนำของกลางไปใช้ หลายครั้งก็ไม่ได้ดำเนินการไปตามระเบียบ แต่มักอาศัยความใกล้ชิดระหว่าง “นาย” กับ “ลูกน้อง” อยู่เสมอ ซึ่งกรณีของ ส.ต.ท.วรวุฒิ มุ่งสันติ ได้สะท้อนให้เห็นถึง ความ “มั่ว” ออกมาให้เห็นได้ดีที่สุด
เพราะในความเป็นจริงแล้วแม้ว่า ส.ต.ท.วรวุฒิ เป็นตำรวจในสังกัด บช.ปส.แต่กลับถูกดึงมาช่วยราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ และยังมีบทบาทสำคัญในหลายคดี แต่กลับกลายเป็นว่าได้รับการปฏิเสธอย่างหน้าตาเฉยจากผู้บังคับบัญชาจากหน่วยงานดังกล่าว และปฏิเสธความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันยังแสดงท่าทีไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบหาหลักฐานเพื่อสาวไปถึงผู้บงการเสียอีก
นอกเหนือจากนี้ หากพลิกดูประวัติก่อนเข้ามารับราชการก็ยังมีรายงานว่าเคยถูกไล่ออกจากบริษัทที่เกี่ยวกับการสื่อสารมาแล้ว
ส่วนในระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่กลายเป็นว่าถูกกันออกมานอกวง ไม่ให้ร่วมรับรู้ในเรื่องของคดีเลยแม้แต่น้อย มันก็มี “พิรุธ” อยู่แล้ว ยิ่งมาเห็นคำสั่งย้ายนายตำรวจที่เชี่ยวชาญในเรื่องการแกะรอยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ กลับต้นสังกัดในช่วงคดีกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ทำให้คดีสะดุด ก็ยิ่งทำให้ “น่าสงสัย” มากขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกัน เมื่อวกเข้าไปในกองทัพก็มักมีพฤติกรรมแปลกๆออกมาให้เห็นเป็นระยะนอกเหนือจากกรณีที่มีผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้องก่อเรื่องอื้อฉาว ทำผิดกฎหมายแล้ว เท่าที่เห็นจนชินตาก็คือ บทบาทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ระบุตำแหน่งว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก” มักออกมาพูดในลักษณะ “ชี้นำ” ในหลายๆเรื่องทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
อีกทั้งในหลายๆ ครั้งยังเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองเสียเอง โดยเป็นครูฝีกอาวุธให้กับกลุ่ม “คนเสื้อแดง” กลางสนามหลวงมาแล้ว
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ การออกมาทุกครั้งของ พล.ต.ขัตติยะ หรือ “เสธ.แดง” มักเป็นช่วงที่ผู้นำกองทัพถูกรุกไล่ หรือตกเป็นจำเลยสังคมแทบทุกครั้ง ล่าสุดได้ออกมาให้ความเห็นทำลายความน่าเชื่อถือของ พล.ต.อ.ธานี ว่าคดีลอบยิงสนธิจะเป็นมวยล้มและเอาผิดผู้ต้องหาไม่ได้
สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ นายทหารที่มีประวัติอื้อฉาว และมีแต่สร้างภาพลบให้กับกองทัพมาตลอด กลับแสดงความคิดเห็นให้สังคมสับสนอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่เคยจัดการอะไร ตรงกันข้ามยิ่งทำให้สงสัยได้ว่าเป็นการ “หรี่ตา” ไฟเขียวให้ออกมาหรือไม่
เมื่อประมวลภาพทั้งหลายทั้งปวงมาตั้งแต่ต้น เมื่อมองอีกด้านหนึ่งกรณีคดีของ สนธิ ลิ้มทองกุล มันได้สะท้อนภาพของความล้าหลัง ความด้อยพัฒนา และความป่าเถื่อนของระบบราชการบางแห่งที่ยังเน่าเฟะ ไม่มีจิตวิญญาณของการทำหน้าที่เพื่อประชาชน!!