“วิสุทธิ์” เข้าปฏิบัติหน้าที่ กกต.เน้นพนักงานต้องซื่อสัตย์สุจริต ประกาศพร้อมลงมติกรณี 44 ส.ส.ถือหุ้น ด้าน “สดศรี” แย้ม 23 ก.ค.นี้ อนุฯ สอบอาจขอขยายเวลาสอบเพิ่มเหตุหลักฐานยังได้ไม่ครบ จี้ ประธานวุฒิฯเร่งส่งสำนวน 16 ส.ว.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างบรรทัดฐานกฎหมาย แทนการส่งมาให้ กกต.ทบทวน
วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงาน กกต.ได้จัดพิธีต้อนรับ นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.คนใหม่อย่างเป็นทางการ โดย นายวิสุทธิ์ ได้มอบนโนบายแก่พนักงานโดยใจความตอนหนึ่ง ว่า อยากให้หน่วยงานเน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนใครจะเชียร์สีอะไร ก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนตัว แต่ต้องแยกแยะการทำงาน เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาความลับขององค์กรที่สำคัญที่สุด เพราะหน่วยงานนี้มีหน้าที่เอาคนเข้าและออกจากอำนาจ จึงต้องเป็นกลางอย่าหวั่นไหวเข้ากับคนนั้นคนนี้ ต้องทำตามหน้าที่ ส่วนที่ตนเคยโดนอะไรมาบ้างนั้น อยากให้ไปอ่านคำพิพากษาและถามคนที่รู้จักว่าตนเป็นคนอย่างไร
นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า สังคมทุกวันนี้ที่แตกแยก เพราะไม่ยอมจำแนกว่าอะไรคือความเห็น คำวิจารณ์และการทะเลาะ หากจำแนกไม่ได้ก็หาข้อสรุปไม่ได้ ปัญหาเวลานี้คือการที่เรามองว่าคนนั้นดีหรือไม่ดี ทั้งๆ ที่อาจจะเป็นวิญญูชนจอมปลอมก็ได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาให้ดี ถ้าเราต้องการให้ประเทศเป็นนิติรัฐ ก็ต้องส่งเสริมประชาธิปไตยและต้องไม่ปกครองโดยอารมณ์ของคน
นายวิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการพิจารณาคุณสมบัติ 44 ส.ส.ถือหุ้นกิจการสื่อและสัมปทานรัฐ ว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นสำนวนตนต้องขอเข้าร่วมประชุมและศึกษาก่อน แต่เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญ เขียนไว้อย่างไร ก็คงต้องพิจารณาไปตามนั้น หากกฎหมายเขียนเปิดช่องอะไรไว้ก็อาจจะสามารถตีความไปตามช่องนั้นได้ แต่หากไม่มีเปิดช่องไว้ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย ซึ่งการจะกล่าวหาว่า กกต.คนนั้นคนนี้ไม่ยืดหยุ่นตีความตามตัวอักษรคงไม่ได้ เพราะเราต้องทำทุกอย่างโดยสุจริต ส่วนที่มักมี ส.ว.ส.ส.โจมตีมาตรฐานของ กกต.นั้น ขอให้คำนึงว่าการที่เราจะเป็นประชาธิปไตยได้ต้องมีหลักเคารพในความสามารถเป็นอันดับแรก ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องแต่อยากให้เห็นค่าของคน และต้องมีเสรีภาพในความคิด แต่ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
ส่วนที่มีการมองว่า กกต.ตีความตามตัวบทมากเกินไป จึงมีปัญหา นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า การตีความกฎหมายเราไม่มีสิทธิ์ใส่ความรู้สึกส่วนตัวหรือทำตามใจตัวเองได้ กฎหมายเขียนอย่างไรมีช่องทางอย่างไรต้องตีความตามนั้นและตนจะยึดเป็นมาตรฐานในการทำงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นการประชุม กกต.นัดแรกที่ นายวิสุทธิ์ เข้าร่วม โดยมี นาย ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารการเลือกตั้งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เนื่องจากนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ติดภารกิจที่ประเทศเยอรมนี
ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงเรื่องการแบ่งงาน หลังนายวิสุทธิ์ กกต.ใหม่เข้ารับตำแหน่งและพร้อมดูแลงานด้านการมีส่วนร่วม ว่า งานด้านการมีส่วนร่วมยังว่างอยู่ ซึ่ง นายวิสุทธิ์ ก็ยังไม่ได้ระบุว่าต้องการจะดูแลงานในด้านใด แต่ นายวิสุทธิ์ เคยเป็น กกต.มาก่อน คงจะทราบงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหาก กกต.มาครบคงได้หารือกัน รวมถึงเรื่องที่นายวิสุทธิ์ต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยเพิ่มเติม แทนส่วนของนายสุเมธที่ต้องพ้นตำแหน่งไป หรือจะไม่เปลี่ยนก็ได้ซึ่งก็ต้องแล้วแต่นายวิสุทธิ์ เพราะขณะนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องของชั้นอนุกรรมการที่มักมีข่าวรั่ว
นางสดศรี กล่าวถึงการพิจารณา 44 ส.ส.ว่า ขณะนี้สำนวนยังไม่เสร็จ และในการประชุม กกต.วันนี้ (23 ก.ค.) อาจจะมีการขอขยายเวลาเพิ่มเติม เนื่องจากยังติดปัญหาผู้ถูกร้องจำนวน 6 คนยังไม่ได้มาชี้แจง นอกจากนี้ ยังไม่ได้รับเอกสารชี้แจงจากตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง กกต.ได้สั่งการไปว่าไม่ควรรอเขาส่งมาอย่างเดียวแต่ควรจะออกไปหาเอกสารด้วยตัวเอง นอกจากนี้เพื่อป้องกันปัญหาการยื้อคดีโดยไม่มาชี้แจงตามที่นัด ในอนาคตจำเป็นจะต้องระบุว่า หากไม่มีชี้แจงต้องให้ตัดพยานทิ้งไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์ของผู้ถูกร้องเอง
“สำหรับ ส.ส.ที่ กกต.ได้วินิจฉัยไปแล้วก็ขอให้ใจเย็นๆอย่าพึ่งรีบลาออก เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะมาประชด กกต.อีกทั้งยังทำให้ประเทศเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งซ่อม และในกรณีนี้ก็ยังต้องรอการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพราะ กกต.ก็เหมือนอัยการ ที่ไม่มีเครดิต จึงไม่กลัวว่าใครจะมาดิสเครดิต” นางสดศรี ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าว นายวิสุทธิ์ จะร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า เชื่อว่า หากมีการขยายเวลาออกไป นายวิสุทธิ์ คงมีเวลาในการพิจารณาสำนวน และหารือกันในที่ประชุม ทั้งนี้เชื่อว่าการที่ นายวิสุทธิ์ เป็นผู้ที่มาจากสายรัฐศาสตร์ก็ไม่น่ามีปัญหาในการทำงานหรือการวินิจฉัย ร่วมกับ กกต.คนอื่น
นางสดศรี กล่าวถึงกรณีที่ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา จะส่งคำวินิจฉัย 16 ส.ว.มาให้ กกต.ทบทวน ว่า ตอนนี้ กกต.ได้ส่งเอกสารไปยังประธานวุฒิฯแล้ว และคงจะไม่มาทบทวนแล้ว หากมี ส.ว.บางคนต้องการจะชี้แจงเพิ่มเติมก็น่าจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณา โดยตุลาการฯหลายคนก็เป็น ส.ส.ร.มาก่อน น่าจะทราบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 และ 48 เป็นอย่างดีว่า เป็นอย่างไร และคงจะพิจารณาลักษณะบริษัทและการถือหุ้นจำนวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องทั้งหมด ต่อไปนี้ก็อย่ามาร้องที่ กกต.อีก สุดท้ายก็อยู่ที่ศาลว่าจะตีความหมายอย่างแคบ หรือกว้างอย่างไรตาม กกต.อยากให้พิจารณาโดยเร็วเพราะต้องการความชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานของกฎหมายและจะได้ทำงานโดยง่ายขึ้น
“เพื่อความสบายใจของผู้ที่จะถูกถอดถอนทั้งของ ส.ว.และ ส.ส.รวมถึง กกต.ประธานวุฒิฯน่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วนที่ ส.ว.จะร้องต่อศาลปกครองก็เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่เรายืนยันว่าพิจารณาโดยชอบธรรม และ กกต.ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หากมีข้อมูลว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องก็สามารถก็เอาหลักฐานไปยื่นต่อศาลได้ และเชื่อว่า ศาลจะพิจารณาโดยยุติธรรม”