xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคม ร้องอาเซียนตั้งองค์กรสิทธิฯ เพิ่มความเข็งแกร่งให้อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมอาเซียนภูเก็ต คณะผู้ทำร่างขอบเขตตั้งองค์กรสิทธิฯ เตรียมขอความเห็นชอบสร้างองค์กรสิทธิฯ ที่เป็นอิสระจากประเทศสมาชิก พรุ่งนี้ เผย ภาคประชาคมร้องผู้นำอาเซียน ประสานงาน องค์กรสิทธิ-องค์กรคุ้มครองเด็ก สตรี-คุ้มครองคนงานพลัดถิ่น จับมือร่วมงานภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

วันนี้ (18 ก.ค.) องค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนมีมาตรการที่จริงจัง ในการให้อำนาจและสร้างกรอบทำงานในด้านสิทธิมนุษยชน ในที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 42 อยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งจะมีการหารือ และตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในอนาคต

ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) คณะทำงานอาวุโส (High Level Panel) ซึ่งมีหน้าที่ในการร่าง TOR ของการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN human rights body) จะเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อยื่นร่าง TOR ดังกล่าว ปัญหาคือว่า ร่าง TOR นี้จะได้พูดถึงประเด็นต่างๆ ที่องค์กรภาคประชาสังคมได้แสดงความกังวลไว้และร่างนี้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเห็นชอบหรือไม่ ภาคประชาสังคมทั่วโลกได้เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียน สร้างองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอิสระจากอำนาจรัฐของประเทศสมาชิกและสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง

นายศีนาพัน สไมโดไร ผู้ประสานงานของคณะทำงานด้านคนงานพลัดถิ่นในอาเซียน กล่าวว่า “เรายินดีที่จะมีการจัดตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าได้มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาต่างๆ ในระดับภูมิภาค สิ่งสำคัญอย่างแท้จริงคือสิ่งที่จะทำให้อาเซียนแข็งแกร่ง คือการมีองค์กรที่จะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็ง และมิใช่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพียงบางเรื่อง แต่ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างบูรณการ”

มาตรา 1.7 ในกฎบัตรอาเซียนระบุว่าวัตถุประสงค์ของอาเซียน คือ “เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลและการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยคำนึงถึงสิทธิและความรับผิดชอบของประเทศสมาชิกอาเซียน”

ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้มีการผสานการทำงานและร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างกลไกด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสามองค์กร ที่กำลังมีการจัดตั้งขึ้นโดยอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN human rights body) คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของสตรีและเด็ก และคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองคนงานพลัดถิ่น องค์กรทั้ง 3 นี้ ควรได้บูรณการเข้าด้วยกันภายใต้กรอบทำงานและกระบวนการตัดสินใจเดียวกันเพื่อให้มีสถานะเดียวกันภายใต้กรอบของอาเซียน

ทั้งนี้ ปัจจุบันการหารือในการจัดตั้งองค์การทั้งสามดำเนินเคียงคู่กันไป แต่องค์ประกอบต่างๆ บุคคลที่จะเป็นกรรมการ และระดับการตัดสินใจล้วนแตกต่างกันโดยไม่มีการประสานกันและไม่มีความพยายามที่จะให้องค์กรทั้ง 3 ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนเดียวกัน

นางสาวมิซุน วูเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายด้านสตรี กฎหมายและการพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมี 150 องค์กรในภูมิภาคเป็นสมาชิก กล่าวว่า “ควรยอมรับกันว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ติดมากับตัว สิทธิด้านต่างๆ นั้น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงควรถือว่าสิทธิด้านต่างๆ มีความสำคัญเท่าๆ กัน และไม่มีประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านใดเป็นเรื่องปลีกย่อย กลไกด้านสิทธิสำหรับสตรี เด็ก คนงานพลัดถิ่น คนพิการ ชนพื้นเมือง หรืออื่นๆ ไม่อาจแยกจากกรอบใหญ่ขององค์กรสิทธิมนุษยชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ (18 ก.ค.) ผู้แทนขององค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือต่อ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในฐานะประธานอาเซียน เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาข้อเสนอขององค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น