xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ สอน "เเม้ว"ถวายฎีกาฯไม่ถูกขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ ตั้งโต๊ะสอน “แม้ว” ขอถวายฎีกาฯไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายอาจสะดุด ชี้ไม่เข้าข่ายเพราะไม่ได้รับโทษอยู่ “สัก” เตือนขออภัยโทษคดีที่ดินรัชดาฯถ้าหลุดยังมีคดีอื่นจ่ออีกเพียบ ด้าน “ปริญญา”แนะเสื้อแดงไปอ่านข้อกฎหมายให้ดีก่อน ย้ำ รมต.ยุติธรรมมีสิทธิ์ชี้ขาดจะส่งเรื่องถวายความเห็นหรือไม่


วันนี้ ( 14 ก.ค. ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการพระราชทานอภัยโทษ” โดย มีวิทยากรอาทิ นายสัก กอแสงเรือง อดีตคณะกรรมการ กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

นายสัก กอแสงเรือง กล่าวว่า การทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายมีไว้เพื่อลดหย่อนและยกเว้นโทษ แต่ทั้งนี้ก็ต้องสำนึกในการกระทำเสียก่อน ซึ่งการยื่นทูลเกล้าฯสามารถทำได้ แต่ในส่วนของคำร้องที่ต้องมีการเขียนมาด้วยนั้น ต้องไม่มีการกล่าวถึงคำตัดสินของศาลเพราะคดีได้ถึงที่สุดแล้วและเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไม่ได้ ซึ่งถ้ามีการนำคำตัดสินของศาลไปเขียนในคำร้องอาจจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาลได้ ส่วนะเบียบในการยื่นถวายฎีกาช่องทางตามปกตินั้นถ้าต้องโทษอยู่ในเรือนจำก็สามารถที่จะยื่นเรื่องต่อเรือนจำหรือกับทางรัฐมนตรียุติธรรมที่มีอำนาจหน้าที่นี้โดยตรงได้

จากนั้นรัฐมนตรียุติธรรมจะเสนอเรื่องถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามการที่จะถวายความเห็นนั้นต้องมีข้อมูลชัดเจนที่จะสรุปชัดเจนถึงความผิดที่ได้กระทำ ความประพฤติ ซึ่งต้องนำมาประกอบกันว่าจะลดหย่อนโทษได้มากน้อยแค่ไหน โดยส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นนักโทษชั้นดีถึงจะเข้าข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

อดีตกรรมการ คตส. กล่าวต่อว่า การยื่นถวายฎีกาของประชาชน 1 ล้านชื่อ ที่จะยื่นให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร โดยส่วนของคำขอส่วนท้ายระบุว่า เพื่อขออภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องโทษคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2ปี ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่ให้ยกโทษดังกล่าว กรณีนี้จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่เพราะยังไม่ได้รับโทษและหลบหนีคดีอยู่ รวมไปถึงยังไม่เข้าสู่ระบบของกรมราชทัณฑ์ โดยรัฐมนตรียุติธรรมต้องสรุปความเห็นและข้อมูลต่อคณะองคมนตรีซึ่งถ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางข้อกฎหมายก็อาจเกิดการสะดุดได้

ทั้งนี้จึงไม่เป็นข้อยุติเสียทีว่าจะถวายความเห็นได้อย่างไรถึงแม้ว่าถึงแม้พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคดีที่ดินรัชดาฯแล้ว แต่ก็ยังมีคดีอีกหลายคดี อาทิ หมายจับในคดีหวยบนดิน คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ คดีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าสรรพสามิต ที่คดีอยู่กับทางป.ป.ช. และอัยการอีกหลายเรื่อง ซึ่งคดีอื่นๆก็ต้องดำเนินต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่ จึงต้องดูกันต่อไปว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาต่อสู้คดีในชั้นศาลหรือไม่

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า ในมาตรา 259 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ในส่วนของผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น สามารถที่จะนับใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้างซึ่งในทางปฏิบัติจะเป็น ภรรยา บุตร ญาติ จะเป็นไปตามข้อกฎหมายที่ระบุหรือไม่เพราะต้องมีประโยชน์เกี่ยวข้องในความผิด อีกทั้งคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วถ้าจะให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่ขอพระราชทานอภัยโทษได้นั้นคดีต้องถึงที่สุดหรือรับโทษแล้วเสียก่อนจึงจะขออภัยโทษได้

นายปริญญา กล่าวอีกว่า ส่วนในมาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็สามารถทำได้ ซึ่งรัฐมนตรียุติธรรมจะเป็นผู้ที่จะถวายความเห็น ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการยื่นขอถวายฎีกาทางช่องทางไหนสุดท้ายก็ต้องผ่านมาที่กระทรวงยุติธรรมเสียก่อน ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่ารัฐมนตรียุติธรรมจะต้องถวายความเห็นทุกเรื่องหรือไม่ ซึ่งสามารถตีความได้หลายอย่าง โดยรัฐมนตรีอาจจะเลือกที่จะถวายก็มีสิทธิ์ทำได้ เพราะว่าคดีนี้เป็นเรื่องการเมือง

ส่วนข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแบบเด็ดขาด ซึ่งตามหลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนจึงไม่ควรดึงมายุ่งเรื่องการเมือง ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนเข้าชื่อถวายเกินล้านชื่อหรือมากกว่านั้นก็สามารถทำได้เพราะอยู่ในขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตรงจุดนี้ผู้ที่ยื่นถวายฎีกาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจและศึกษาข้อกฏหมายดังกล่าวด้วย แต่ถึงที่สุดแล้วก็อยู่ที่รัฐมนตรียุติธรรมว่าจะพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่จะถวายเรื่องหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น