xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไม่สมราคาคุย ยื้อเชือด 44 ส.ส.สั่งอนุฯสอบเพิ่มขีดเส้น 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ  เลขาธิการกกต.
ที่ประชุม กกต.ยังไม่สรุปผลสอบคุณสมบัติ ส.ส.ถือหุ้นบริษัทคู่สัมปทานรัฐ อ้างข้อมูลยังไม่ครบถ้วน หวั่นมีมติอาจถูกครหา 2 มาตรฐาน สั่งอนุฯสอบไปหาหลักฐานเพิ่มให้แล้วเสร็จใน 15 วัน แต่ยันผลสอบเบื้องต้นมี 28 บริษัทแล้ว ที่เข้าข่ายห้าม ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้น ขณะเดียวกัน มีมติยุติสอบอดีต 17 ส.ส.ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ และลาออก ด้าน อนุฯสอบ 28 ส.ส.ปชป.ถือหุ้นขัด รธน.สรุปแล้ว เหลือทำรายงานชงประธาน กกต.เท่านั้น

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงว่า ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณารายงานการสอบสวนของคณะอนุกรรมการกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และ นายสมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ขอให้ กกต.ตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของ ส.ส.จำนวน 61 คน เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และถือครองหุ้นในบริษัที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ หรือมีลักษณะผูกขาดตัดตอนขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 265 โดยมีมติตามที่อนุกรรมการเสนอยุติการสอบสวนในส่วนอดีตส.ส.ที่ถูกร้อง 17 คน แยกเป็นเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจากเหตุยุบพรรค 11 คน คือ 1. นายบรรหาร ศิลปอาชา 2.น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา 3.นายเสมอกัน เที่ยงธรรม 4.นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ 5.นายกมล จิระพันธุ์วาณิช 6.นายวีรพล อดิเรกสาร 7.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 8.นายอิทธิ ศิริลัทธยากร 9.นายทรงศักดิ์ ทองศรี 10.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 11.ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ส่วนอีก 6 คนลาออกจากการเป็น ส.ส.และไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว คือ 1.นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ 2.นายสุธา ชันแสง 3.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 4.พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร 5.นางอุไรวรรณ เทียนทอง 6.นายพงศกร อรรณนพพร

ส่วนผู้ถูกร้องที่เหลือ และ กกต.ต้องพิจารณารวม 44 ราย แยกเป็น ส.ส.38 คน รัฐมนตรี 6 คนนั้น กกต.มีมติขยายเวลาการสอบสวน ให้อนุกรรมการอีก 15 วัน จากที่ขอ 20 วัน เพื่อให้ไปสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของผู้ถูกร้องที่แจ้งต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบวัตถุประสงค์การก่อตั้งของบริษัทที่ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้น จากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ และขอข้อมูลจากบริษัทที่ถูกระบุว่า ผู้ถูกร้องเข้าไปถือหุ้นอีก 72 บริษัทที่อนุกรรมการยังไม่ได้รับคำตอบ เพราะตามรายงานระบุว่า อนุกรรมการได้มีหนังสือสอบถามข้อมูลไปยังบริษัทที่มีการอ้างว่าผู้ถูกร้องถือหุ้นอยู่ 306 บริษัท และ ณ วันที่ 8 มิ.ย.ได้รับหนังสือชี้แจงกลับมาเพียง 234 บริษัท โดยในจำนวนนี้อนุกรรมการ เห็นว่า เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเข้าลักษณะต้องห้าม ส.ส.และ ส.ว.ไปถือครองหุ้น 28 บริษัท โดยในจำนวนนี้มีที่ซ้ำกับ 14 บริษัทที่ กกต.มีมติห้าม ส.ว.เข้าไปถือหุ้น

นอกจากนี้ ให้อนุกรรมการเปิดโอกาสให้กับผู้ถูกร้องมาชี้แจงเพิ่มเติม เนื่องจากในจำนวน ส.ส.44 คน มีผู้ชี้กลับมาเพียง 12 คน รวมทั้งไปตรวจสอบว่ารายชื่อผู้ถูกร้องที่ดำเนินการอยู่มีความซ้ำซ้อนกับรายชื่อ ส.ส.ที่อนุกรรมการสอบกรณี นายศุภชัย ใจสมุทร ยื่นร้องเข้ามาหรือไม่ และมีซ้ำซ้อนกับรายชื่อที่ นายเรืองไกร ร้อง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และภรรยาหรือไม่ อีกทั้งตรวจสอบว่าบริษัทที่อนุกรรมการมีมติว่าอาจเข้าข่ายต้องห้าม ส.ส.เข้าไปถือหุ้น มีความสอดคล้อง 14 บริษัทที่ กกต.มีมติห้าม ส.ว.เข้าไปถือครองหุ้นหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าหากมีการวินิจฉัยไปโดยไม่ตรวจสอบก็อาจกลายเป็นว่า กกต.2 มาตรฐานได้

อย่างไรก็ตาม ที่ให้อนุกรรมการไปสอบเพิ่มเติม ไม่ได้เป็นเพราะ กกต.กลัวเรื่องการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง หรือต้องการรอผลการสอบสวนของอนุกรรมการชุดที่กำลังสอบ นายกษิต และชุดที่สอบ ส.ส.ซึ่ง นายศุภชัย เป็นผู้ร้อง แม้ว่าอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะสอบสวนเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการทำรายงานเสนอต่อประธาน กกต.ก็ตาม เพราะถ้าการประชุม กกต.วานนี้ (23) อนุกรรมการสอบได้ข้อมูลครบถ้วนก็จะวินิจฉัยทันที

“ขอเรียนว่า ที่บอกว่า กกต.มีวาระซ้อนเร้น มีเจตนาจะกลั่นแกล้ง ยืนยันว่า จุดเริ่มเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ กกต.เราไม่ได้ไปขุดว่าคนนั้นคนนี้ถือหุ้นขัดมาตรา 48 และ 265 แต่มีผู้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ ไม่ได้จงใจต้องการไปดิสเครดิตใคร และจะเห็นว่า ผู้ที่ถูกร้องเป็น ส.ส.จากหลายพรรค ส.ว.ก็มีทั้ง ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้ง เมื่อมีการร้อง กกต.ก็ต้องพิจารณา โดยเห็นว่า มาตรา 265 เขียนไว้อย่างเคร่งครัดถ้อยคำชัดเจน ซึ่งก็ต้องเป็นไปอย่างที่ กกต.เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคนที่จะวางหลักได้ดีที่สุดก็จะเป็นรัฐธรรมนูญ”

นายสุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า กกต.ยังมติขยายเวลาให้อนุกรรมการสอบสวน กรณี นายเรืองไกร ร้องขอให้สอบสวนการกระทำอันเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.เพื่อไทย กรณีปกปิดการยื่นแสดงบัญชีหนี้สินและทรัพย์สินในการเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.และการพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยให้ขยายออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ 21 มิ.ย.ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 5 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ รมต.6 ราย ประกอบด้วย 1.นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พรรคชาติไทยพัฒนา 2.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย 4.นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน พรรคประชาธิปัตย์ 5.นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข พรรคภูมิใจไทย และ 6.นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

ส่วนที่เป็น ส.ส.38 ราย จากพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย 1.นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน 2.นายสมพล เกยุราพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน 3.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส. นนทบุรี 4.นายอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 5.นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ 6.นายเอี่ยม ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์ 7.นายไพโรจน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา 8.นายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี 9.นายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 10.นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง 11.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ 12.น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ 13.นายอิทธิเดช แก้วหลวง ส.ส.เชียงราย 14.นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย 15.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น 16.นางดวงแข อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น 17.นายภูมิ สาระผล ส.ส.ขอนแก่น 18.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี 19.นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. 20.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ส.ส.สัดส่วน 21.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน 22.นายอัสนี เชิดชัย ส.ส.สัดส่วน 23.พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน

พรรคเพื่อแผ่นดิน ประกอบด้วย 1.นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ 2.นายสาธิต เทพวงศ์ศิริรัตน์ ส.ส.สุริทร์ 3.นายวัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน 4.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.สัดส่วน 5.ม.ร.ว.กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน 6.นายประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา 7.นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน 8.นายอนุวัฒน์ วิเศษจินดาวัฒน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติไทยพัฒนา 1.นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาราช 1.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว 2.นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ 3.นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคภูมิใจไทย นายชัย ชิดชอบ ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา พรรคกิจสังคม นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ส.ส.พิษณุโลก

ทั้งนี้ รวม ส.ส.และ รมต.ที่ กกต.จะวินิจฉัยหากแยกเป็นพรรคแล้ว ของพรรคเพื่อไทยรวม 23 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 8 คน พรรคประชาราช 3 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ และกิจสังคม อย่างละ 1 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น