xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “นายกฯ” จะกล้าปลด “ปิยะพันธ์” พ้น ปธ.บอร์ด ขสมก.หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.และ ปธ.อนุกรรมการไต่สวนโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน จะสรุปเบื้องต้นในวันพรุ่งนี้(19 มิ.ย.)ว่า ใครต้องรับผิดชอบโครงการนี้บ้าง
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

ขณะนี้กลิ่นคาวทุจริตคอร์รัปชันของโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ไม่เพียงฉายแววจากค่าเช่า-ค่าซ่อมรถ หรือความไม่คงเส้นคงวาของที่มาและมูลค่าโครงการ แต่เริ่มมี “โครงการตัวอย่าง” ที่ส่อทุจริตมาก่อนหน้าแล้ว และอาจเป็นต้นแบบของโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน นั่นคือ “โครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน” เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไม่เพียง “สตง.”จะพบกลิ่นทุจริตในโครงการดังกล่าว แต่ยังน่าสนใจด้วยว่า “ตัวละคร” บางตัวที่ส่อว่ามีส่วนทำให้โครงการนั้นมีปัญหา กลับเป็นผู้ที่กำลังมีบทบาทในโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคันในขณะนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง “อนุฯ ป.ป.ช.” จะสรุปในวันพรุ่งนี้ (19 มิ.ย.) ว่า ใครต้องรับผิดชอบบ้างกรณีเช่ารถเมล์ยูโรทู

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

แม้โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้าน ระยะเวลา 10 ปี ของ ขสมก.ที่ผลักดันโดย นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย จะอยู่ระหว่าง ครม.มอบหมายให้บอร์ดของสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.) ไปศึกษา ว่า ควรใช้วิธีซื้อหรือเช่าจึงจะคุ้มค่ากว่ากัน แต่ดูท่าว่าเรื่องนี้เริ่มจะบานปลาย กลายเป็นการส่อทุจริตซ้ำรอยโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน มูลค่า 9 พันล้านแล้ว เพราะไม่เพียงรูปแบบการเช่ารถเมล์ของทั้ง 2 โครงการจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ตัวละครบางตัวที่มีบทบาทในโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู ยังมามีบทบาทอยู่ในโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีในขณะนี้ด้วย อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น!

ตัวละครที่ว่าก็คือ นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ที่ขณะนี้เป็นประธานบอร์ด ขสมก.ซึ่งมีบทบาทในโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน และเป็นประธานคณะกรรมการต่อรองราคาในโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คันเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าต่อรองท่าไหน ถึงทำให้รัฐเสียหายและขาดทุนหลายพันล้านบาท

การส่อทุจริตของ นายปิยะพันธ์ ตั้งแต่ครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่า เหตุใด นายปิยะพันธ์ จึงไม่ได้รับโทษทัณฑ์ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปว่า นายปิยะพันธ์ น่าจะมีความผิดในกรณีดังกล่าว หนำซ้ำ นายปิยะพันธ์ ยังได้เข้ามาดูแลโครงการเช่ารถเมล์เอ็นวีจี 4 พันคันในขณะนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ และมูลค่ามากกว่าโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทูหลายเท่านัก

ผู้ที่ออกมาจับพิรุธ นายปิยะพันธ์ ที่มีสายสัมพันธ์กับทั้ง 2 โครงการ ก็คือ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.โดยแฉว่า เมื่อปี 2547 สตง.สรุปผลตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐในการซื้อรถเมล์ยูโรทู ว่า โครงการเช่าและจ้างซ่อมบำรุงรักษารถเมล์ยูโรทู 500 คัน เมื่อปี 2544 ที่ นายปิยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกในขณะนั้นเป็นประธาน ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของ ขสมก.ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า นำไปสู่การทุจริต ซึ่ง สตง.สรุปว่า โครงการดังกล่าวมีความเสียหายเบื้องต้นกว่า 1.5 พันล้านบาท เมื่อรวมกับผลการดำเนินการหลังจากที่รถยูโรทูออกวิ่ง ซึ่งขาดทุนวันละ 3 พันบาทต่อคันต่อวัน ทำให้ ขสมก.ขาดทุนในระยะเวลา 10 ปีกว่า 5 พันล้านบาท สรุปแล้ว ขสมก.ได้รับความเสียหายจากโครงการดังกล่าวกว่า 7 พันล้านบาท

นายชาญชัย เผยอีกว่า จากกรณีดังกล่าว สตง.ได้แจ้งให้กระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจาก นายปิยะพันธ์ และพวกอีก 6 คน จำนวนกว่า 1.5 พันล้านบาท รวมทั้งให้ส่งเรื่องการขาดทุนของ ขสมก.จากโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทูให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แต่เมื่อเรื่องนี้ส่งให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับไม่ได้ดำเนินการใดใด ตามหนังสือ สตง.นอกจากนั้น ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ยังมีการแต่งตั้งให้ นายปิยะพันธ์ มาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก.อีกครั้ง และพยายามผลักดันโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ซึ่งมีลักษณะเดียวกับโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน

นายชาญชัย เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ว่า จะเรียกปลัดกระทรวงคมนาคม มาชี้แจงว่า เหตุใดจึงไม่มีการดำเนินคดีแพ่งและอาญากับนายปิยะพันธ์ในโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน แถมยังได้มาเป็นประธานบอร์ด ขสมก.และดูแลโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันอีก

“ผมเอาเรื่องเก่าว่า มันทำไมทำเหมือนเก่าเพราะอะไร แล้วทำไมเรื่องใหม่นี่ย้อนไปหาเรื่องเก่า ทำไมใช้รูปแบบเดิม หาข้อเท็จจริงให้ได้ และไปหาว่ามันมีเงินหล่นกันเท่าไหร่ อยากจะดูตัวเลขจากการคิดของเขา พวกนี้มันหาได้นี่ มีวิธีการตรวจหาได้ ก็ได้เจอว่า นี่เคยทำมาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ความผิด 1,500 กว่าล้าน เขาสั่งให้ฟ้องทางแพ่ง เอ๊ะ! ทำไมไม่จัดการกัน 2.ให้ดำเนินคดีทางอาญา เอ๊ะ! ทำไมยังกลับมาเป็นประธานบอร์ด (ขสมก.) ได้ ก็แสดงว่าไม่มีความผิดสิ 3.อายุความมันหมดหรือยัง อย่างนี้เราก็อยากให้กระทรวงคมนาคมมาชี้แจง โดยปลัดต้องมาชี้แจงเรื่องนี้ด้วย และที่เราอธิบายไปก็คือ เรื่องที่เราพูดไปทั้งหมด มันก็เกี่ยวโยงกันทั้ง 2 อัน อันที่กำลังเกิดปัจจุบัน รถเมล์ 4 พันคันนี่มันก็มีเรื่องผิดระเบียบข้อบังคับอีกน่ะ กฎหมายอีก ไม่ให้คุณทำ คุณก็ไปทำก่อน คือ มติ ครม.ใหญ่กว่า คุณจะเอาเรื่องคณะกรรมการทีโออาร์ไปหักล้างได้อีก และจะไปเปลี่ยนมติ ครม.โดยที่ไม่มีเหตุมีผลน่ะ”

พฤติกรรมส่อทุจริตในโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทูที่ นายปิยะพันธ์ ถูกระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น นอกจากถูก นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภา ออกมาแฉแล้ว ทางด้านกลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ก็ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.(เมื่อ 16 มิ.ย.) หลังทราบว่าทาง สตง.มีการส่งเรื่องทุจริตเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน ให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง โดยกลุ่ม 40 ส.ว.ขอให้อนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไต่สวนการทุจริตโครงการดังกล่าว ซึ่งมี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการ เร่งไต่สวนให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะหากล่าช้า อาจทำให้โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน สร้างความเสียหายให้รัฐซ้ำรอยโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทูได้

นายไพบูลย์ เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ว่า โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มีการลอกแบบมาจากการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คันอย่างชัดเจน ซึ่งตัวละครที่เกี่ยวข้องนอกจาก นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต แล้ว ก็ยังมี นายพีระพงศ์ อิศรภักดี ที่เป็นผู้อำนวยการ ขสมก.ในขณะนั้นด้วย

“การเช่ารถเมล์ 4 พันคันนั้น เป็นการลอกแบบมาจากการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน ทั้งเรื่องหลักการ มีการเช่า 10 ปี และมีค่ารถและค่าซ่อม และค่าซ่อมก็ใกล้เคียงกับรถ 4 พันคัน โดยค่ารถ 4 พันคันอ้างจากค่าซ่อมรถยูโรทู มาเป็นฐานราคากลาง แต่เราพบว่า รถเมล์ที่เช่า 500 คันดังกล่าวนั้น ไม่มีความคุ้มค่า ขาดทุนอย่างมากมาย และกระบวนการที่ทำสัญญาแต่แรกก็ไม่โปร่งใส ทำให้รัฐเสียหาย และเกี่ยวข้องกับผู้ที่ดำเนินการด้วย ในโครงการเช่ารถเมล์ 500 คันนั้น ก็เป็นคนที่เป็นประธานบอร์ดคนที่ผลักดันโครงการ 4 พันคันด้วย ก็เลยเห็นร่องรอยของเรื่องราว ว่า อาจจะเปิดประเด็นของเรื่องรถเมล์ 4 พันคันให้สมบูรณ์แล้ว ก็จะต้องย้อนกลับไปดูเรื่องการเช่ารถเมล์ 500 คันด้วย พอดีเราทราบว่า สตง.ตรวจสอบแล้ว และเรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช.เราจึงไปเร่งรัด ป.ป.ช.ว่า ขอให้เร่งตรวจเรื่องนี้ด้วย (ถาม-พอจะทราบตัวบุคคลที่ สตง.ชี้มูลและส่งไป ป.ป.ช.มั้ยว่ามีใครบ้าง?) ที่ชัดเจน คนที่ 1 ก็คือ คุณปิยะพันธ์ จัมปาสุต สตง.ชี้ว่า ตอนนั้นเป็นประธานกรรมการเปิดซองและต่อรองราคา ซึ่งเปิดซองและไปต่อรองราคา ทำให้ราคาแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็น 1,500 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 คือ ผอ.ขสมก.ในตอนนั้น ก็คือ คุณพีระพงศ์ อิศรภักดี ตอนนี้ก็ไปเกี่ยวโยงกับโฆษกพรรคภูมิใจไทย คุณศุภมาส (อิศรภักดี) ซึ่งเป็นพี่ชาย-น้องสาว”

นายไพบูลย์ เผยด้วยว่า อนุกรรมการ ป.ป.ช.จะสรุปผลสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คันในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง และว่า ส่วนตัวแล้ว เห็นว่า เมื่อ นายปิยะพันธ์ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ก็ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ประธานบอร์ด ขสมก.เพื่อไม่ให้โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันซ้ำรอยโครงการรถเมล์ยูโรทู นายไพบูลย์ ยังชี้ด้วยว่า แม้ขณะนี้ พ.ร.บ.ฮั้ว (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542) จะยังไม่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการส่อทุจริตในโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน ที่มีการอ้างว่าโครงการยังไม่ได้เซ็นสัญญา จึงยังไม่มีการทุจริต แต่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ค้นพบว่า สามารถเอาผิดวินัยผู้เกี่ยวข้องได้ โดยอาศัยมติ ครม.สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

“เรากำลังศึกษาอยู่ ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดราคากลาง หรือการเสนอราคากลาง มีกระบวนการที่ล็อกสเปก ที่ดูแล้วจะเอื้อประโยชน์เอกชนในโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันนั้น จะเป็นความผิดฐานอะไรได้บ้าง ฉะนั้นอยู่ระหว่างศึกษา แต่ใน พ.ร.บ.ผู้เสนอราคาของรัฐอะไรต่างๆ (พ.ร.บ.ฮั้ว) ก็ยังเอาผิดไม่ได้ระดับนี้ แต่เราอาจจะไปใช้ในโครงการข้างหน้า โดยการให้ ครม.มีมติในลักษณะเป็นคำสั่งของ ครม.หรือสำนักนายกฯ เพิ่มเติม ต้องถือว่าโครงการ แม้จะยังไม่ประมูล แต่มีพฤติกรรมที่กระทำดังกล่าวนั้น ก็อาจจะเป็นความผิด โดยเรามี ตอนนี้ไปค้นเจอ เป็นคำสั่งในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเรากำลังเอามาศึกษากันว่า ในคำสั่งดังกล่าวนั้น ก็สามารถลงโทษทางวินัยได้ ถ้าหากมีการกระทำที่ผิดพลาดในเรื่องการนำเสนอเกี่ยวกับการประกวดราคาอะไรพวกนี้ สามารถเอาผิดทางวินัยได้”

ทั้งนี้ ไม่เพียง นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ขสมก.จะส่อถูกลงโทษทางวินัยและอาจต้องพ้นจากตำแหน่งจากกรณีทุจริตโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู แต่ยังมีอีกเหตุปัจจัยที่อาจทำให้ นายปิยะพันธ์ ต้องถูกปลดพ้นตำแหน่งได้เช่นกัน เนื่องจากนายปิยะพันธ์ไม่ยอมเข้าชี้แจงความไม่ชอบมาพลของโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาฯ ทั้งที่กรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือเชิญหลายครั้งแล้ว โดย นายปิยะพันธ์ อ้างว่า ตนติดธุระถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (เช่น รายการ “อร่อยร้อยเส้นทาง”)

นายปิยะพันธ์ ยังออกอาการมั่นใจว่า ตัวเองจะไม่ถูกปลดจากประธานบอร์ด ขสมก.ด้วย เพราะตนเคยขอลาออกแล้ว แต่ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ไม่อนุมัติ “ที่ผ่านมา เคยยื่นหนังสือลาออกจากประธานบอร์ด ขสมก.กับนายโสภณแล้ว เนื่องจากเหนื่อยที่ต้องเป็นประธานบอร์ดอีก 2 แห่ง คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) แต่ นายโสภณ ไม่อนุมัติ โดยบอกว่าอยากให้ช่วยงานก่อน เพราะโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมาก แต่ยังมีหลายฝ่ายไม่เข้าใจ”

นายปิยะพันธ์ ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ได้บ่ายเบี่ยงหรือหลีกเลี่ยงการเข้าชี้แจงกรรมาธิการ ป.ป.ช.เพราะตนบอกแล้วว่าตนว่างวันไหนบ้าง ดังนั้น หากกรรมาธิการเชิญในวันที่ตนว่าง ก็พร้อมจะเข้าชี้แจง และว่า แม้ที่ผ่านมา ตนจะไม่ได้เข้าชี้แจง แต่ก็ได้ให้ นายชัยรัตน์ สงวนซื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเข้าชี้แจงแทนแล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภา มองว่า การหลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้าชี้แจงของนายปิยะพันธ์หลายครั้งหลายหน ส่อเจตนาชัดเจนว่าต้องการบ่ายเบี่ยงและท้าทายกรรมาธิการ ป.ป.ช.เพราะการเชิญ นายปิยะพันธ์ เข้าชี้แจง กรรมาธิการได้แจ้งล่วงหน้า แต่นายปิยะพันธ์ กลับอ้างว่า ติดถ่ายทำรายการโทรทัศน์ แถมยังจะให้กรรมาธิการเชิญในวันที่นายปิยะพันธ์ว่าง ซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติเช่นนั้น เพราะกรรมาธิการมีกำหนดวันประชุมชัดเจน

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภา เผยว่า เมื่อ นายปิยะพันธ์ มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงชัดเจน กรรมาธิการจึงมีมติส่งเรื่องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และ นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม พิจารณาว่า นายปิยะพันธ์ สมควรดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก.ต่อไปหรือไม่

“เจตนาของเขา (นายปิยะพันธ์) มันชัด จากการที่เขาพูดผ่านทางสื่อ และบอกวันในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วว่าสภาผู้แทนราษฎร เขาทำงานกันมีระบบอยู่แล้ว ไม่ใช่ระบบแบบประเภทเหวี่ยงแหไปด้วย จะประชุมวันไหนก็ได้ คิดจะเรียกมาประชุมบนห้องกาแฟก็ประชุม ซึ่งมันเป็นระบบระเบียบและเป็นกฎหมายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณปิยะพันธ์ 1.เคยเป็นถึงระดับสูงสุด คือ รองปลัดกระทรวง (คมนาคม) เคยถูกเรียกมาชี้แจงสภาอยู่แล้ว และเคยเข้ามาที่สภานี้เพื่อมาของบประมาณในฐานะที่อยู่เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพราะฉะนั้นเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรเขามีระเบียบกฎเกณฑ์ยังไง กฎหมายอะไร 2.บอกผ่านสื่อมาอย่างนี้ มันไม่ใช่ ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กร และเป็นการท้าทายด้วยว่า จะปลดเขาก็ปลดไป ซึ่งความจริงแล้ว เขามีหน้าที่ของเขาโดยตรง ถ้าเขาทำไม่ได้เขาก็ต้องลาออก 2.เขามีหน้าที่อยู่ ต้องมาให้ (ข้อมูล-ชี้แจง) ต้องยอมรับกติกา กระบวนการตรวจสอบของสภา ซึ่งมันเป็นหลักการอยู่แล้ว หน้าที่ต่างคนต่างทำ”

นายชาญชัย ยังบอกด้วยว่า หากภายใน 15 วันนี้ นายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคม ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่ดำเนินการใดใดกับนายปิยะพันธ์ กรรมาธิการฯ จะมีหนังสือให้นายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคมเข้าชี้แจงว่า เหตุใดจึงปล่อยให้ลูกน้องทำความเสียหายให้กับรัฐ แล้วไม่ลงโทษ

“ถ้านายกฯ ไม่จัดการ ก็จะเรียกรัฐมนตรีกับนายกฯ มาชี้แจงว่า ทำไมผู้บังคับบัญชาปล่อยให้ลูกน้องท่านทำให้เกิดความเสียหาย แล้วไม่ลงโทษ ก็ไม่ได้มีอะไรเหนือ เพียงแต่ตำแหน่งนายกฯ กับตำแหน่งปลัด ตำแหน่งผู้กำกับฯ ผู้ว่าฯ มันก็เป็นหัวหน้าส่วน ไล่กันไป แต่นายกฯ เป็นตำแหน่งการเมืองสูงสุดในฝ่ายบริหาร (ถาม-ถ้า ครม.ตั้งคุณปิยะพันธ์ แล้วเวลาจะปลดต้องให้ ครม.อนุมัติด้วยหรือเปล่า?) ปลดนี่ไม่ต้อง เขาลาออกเขาเอง นายกฯ อาจจะเรียกไปเตือน แล้วเขาไม่เชื่อ นายกฯ อาจจะแนะนำว่างั้นคุณลาออกไปเถอะ อย่าทำให้สภากับฝ่ายบริหารมีปัญหากันเลย เพราะนี่มันไปกระทบกระเทือนกับระบบสภา เพราะมันไม่ใช่ทะเลาะกันส่วนตัว นี่มันทะเลาะกับระบบเลย ระบบการตรวจสอบของกรรมาธิการ กมธ.มาจากทุกพรรค กมธ.มาจากสภาใหญ่ แล้วคุณปิยะพันธ์ท้าทายอย่างนี้ มันไม่ใช่เฉพาะตัวคุณปิยะพันธ์ มันเป็นการท้าทายระหว่างอำนาจ 2 อำนาจ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ”

คงต้องจับตาว่า ที่สุดแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล้าพอที่จะปลดนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต พ้นตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก.หรือไม่ เพราะถ้าจะหวังให้นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม เป็นคนปลด นายปิยะพันธ์ นั้น คงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนายโสภณออกมาปกป้อง นายปิยะพันธ์ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า การไม่เข้าชี้แจงกรรมาธิการ ป.ป.ช.ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะปลด นายปิยะพันธ์ พ้นตำแหน่งประธานบอร์ด ขสมก.เพราะนายปิยะพันธ์ติดภารกิจ และได้ส่งตัวแทนไปชี้แจงแทนแล้ว!?!
นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานบอร์ด ขสมก.และอดีตประธานคณะกรรมการเปิดซองและต่อรองราคาโครงการเช่ารถเมล์ยูโรทู 500 คัน
ต้องวัดใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ว่าจะปลดนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต พ้น ปธ.บอร์ด ขสมก.หรือไม่ หลังคณะ กมธ.ป.ป.ช.ของสภาฯ ทำหนังสือจี้ให้ปลด
 โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ชี้ การที่นายปิยะพันธ์ ไม่เข้าชี้แจงเรื่องเช่ารถเมล์ต่อ กมธ.ป.ป.ช.ของสภาฯ ไม่เป็นเหตุผลให้ต้องปลดพ้นตำแหน่ง ปธ.บอร์ด ขสมก.
นายปิยะพันธ์ ขึ้นศาลฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รอง ปธ.กรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาฯ ฐานหมิ่นประมาทกล่าวหาว่าตนมีส่วนร่วมทุจริตโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน(10 มิ.ย.)
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ยืนยัน มีหลักฐานผู้ที่เอี่ยวทุจริตโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน
ป้ายคัตเอ๊าท์ของพรรคภูมิใจไทย โฆษณาผลงานโครงการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน โดยนอกจากใช้งบของพรรคแล้ว ยังนำงบของ ขสมก.มาช่วยด้วย 3 ล้านบาท
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย นำทีมงานเดินแจกสมุดปกขาวให้ชาว กทม.โดยโฆษณาถึงประโยชน์และความคุ้มค่าของโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน(12 มิ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น