xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทอ.โอดขอรัฐซื้อเครื่องบินกริฟเฟ่น 12 ลำรวดไม่ได้ โดนหั่นงบมาตลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์
ผบ.ทอ.บ่นทำใจ ของบประมาณรัฐบาลซื้อเครื่องบินขับไล่กริฟเฟ่น 12 ลำรวด ไม่ได้ จำเป็นต้องแบ่งเฟสซื้อ ครั้งละ 6 ลำ ครวญกว่าจะจัดหาได้ กว่าจะได้เครื่อง ใช้เวลานาน กัดฟันพูดประชดไม่ได้ซื้อมาขับเล่น แต่ซื้อมาเพื่อป้องกันประเทศ เปรยเตรียมยืดอายุเครื่องบินหมดอายุ เพราะจำเป็นต้องใช้งานไปก่อน


วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึงกรณีที่กองทัพอากาศขอถอนการพิจารณาโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่กริฟเฟ่น จากประเทศสวีเดน ออกจากที่ประชุม ครม.ว่า การจัดหาเครื่องบินกริฟเฟ่นเป็นโครงการจัดหาระยะที่ 2 ซึ่งในการจัดหาระยะที่ 1 ได้ทำการจัดหาตั้งแต่ปี 2551-2555 แต่ด้วยความที่กรอบงบประมาณมีข้อจำกัดจึงไม่สามารถจัดหาครั้งเดียว 12 ลำได้ จึงต้องจัดหาในงบประมาณที่กองทัพอากาศมีอยู่ คือ ระยะเวลา 5 ปี จากนั้นกองทัพอากาศได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครบ 1 ฝูง ซึ่งการพิจารณาในกรอบงบประมาณปี 53 กองทัพอากาศจึงได้เสนอโครงการ เพื่อขอผูกพันงบประมาณปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ การจัดหาเครื่องบินกริฟเฟ่น ตั้งแต่ปี 2553-2557 และโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ทดแทนอีก 4 ลำ ภายใต้กรอบวงเงิน 5 พันล้านบาท โดยเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2511 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เสนอไปตั้งแต่การขอตั้งงบประมาณปี 2553 แต่ที่ประชุม ครม.ได้มีมติปรับลดงบประมาณ กองทัพอากาศและเหล่าทัพอื่นๆ ทำให้ต้องถูกปรับงบประมาณในส่วนที่ต้องผูกพันในโครงการที่กองทัพอากาศเสนอไป ส่วนเรื่องที่ยังค้างอยู่ในที่ประชุม ครม.ขณะนี้ถือเป็นวาระที่ยังค้างอยู่ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเหตุใดกองทัพอากาศจึงยังดื้อดึง ซึ่งในความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะหลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดกรอบงบประมาณและไม่ให้ผูกพันงบประมาณ กองทัพอากาศได้เห็นว่าถึงอย่างไรก็คงจัดหาภายในปี 2553 ไม่ได้ ดังนั้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายจึงขอถอนเรื่องดังกล่าวออกมาก่อน แต่ความจำเป็นเรื่องนี้ ยังคงเป็นความจำเป็นต่อไป ดังนั้น ในปี 2554 เป็นต้นไป คงจะมีการขอตั้งงบประมาณจัดซื้อให้ครบ 1 ฝูงบินอยู่ดี

พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวต่อว่า โครงการระยะแรกเซ็นสัญญาปี 2551 ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 35,400 ล้านบาท ไม่สามารถผูกพันได้ 5 ปี ดังนั้น จึงต้องเซ็นสัญญา 2 ระยะ โดยโครงการที่สอง ถึงกองทัพอากาศจะทำสัญญาในปี 2553 กว่าจะได้รับเครื่องอย่างเร็วที่สุดก็ปี 2556 ซึ่งขณะนี้เครื่องบินขับไล่ในภาคใต้มีแค่ 6 ลำเท่านั้น และเมื่อในปี 2553 จัดซื้อไม่ได้ ในปี 2554 ก็ต้องเสนอโครงการเข้าไปใหม่ เพื่อให้ได้เครื่องครบ ส่วน 6 เครื่องหลัง จะได้ Airborne early warning 1 ตัว ซึ่งสิ่งที่กองทัพอากาศมีความเป็นห่วงอยู่ คือ ความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจตอนนี้ซึ่งถือว่าต่ำมาก ดังนั้นถ้าหากเริ่มจัดซื้อในปี 2554 กว่าจะได้เครื่องก็ปี 2557 ความพร้อมในด้านต่างๆ ก็ยิ่งช้าลง ทั้งนี้ เครื่องบินและยุทโธปกรณ์จะผลิตก็เมื่อมีการสั่งไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 3 ปี แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้รัฐบาลไม่มีเงิน แต่ทางกองทัพและเหล่าทัพต่างๆ ยังคงมีความต้องการในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากมีความจำเป็น

“เปรียบเสมือนหากบ้านไม่มีรั้ว ก็คงรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้น จะเห็นว่าเมื่อเราสร้างบ้าน ก็ต้องสร้างรั้ว แต่หากรั้วเริ่มไม่แข็งแรงมันน่าเป็นห่วง และอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ต้องใช้เวลาจัดหานาน และไม่ใช่จัดหาจะพร้อมกันทันที เพราะต้องมีการฝึกบินอีก ประเด็นนี้จะทำให้เกิดความแตกต่าง คือ ความพร้อมด้านกำลังรบ ซึ่งเมื่ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่างกัน รบกันไม่ได้ ตนจึงพยายามเปรียบให้เห็นว่า หากเรามีโทรศัพท์มือถือ ที่ใช้พูดอย่างเดียว กับคนที่มีโทรศัพท์มือถือที่มีทั้งกล้อง หรือบลูทูธ จะเห็นขีดความสามารถที่แตกต่างกัน การรบก็เช่นเดียวกัน หากมีอุปกรณ์ที่ล้าสมัย ก็น่าเป็นห่วงว่าความพร้อมในการป้องกันประเทศรวมถึงอำนาจต่อรองคงจะเสียเปรียบคนอื่นเขา” พล.อ.อ.อิทธพร กล่าว

เมื่อถามว่า ได้มีการชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงความจำเป็นดังกล่าวหรือไม่ว่า ระหว่างการซื้อเครื่องบินกริฟเฟ่น กับรถเมลล์เอ็นจีวี อันไหนสำคัญกว่ากัน พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงทราบดี ซึ่งที่ผ่านมาทางกองทัพอากาศได้ทำสมุดปกขาวชี้แจงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณของกองทัพอากาศแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่างบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2541-2549 กองทัพไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มเลย เพราะการจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับจีดีพี ดังนั้น ทางกองทัพเคยได้มา 2% กว่าตลอด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และก็ลดลงเรื่อยๆ จนต่ำสุดเมื่อปี 2549 ที่เหลือเพียงแค่ 1.10% เท่านั้น เพราะฉะนั้น การดำรงสภาพกองทัพย่ำแย่มาก ในช่วงเวลา 9ปี กองทัพหยุดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พอถึงปี 2550 ที่พอจะเริ่มได้งบประมาณมาปรับปรุง ก็ต้องดำรงสภาพให้พร้อมรบ

สำหรับกรณีที่ภายในปีนี้จะมีการเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการเฟส 2 อีกครั้งหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า ตอนนี้กองทัพอากาศเข้าใจกติกาดี โดยในวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ คงจะมีการเริ่มพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่งสิ่งที่จะทำได้ คือ ให้กรรมาธิการได้เห็นถึงความจำเป็นต่างๆ โดยอาจจะขอแปรญัตติในส่วนที่ขาดจริงๆ ทั้งนี้ อาจจะได้เพิ่มมานิดหน่อย ดังนั้น ช่วงนี้คงเป็นเรื่องการบริหารงบประมาณให้สามารถดำรงความพร้อมรบไว้ได้ ส่วนในปีหน้าก็หวังว่ารัฐบาลคงพิจารณาให้ โดยกองทัพอากาศขอยืนยันว่าการจัดหาต้องทำให้ครบ 1 ฝูง เพราะความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจเราจะกำหนดไว้อย่างต่ำ 70% เพราะฉะนั้น จำนวนที่เรามีอยู่ประมาณ 3-4 เครื่องไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ ดังนั้น เครื่องบินขับไล่ เอฟ 5อี ที่เราใช้อยู่บินได้ 7.2 พัน ชม.แต่ตอนนี้ด้วยเทคโนโลยีก็สามารถปรับเพิ่มได้ แต่เราต้องดูความคุ้มค่า ถ้าไม่คุ้มค่าต้องปลดประจำการ เพราะถ้าเก็บไว้ต้องเสียงบประมาณในการดูแลสูงมาก

“เราจะคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ถึงเวลาเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งอายุของเครื่องบินที่มากขึ้นจะหาอะไหล่ได้ยาก แต่ประเด็นสำคัญ คือ เทคโนโลยี 30 ปีที่แล้วจะเอาไปสู้กับใครได้ ประเทศรอบบ้านอย่างมาเลเซีย จะได้เครื่องบินขับไล่ เจนเนเรชันที่ 4.5 อีก 6 ลำ ในปลายปีนี้ ซึ่งจะได้ครบ 18 ลำ จากเดิมที่มีประจำการอยู่ 12 ลำ โดยเขาสั่งซื้อกันทีละฝูง ของเราสั่งซื้อที 6 ลำ จะขออีก 6 ลำยังไม่ให้เลย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกน้อยใจ เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างนี้ เราก็เข้าใจ แต่การจัดหาเป็นความจำเป็นในการป้องกันประเทศ ไม่ได้ซื้อมาบินเล่น แต่เผอิญเครื่องบินมันแพง” พล.อ.อ.อิทธพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น