ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ให้คำร้องถอดถอน “รสนา” ตกไป หลัง “ส.ส.-ส.ว.” ยื่นถอดถอนกล่าวหากระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ทั้งป่วนรัฐสภา หวังล้มแถลงนโยบายรัฐบาล “สมชาย” 7 ต.ค.2551
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.แถลงผลการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้ถอดถอน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.ออกจากตำแหน่งว่า จากกรณีที่คณะ ส.ว.จำนวน 136 คน ยื่นคำร้องให้ถอดถอน น.ส.รสนา ออกจากตำแหน่ง โดยอ้างมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.จงใจไม่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพื่อรับฟังการชี้แจงนโยบายของรัฐบาลและกระทำการก่อกวน เพื่อให้รัฐบาลไม่สามารถแถลงนโยบายและไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ อีกทั้งนำบุคคลภายนอกเข้าไปในห้องประชุมรัฐสภาโดยมิชอบนั้น
ทั้งนี้ จากการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาและการไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุม ส.ส.พ.ศ.2551 ซึ่งนำมาใช้กับการประชุมของรัฐสภาในกรณีนี้โดยอนุโลม ประกอบถ้อยคำของกลุ่มงานนิติบัญญัติ สำนักการประชุมและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฟังได้ว่า การที่ น.ส.รสนา ลาการประชุมในวันที่ 7 ต.ค.2551 แต่ได้เดินทางไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในระหว่างที่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.และ ส.ว.ที่กระทำได้ แม้ น.ส.รสนา จะได้ลงชื่อมาประชุม แต่สามารถทำหนังสือแจ้งต่อประธารรัฐสภา เพื่อขออนุญาตลงชื่อมาประชุมในภายหลังได้ และการที่ น.ส.รสนา ลุกขึ้นยืนยกมือใช้สิทธิ์ประท้วงการแถลงนโยบายของ ครม.นั้นสามารถกระทำได้โดยชอบเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ นายสันติสุข โสภณสิริ ได้ติดตาม น.ส.รสนา เข้าไปในอาคารรัฐสภาและนั่งอยู่ในห้องประชุมรัฐสภานั้น ฟังได้ว่า นายสันติสุข มีบัตรอนุญาตสำหรับบุคคลที่สำนักเลขาธิการ ส.ว.ออกให้ จึงสามารถเข้าบริเวณรัฐสภาตามพื้นที่ที่กำหนดไว้ได้ แต่กรณีที่ นายสันติสุข เดินเข้าไปยังห้องประชุมรัฐสภา เนื่องจากเห็นภาพที่ น.ส.รสนา กำลังถูกรุมล้อมจากสมาชิกสภาบางส่วน ตรงนี้ไม่ปรากฏว่า น.ส.รสนา ได้รู้เห็นยินยอมให้ นายสันติสุข เข้าไป ดังนั้น การกระทำของ นายสันติสุข จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ อย่างใด นั้น เป็นหน้าที่ของประธานในที่ประชุมในขณะนั้น ป.ป.ช.ไม่อยู่ในฐานะที่จะวินิจฉัยการกระทำของ นายสันติสุข ในกรณีนี้ได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า น.ส.รสนา มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข้อกล่าวหาตามคำร้องขอให้ถอดถอนไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ส่งรายงานไปยังประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป