ผอ.ขสมก.ยังหัวหด กรรมาธิการสภาเชิญแจง ส่งผู้ช่วย ผอ.แจงแทน อ้างโครงการรถเมล์เอ็นจีวีจำเป็น เหตุมีหนี้สะสมถึง 5.7 หมื่นล้านบาท เชื่อช่วยลดภาระจ่ายค่า พนง.ทั้งอ้างลดต้นทุนพลังงาน 3 พันบาทต่อวัน เจอ “สมชาย” ซักเอางบโฆษณามาจากไหน ทั้งที่ขาดทุนมหาศาล จนใบ้กินอ้างจะให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงลายลักษณ์อักษรภายหลัง
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.30 น.คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มี นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พัน โดยเชิญ นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.มาชี้แจง แต่ นายพิเณศวร์ ได้มอบหมายให้ นายนเรศ บุญเปี่ยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก.มาชี้แจงแทน
นายนเรศ กล่าวว่า ขสมก.อยู่ในภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีหนี้สะสมจนถึง 1 เมษายน 2552 กว่า 57,000 ล้านบาท และรายได้ทั้งหมดกว่า 70 เปอร์เซ็นต์หายไป เพราะต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการขาดทุน จึงต้องปรับโครงสร้างด้วยการลดสัดส่วนพนักงาน โดยต้องหารถเมล์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาทดแทนการทำงานของพนักงาน ซึ่งโดยรถเมล์เอ็นจีวีมีคุณสมบัติที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาลดค่าใช้จ่ายในเรื่องพลังงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ไม่ต่ำกว่าคันละ 3 พันบาทต่อคันต่อวัน
จากนั้น นายสมชาย ซักถามว่า ภายหลังสังคมเกิดความสงสัยเกี่ยวกับการโฆษณาโครงการรถเมล์เอ็นจีวีที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์และตามสื่อต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดไป คิดว่าวันหนึ่งการขึ้นรถเมล์จะเสียค่าใช้จ่ายไม่เกินวันละ 30 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ อยากถามว่าการโฆษณาเช่นนี้ ขสมก.นำงบประมาณมาจากไหน เพราะโฆษณาหน้าหนึ่งมีราคา 6 แสนบาท และตอนนี้ ขสมก.อยู่ในภาวะขาดทุน รวมทั้งการโฆษณาดังกล่าวไม่พูดถึงข้อเสียเลย โดยเฉพาะการเออร์ลีรีไทร์พนักงาน ขสมก.จำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เงินของรัฐในการชดเชยให้กับพนักงาน อีกทั้งเกรงว่าการดำเนินการเช่ารถเมล์ในครั้งนี้ อาจจะซ้ำรอยกับโครงการทุจริตการเช่าซื้อรถเมล์ยูโรทู 500 คันหรือไม่ เพราะการดำเนินการมีความคล้ายคลึงกันที่ตอนแรกมีการเช่า พอตอนหลังเปลี่ยนเป็นให้ซื้อกลับคืน นอกจากนี้ อยากทราบข้อมูลว่าเหตุใดโครงการนี้จึงกำหนดตัวเลขรถเมล์ที่ 4,000 คัน รวมถึงมีการปรับรถตัวเลขค่าเช่ารถเมล์หลายครั้งก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี
โดย นายนเรศ ชี้แจงว่า การโฆษณาตามสื่อต่างๆ ตนไม่มีข้อมูลอยู่ในมือ ดังนั้น จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกรรมาธิการ แต่ทั้งนี้ เนื้อหาของโฆษณาที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายรถเมล์วันละ 30 บาทนั้น จะใช้ได้เฉพาะกับรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงรถเมล์บริการอื่นๆ ทำให้ นายสมชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ ขสมก.ควรปรับปรุงข้อความในการโฆษณาด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ทั้งนี้นายนเรศ กล่าวว่า ในส่วนเรื่องราคาและจำนวนรถเมล์นั้น ตนจะทำเอกสารชี้แจงต่อ กมธ.ภายหลังเช่นกัน
นายนเรศ กล่าวอีกว่า การเดินรถของรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ขสมก.ได้วางแผนวางโครงข่ายโดยครอบคลุมทั่วพื้นที่ตามความเหมาะสม และเปลี่ยนระบบการเดินรถจากเดิมซึ่งใช้ระบบรับจากจุดบริการ เป็นการบริการแบบกระจายไปสู่ชุมชน โดยแยกเส้นทางเป็น 145 เส้นทางโดยแยกเป็นเส้นทางสายหลักจำนวน 15 เส้นทาง สายรอง 44 เส้นทาง ทางด่วน 25 เส้นทาง วงกลม 55 เส้น เส้นทาง วงแหวนชั้นในชั้นนอก 6 เส้นทาง ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถเมล์เอ็นจีวีได้มากขึ้น