ส.ว.สรรหา ส่งข้อมูล ป.ป.ช.สอบเพิ่ม กกต.จัดหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 1 อาจเข้าข่าย พ.ร.บ. ป.ป.ช.มาตรา 103 ว่าด้วยการรับประโยชน์อื่นใด จนท.รัฐไปอบรมกับนิยามคำว่ารางวัลเพื่อการศึกษา
วันนี้ (11 มิ.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า กรณีที่ตนส่งหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.2550 มาตรา 10 (14) หรือไม่ ในกรณีที่ กกต.ได้จัดหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 1 ประจำปี 2552 เพื่ออบรมแก่บุคคลกลุ่มต่างโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาอบรม เนื่องจากได้รับงบประมาณมาจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง โดย กกต.จะเป็นผู้พิจารณารับสมัครผู้เข้าอบรม ซึ่งอาจเป็นการกำหนดในกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง ล่าสุดตนได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมถึง ป.ป.ช.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เข้ารับการอบรมดังกล่าว อาจขัด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.2542 มาตรา 103 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ได้แก่ นิยมคำว่า รางวัล หมายถึงสิ่งของที่ให้โดยความชอบหรือเพื่อให้เป็นสินน้ำใจ ส่วนคำว่าประโยชน์ พจนานุกรมไทยให้ความหมายว่า ผลที่ได้ตามต้องการ สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ และหนังสือที่กรมสรรพากรเคยตอบข้อหารือ เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า
นายเรืองไกรกล่าวว่า กรมสรรพากรเคยตอบว่า กรณีสถาบันฯ จัดการศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย โดยมีการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ารับการศึกษา และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมีสิทธิเข้าศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากสถาบันฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายเองนั้น ถือว่า เป็นรางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับการศึกษาได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(11) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ก็ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เพียงแค่ได้รับยกเว้นคำนวณเพื่อเสียภาษี
“ฉะนั้น รางวัลเพื่อการศึกษา ที่ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นตามความหมายของเงินได้พึงประเมินในประมวลรัษฎากร อาจจะมีนัยความหมายที่จะสอดคล้องกับคำว่าประโยชน์อื่นใด ตามบทบัญญัติในมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบฯ ว่าด้วย ป.ป.ช.2542 ได้จึงขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบประเด็นนี้” นายเรืองไกร กล่าว