“นายกฯ” เปิดสัมมนากระตุ้นเศรษฐกิจ นักธุรกิจช่วยอะไรได้ เผยเดือนหน้าการเมืองระอุ แก๊งป่วน เตรียมออกโรง หวังเผาบ้านเผาเมืองอีกรอบ ขู่ฟันนักธุรกิจหนุนม็อบป่วนเมือง พบหลักฐานเล่นงานทาง กม.แน่ อ้อนศาล รธน.ผ่าน พ.รก.เงินกู้ วางปฏิทินกู้เงินได้เดือนสิงหาฯ
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นักธุรกิจจะช่วยได้อะไร” เนื่องในโอกาสประชุมใหญ่สามัญของสมาคมส่งเสริมสถาบันบริษัทเอกชนไทย ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า สมาคมมีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาสู่ความยั่งยืนในการพัฒนา ปกติตนไปที่ไหนโดยเฉพาะงานสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหัวข้อ จะเป็นว่ารัฐบาลจะช่วยธุรกิจได้อย่างไร แต่วันนี้กลับกันให้ตนมาพูดว่าท่านทั้งหลายในฐานะนักธุรกิจจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร ยอมรับว่า ยากมากหัวข้อนี้ เพราะจริงๆ แล้วคำแนะนำที่ตนจะมีให้กับภาคธุรกิจ คงไม่ค่อยเหมาะสม เพราะตนเชื่อว่า บทบาทภาครัฐ กับภาคเอกชน แม้ว่าจะต้องเสริมและจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ถ้าคิดแทนกันเมื่อไหร่ก็จะยุ่ง พาเศรษฐกิจไปไม่รอด และต้องยอมรับว่า ปัญหาหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและหลายๆ ประเทศทั่วโลก มักจะเกิดจากวันที่รัฐบาลคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่านักธุรกิจในเรื่องการประกอบธุรกิจ และถ้าจะให้ภาคเอกชนคิดแทนภาครัฐมุมมองต่อการแก้ปัญหาต่างๆ อาจจะไม่สมบูรณ์ เพราะบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้เริ่มต้นปัญหามาจากเรา ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงไม่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงเหมือนปี 2540 แต่ผลกระทบก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้ปี 40 ในแง่การเติบโตหรือการหดตัวของเศรษฐกิจ ปีนี้เริ่มต้นมา 3 เดือนแรกติดลบไป 7.1 รัฐบาลตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้น จากตัวเลขที่รุนแรงเช่นนี้ ทั้งนี้ด้วยความที่เศรษฐกิจเราเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปิดเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมากการจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนปฏิเสธไม่ได้ต้องผูกกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของเรา ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างหลักประกันสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโดยในระยะเร่งด่วนที่สุดเราจะต้องหาทางกระตุ้นรายได้ หรือกระตุ้นการใช้จ่ายต่างประเทศให้มาชดเชยกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกโดยผ่านงบประมาณกลางปีกว่าแสนล้านบาท รวมถึงการใช้เงินนอกงบประมาณโดยเฉพาะในส่วนที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรกว่าแสนล้าน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้สถานการณ์เฉพาะหน้าอาจจะยังดูหนักโดยเฉพาะตัวเลขไตรมาสแรกเพิ่งปรากฏเป็นทางการ ขณะเดียวกันมีสัญญาณบางตัวที่ไปในทางที่ดีโดยเฉพาะถ้าเทียบตัวเลขเดือน ก.พ.-เม.ย.จำนวนคนที่ออกจากงานลดลงเรื่อยๆ แต่รัฐบาลก็ไม่ประมาทหรือชล่าใจ คาดว่าต้องดูอีกระยะหนึ่งให้มั่นใจว่า มันเป็นแนวโน้มจริงๆ และแม้ว่าจะมีความวุ่นวายในทางการเมืองช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร เราก็ไม่เคยเสียสมาธิที่จะดำเนินงานตามนโยบาย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วง 5-6 ปีก่อนหน้านี้ ที่พูดกันว่าเศรษฐกิจดี รัฐบาลแทบไม่ได้ใช้เงินลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสักเท่าไหร่นอกจากสนามบินที่เหลือแม้แต่ถนนหนทางอย่าว่าแต่สร้างใหม่ งบประมาณในการซ่อมแซมก็ถูกปรับลดไปเยอะฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะเอื้ออำนวยให้เราสามารถลดต้นทุนทางด้านระบบการขนส่งโลจิสติกทำให้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ การท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหวังว่าสัปดาห์หน้าศาลรัฐธรรมนูญจะกรุณาวินิจฉัยเรื่อง พ.ร.ก.การกู้เงินเรียบร้อยสัปดาห์ถัดไป รัฐสภาจะกรุณาผ่าน พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงินให้รัฐบาล หลังจากนั้น ยืนยันว่า เตรียมการที่จะให้การกู้เงินเข้าสู่ระบบการลงทุนเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป โครงการทุกโครงการเราจะทำเว็บไซต์ขึ้นมาเฉพาะ ให้คนติดตามความคืบหน้าและมีความโปร่งใสเพราะเรารู้ว่านี่คือเงินกู้และหลายคนทราบดีว่าเป็นภาระในอนาคตที่จะต้องชำระหนี้ คาดหวังว่าในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตรการรอบนี้จะสร้างงานได้ถึง 1.5-2 ล้านคน ใน 3 ปีข้างหน้าผลสุดท้ายจริงๆที่เราต้องการ คือ ความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจ การศึกษาสุขภาพ และอื่นๆในประเทศ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กลางเดือนหน้าที่จะเริ่มต้นกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับใหม่จะกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศไทยด้วยในทางเศรษฐกิจ จุดเน้นสำคัญของเราคือ เศรษฐกิจภาคการเกษตรจะต้องเติบโตอีกมากเพราะยืนยันเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก พร้อมกับการเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนจากภาคการเกษตรที่สำคัญในภูมิภาคด้วยดังนั้นต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเพราะวันนี้เรายังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะเน้นเพิ่มมูลค่าและการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนภาคบริการและการท่องเที่ยวจะมีการแข่งขันมากขึ้น โดยจะทบทวนดูจุดแข็ง จุดอ่อนต่างๆ มีแผนงานเชิงยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้นและผู้ที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงคือภาคธุรกิจเอกชน อย่างไรก็ตามตนจะยึดหลักการทำงาน คือ จะมีการปรึกษาหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนผู้เกี่ยวข้อง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ตนกำลังไล่คลี่คลายปัญหาเรื่องการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนเป็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากภาครัฐเมื่อตนเข้ามา นักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐบางเรื่องหลายปีแล้ว แต่ละกระทรวงมีความเห็นแตกต่างเอกชนปฏิบัติไม่ถูก โครงการก็เดินต่อไม่ได้ระยะหลังกฎระเบียบต่างๆก็มากมายและมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่ ศาลปกครองจนถึงดีเอสไอ ตรงนี้กำลังหาแนวทางคลี่คลาย ต่อไปนี้วิธีการทำงานของหน่วยงานราชการต้องประสานงานและคำนึงถึงหน่วยงานภาพรวมมากขึ้น ถ้ายังใช้แนวคิดว่า เป็นคนถือกฎหมายฉบับนี้ ดูแลเพียงเท่านี้ การประกอบการและการทำงานของภาคธุรกิจเอกชนจะยากลำบากมาก ทั้งนี้จะปรับปรุงอำนวยความสะดวกการติดต่อระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยจะมีหน่วยงานบริการกลางเข้ามาอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในการติดต่อประสานงานกับภาครัฐ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะพยายามสื่อสารให้ชัดเจนในเรื่องนโยบายและมาตรการโดยภาคเอกชนจะต้องแสวงโอกาสตื่นตัวในเรื่องการแข่งขันทั้งของประเทศไทย อาเซียน และประเทศอื่นๆในโลกและการทำงานทั้งหมดนี้จะทำได้ง่ายขึ้นถ้าเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศของเราได้ ตนจะตั้งใจทำตรงนี้ให้ดีที่สุด 5เดือนที่ผ่านมาที่เสียใจที่สุดคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พัทยาในเรื่องของการประชุมอาเซียนซึ่งตนทราบดีว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ กระทบต่อความเชื่อมั่นอย่างมาก และตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.เป็นต้นมา ตนพยายามทำทุกวิถีทางที่จะคืนสภาพความปกติให้บ้านเมืองและเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่อไป ตรงนี้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ความเชื่อมั่นในแง่พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งคำถามแต่ความเชื่อมั่น ที่มีต่อเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งต้องช่วยกันแก้ ผมไม่ได้บอกว่า เสถียรภาพทางการเมืองหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ผมหมายถึงเสถียรภาพทางการเมืองในความหมายที่เรามีระบบการเมืองที่เป็นที่ยอมรับในแง่ของวิธีการในการหาข้อยุติ เวลามีความคิดเห็นที่แตกต่างและการที่เขาจะต้องมีความมั่นใจระดับหนึ่งว่ากลไกของรัฐทำงานสามารถผลักดันนโยบายต่างๆได้ มีความแน่นอนระดับหนึ่ง ตรงนี้ภาคเอกชนสามารถช่วยสร้างบรรยากาศบ้านเมืองที่ดีได้ ตรงไหนที่จะมีส่วนร่วมกระตุ้นให้ประชาชนช่วยกันสร้างบรรยากาศบ้านเมืองที่ดีได้ก็จะมีน้ำหนัก ช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนเห็นว่า ถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย โอกาสที่เราจะฝันฝ่าวิกฤติไปได้จะค่อนข้างเร็ว จะทำให้เกิดกระแสประชาชน มาช่วยกันสนับสนุนรักษาบรรยากาศที่ดีของบ้านเมือง
“วันนี้อาจจะดูสงบ แต่ผมบอกกับท่านได้ว่า คนที่ไม่ต้องการให้สงบยังมีอยู่ และยังทำงานอยู่และเดือนหน้าจะเริ่มต้นเห็นความพยายามอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นผมอยากให้ท่านทั้งหลายไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือรัฐบาลแต่ช่วยเรียกร้องให้กับความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ ผมบอกมาตลอดว่า ใครไม่เห็นด้วย อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ผมหรือรัฐบาลทำได้เต็มที่ แต่อย่าทำผิดกฎหมาย และอย่าใช้ความรุนแรง เพราะจะกระทบกับภาพลักษณ์ของบ้านเมือง ถ้ามาประท้วงโดยสงบเรียบร้อยไม่มีปัญหา ไปอธิบายกับประเทศไหนอธิบายง่าย ดีไม่ดีบอกได้ด้วยว่า นั่นแหละ ยืนยันถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายเผาบ้าน เผาเมือง อันนี้ชี้แจงใครไม่ได้ ผมไม่อยากจะบอกว่าถ้ามีใครคิดที่จะไปสนับสนุน ให้คนทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ถ้าผมมีหลักฐานผมดำเนินตามกฎหมาย ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะทำอะไร อย่างไร ส่วนการช่วยสนับสนุนรัฐบาลนั้น ผมคิดว่าต้องอยู่บนความพอดีไม่ตื่นตระหนกแต่ไม่ประมาท เพราะหากตื่นตระหนกเศรษฐกิจลงแน่นอน แต่ถ้านักธุรกิจประมาทก็จะทำให้แก้ปัญหาผิดพลาด ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอะไรจะเปิดเผยอย่างโปร่งใสสามารถสอบถามได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจเสนอความเห็นและสอบถามนโยบายรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำงานร่วมกับรัฐบาลด้วยดี โดยที่ผ่านมาเห็นว่า รัฐบาลทำงานมากแต่อ่อนเรื่องการประชาสัมพันธ์ จึงเสนอให้รัฐบาลทำการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ และเป็นห่วงความวุ่นวายทางการเมืองว่าอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า พยายามทำความเข้าใจและรับฟังความเห็นทุกฝ่าย โดยล่าสุดนาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ก็ทำโครงการทุกวันเสาร์ อาทิตย์ เชิญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาแสดงความเห็น สะท้อนแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แม้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน บางคนจะมองว่า ไม่อยากรับฟังเรื่องความขัดแย้งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่การสร้างบรรยากาศให้กลับสู่ความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องที่ทุกฝายต้องร่วมมือกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจนายกฯในวันนี้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง จากนั้นเวลา 15.30น.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ รวมทั้งนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายบัณฑูร สุภัควณิช ผอ.สำนักงบประมาณ เข้าพบนายกฯเพื่อหารือเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของโครงการรัฐบาล โดยทั้งหมดออกจากตึกไทยคู่ฟ้าเวลา 17.20น. ต่อมาเวลา 17.45น.นายกฯเดินทางกลับบ้านพักย่านสุขุมวิท โดยวันนี้น่าสังเกตว่านายกฯไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆกับสื่อมวลชนเหมือนที่เคยปฏิบัติมาทุกวัน