“เพื่อไทย” แฉโครงการประมูลข้าวเริ่มส่งกลิ่น อ้างมีคนได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาประมูลข้าว แนะล้มประมูลก่อน จวกโกหกเรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพ ท้า รมต.ดีเบต ชมนายกฯโปร่งใสให้ตรวจสอบหลายครั้งเสนอแต่สงสัยคนนั่งที่ปรึกษาพฤติกรรมอาจเข้าข่ายผิดมาตรา 190
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 10.00 น. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีต รมว.พาณิชย์ แถลงถึงกรณีที่ ครม.เลื่อนพิจารณาการประมูลข้าวออกไปเป็นสัปดาห์หน้าว่า พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสงสัยการเร่งระบายข้าวของรัฐบาลที่อ้างว่าข้าวอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องระบายว่า จะเห็นได้ว่าข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวปี 2551/2552 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเร่งระบายออก เพราะยังมีข้าวปี 2547 และปี 2548 ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากนั้นจำเป็นที่จะต้องเร่งระบายออกก่อน สำหรับราคาข้าวในตลาดนั้น ขณะนี้ขายกันอยู่ที่ราคาตันละ 2.1 หมื่นบาท แต่ราคาประมูลในขณะนี้กลับอยู่ที่ราคาเพียง 1.4 หมื่นบาท ต่างกันถึง 7 พันบาท ใครได้ประโยชน์จากราคาส่วนต่างตรงนี้ ทำให้ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกร
นายวิรุฬกล่าวอีกว่า หากมีการประมูลใหม่รัฐบาลจะได้ราคาที่สูงกว่านี้ นอกจากนี้ ข้าวนาปีก็กำลังจะออกมาใหม่ หากรัฐบาลไม่เร่งระบายข้าวออกสู่ต่างประเทศแล้ว ข้าวก็จะอยู่ในประเทศเป็นส่วนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวตกต่ำเพราะข้าวล้นตลาดอย่างแน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ อย่าทำแล้วก็ต้องเวียนกลับมาทำใหม่อีก รวมทั้งให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกรเป็นหลัก ไม่ใช่ตกอยู่กับผู้ประกอบการหรือคนกลาง ดังนั้นพรรคเพื่อไทยขอเสนอให้มีการประมูลกันใหม่ รวมทั้งขอให้เช็คสต็อกด้วยว่า ข้าวทั้งหมดมีคุณภาพจริงอย่างที่รัฐมนตรีพูดหรือไม่ หรือมีเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น
ด้าน นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลบอกว่าต้องเร่งระบายข้าวออกเพราะกลัวว่าจะเสื่อมคุณภาพนั้นเป็นการพูดเท็จ นอกจากนี้ การระบายข้าวออกนั้นก็มีอยู่หลายวิธี โดยเอากลไกตลาดมาช่วยพยุง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเพื่อรับจำนำมากมาย ทั้งนี้ ข้าวที่อยู่ในสต็อกนั้น 90% เป็นข้าวคุณภาพดี เป็นข้าวฤดูกาล 2551/2552 ดังนั้นหากมีการทยอยระบายออกทีละ 3 แสนตันหรือเปิดขายโดยตรงให้กับผู้ส่งออกเดือนละ 3 แสนตันรัฐบาลก็จะไม่เสียหายมาก แต่หากรัฐบาลยังทำลายตลาดแบบนี้ต่อไป ให้รัฐบาลที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีความรู้มาดำเนินการต่อไป ประเทศจะยิ่งเสียหายมาก
นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า อย่าไปเชื่อข้าราชการประจำให้มากนัก เพราะขณะนี้ตนได้ข้อมูลมาจากข้าราชการคนเสื้อแดงด้วยว่า ในวันที่ 6 พ.ค.จะมีการเปิดซองประมูลว่าใครได้ แต่กลับมีการรู้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่าใครที่จะประมูลได้ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.แล้ว ตรงนี้เป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ เพราะมีความไม่โปร่งใสอย่างแน่นอน ดังนั้น หากยังดำเนินการต่อไปรัฐบาลจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นคนกลางในการเจรจานั้น ตนวิตกว่าจะไม่ใช่การประนีประนอมผลประโยชน์ของชาติ แต่อาจจะมีการต่อรองกันภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า ดังนั้นยืนยันว่าจะเดินหน้าตรวจสอบต่อไป และขอท้ารัฐบาลให้ออกโทรทัศน์ดีเบตเรื่องนี้กับตนก็ได้
ขณะที่ นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการประมูลข้าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ได้มาจากตัวชาวนาหรือโรงสี แต่เป็นปัญหาของรัฐบาลกับกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องราคาประมูลข้าวซึ่งน่าสงสัยว่ามีผู้ให้ราคาสูงสุดถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ต่ำสุด 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ที่ชนะการประมูลกลับเป็นผู้ที่ให้ราคา 1.4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลอ้างว่าคนที่ให้ราคาสูงสุดนั้นอยู่ในบัญชีดำ ทั้งนี้ การทำงานที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรีนั้นตนขอชื่นชมว่า ต้องการให้เกิดความโปรงใสจึงให้มีการตรวจสอบหลายครั้ง แต่อยากให้พิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น จึงควรตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ด้วย
นายประเกียรติกล่าวอีกว่า หลายฝ่ายสงสัยว่าผู้ที่มีอำนาจเป็นผู้เคาะว่าจะขายหรือไม่ขายข้าวนั้นคือคณะรัฐมนตรีตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งออกและนำเข้ากำหนดไว้ แต่รัฐบาลชุดนี้กลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นผู้กำหนดตัดสินว่าจะขายหรือไม่ขายข้าว จึงอยากให้รัฐบาลเปิดใจกว้างให้บุคคลของพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะเป็นตนหรือนายวิรุฬเข้าไปเป็นที่ปรึกษาก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ขาดทุนน้อยลง เพราะนโยบายที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้นก็เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยทำไว้ก่อน แต่เราไม่ได้ทำแบบกำปั้นทุบดินเหมือนรัฐบาลนี้ จนส่งผลเสียให้ขาดทุนเป็นจำนวนมาก
นายประเกียรติกล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสต็อกข้าวที่ผ่านการประมูลไปแล้วด้วยว่า มีการส่งออกจริงหรือไม่ เนื่องจากทราบว่าข้าวที่ประมูลไปแล้วถูกนำไปเก็บไว้ โดยเปลี่ยนนำข้าวใหม่ออกมาประมูลอีกครั้งแล้วเอาข้าวเก่าไปขายแทน นอกจากนี้ อยากถามรัฐบาลด้วยว่าเหตุใดจึงไม่เร่งรีบที่จะนำข้าวค้างสต๊อกของปี 2544/2545 และปี 2549/2550 ที่เหลืออยู่ประมาณ 4.5 หมื่นตันออกมาขายก่อน แต่กลับนำข้าวใหม่ปี 2551/2552 ออกมาขายก่อน ตรงนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร รวมทั้งขั้นตอนที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เรื่องการประมูลข้าวนั้น เข้าข่ายว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาตามมาตรา 190 ก่อนหรือไม่