xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.รับใช้การเมือง-บทเรียนที่ต้องจดจำ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
มติล่าสุดของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการคลังที่ไล่ออก ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล จากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง เนื่องจากกระทำผิดวินัยร้ายแรง ทำให้ต้องปิดฉากชีวิตราชการอย่างเจ็บปวดที่สุด

จากบทลงโทษดังกล่าวยังส่งผลให้ไม่ได้รับบำนาญอีกด้วย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับเป็น “ตราบาป” ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตสำหรับอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ไต่เต้ามาจนถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง มีเส้นทางที่เคยรุ่งโรจน์แล้วพลิกผันหักมุมอย่างน่าเศร้า

หากสอบถามจากทุกวงการไม่มีใครไม่ยอมรับ ปลัดกระทรวงการคลังคนนี้ เพราะเมื่อพลิกดูประวัติการเรียน การทำงาน ถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ในระดับเกรดเอหาคนมาเทียบเทียมยาก

เริ่มจากประวัติการศึกษา แม้ว่าเรียนหนังสือชั้นประถมโรงเรียนวัดธรรมดาในจังหวัดอุทัยธานี เป็นเด็กบ้านนอกที่น่าภาคภูมิใจ เป็นลูกชาวบ้านคนหนึ่งที่หัวดี จากนั้นก็ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เมื่อกลับมาก็เข้ารับราชการและไต่เต้าก้าวหน้ามาเรื่อยๆ อาทิ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน กรมสรรพากรในปี 2532 จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในปี 2543 และปี 2547 เป็นปลัดกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ดีการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญของ ศุภรัตน์ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอำนาจการเมือง โดยเฉพาะอำนาจของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งแม้ว่าหากจะว่าไปแล้วความสัมพันธ์ดังกล่าวจะออกมาในลักษณะ “รับใช้” มากกว่า

หากจะชี้ให้เห็นก็จะเริ่มตั้งแต่ในยุคที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรเรื่อยมา ซึ่งความผิดที่ถูกระบุเอาไว้ก็เป็นความผิดจากการแต่งตั้งระดับรองอธิบดีกรมสรรพากร 4 คน และเกี่ยวโยงกับกรณีความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีของครอบครัว ชินวัตร-ดามาพงษ์ ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และ พจมาน ณ ป้อมเพชร(ดามาพงษ์)

ขณะเดียวกันถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะสังเกตเห็นว่าในยุคนั้นซึ่งเป็นยุคที่ นช.ทักษิณ เรืองอำนาจ ใหญ่คับฟ้า “ชี้นกเป็นไม้” คงไม่มีใครคิดว่าจะมีชะตากรรมเช่นวันนี้ ต้องถูกศาลตัดสินจำคุก ต้องหลบหนีหมายจับ ระเหเร่ร่อนในต่างแดน

นอกจากนี้เมื่อกล่าวถึงข้าราชการที่รับใช้อำนาจการเมืองอย่างสุดลิ่ม เพื่อแลกกับตำแหน่งแห่งที่แล้วในที่สุดก็มีชะตากรรมที่น่ารัดทด ยังมีปรากฏให้เห็นตัวอย่างรายอื่น เช่น กรณีของ “3 หนา” กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในยุค พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ปริญญา นาคฉัตรีย์ และวีระชัย แนวบุญเนียน ที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนสั่งจำคุก คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ยอมรับใช้ถวายชีวิตกับอำนาจการเมืองในยุคนั้นที่คิดว่าจะไม่มีวันล่มสลาย ยอมแม้กระทั่งช่วยกันปกปิดและทุจริตการเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือให้พรรคไทยรักไทยในอดีตได้รับชัยชนะ

ทำทุกทางโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และที่สำคัญตัวเองยังถือว่าเป็นผู้รักษากฎหมายต้องดำรงความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด แต่มาทำผิดเสียเอง

และกรณีล่าสุดจะเป็นเพราะเห็นบทเรียนในอดีตหรือกรรมเก่ากำลังตามมาทันบรรดาข้าราชการที่รับใช้การเมืองหรือเปล่าหรือไม่ หรือบังเอิญมาสอดคล้องต้องกัน อย่างกรณีของ ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) พิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ที่ได้ยื่นหนังสือลาป่วยยาว เป็นเวลาถึง 1 เดือนเต็ม

บังเอิญว่าการลาป่วยของผู้อำนวยการ ขสมก.ครั้งนี้เป็นช่วงที่โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน มูลค่าร่วม 7 หมื่นล้านบาท กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่พอดี และในฐานะผู้บริหารองค์กรต้องมีหน้าที่ชี้แจงและต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

ซึ่งโครงการดังกล่าวในวงการรู้กันทั่วว่าเป็นการผลักดันจากฝ่ายการเมือง และมีข้อพิรุธในเรื่องผลประโยชน์อย่างมาหาศาล มีเสียงคัดค้านกันดังระงม

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากกรณีของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของ “สามหนา” หรือ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ที่ต้องปิดฉากอย่างน่าเศร้า ขณะเดียวกันยังเป็นบทเรียนสอนใจให้กับบรรดาข้าราชการในยุคปัจจุบันและอนาคตให้ยับยั้งชั่งใจได้ว่า การรับใช้อำนาจการเมืองโดยมิชอบ ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ผิด จะต้องประสบกับชะตากรรมเยี่ยงไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจะโฟกัสไปยังหน่วยงานสำคัญ อย่างเช่น ตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ที่กำลังวิ่งเต้นฝ่ายการเมืองกันอย่างฝุ่นตลบอยู่ในเวลานี้ ก็น่าจะตั้งสติหยุดคิดได้บ้างว่าควรจะวางตัวให้เหมาะสมอย่างไร

เพราะเชื่อว่ากรณีของ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ไม่น่าจะเป็นรายสุดท้าย !!

กำลังโหลดความคิดเห็น