กรณีอื้อฉาวในการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก.ออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าถวายในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ที่จัดทำโดย ท่านผู้หญิง วิระยา ชวกุล ประธานกรรมการมูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำโครงการ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีการนำเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ทั้งที่เวลาผ่านมาถึง 5 ปีแล้ว และมีความพยายามจัดทำเสื้อถึง 3 ล้านตัว ขณะที่ทำหนังสือพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น
รวมทั้งวิธีการจัดจำหน่ายที่เป็นไปในลักษณะ “บังคับซื้อ” โดยการออกหนังสือเวียน ให้ข้าราชการ และพนักงานของกระทรวงมหาดไทยทุกระดับชั้นซื้อ พร้อมทั้งเร่งให้มีการจัดจำหน่ายให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2547 เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ผ่านกองราชเลขานุการในพระองค์ ถึงปลัดมหาดไทย ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติ “วิธีจำหน่าย” ในลักษณะดังกล่าว และทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างยิ่งเมื่อทรงทราบจากฎีการ้องทุกข์หลายฉบับที่ระบุว่าโครงการนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
ภายหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ ท่านผู้หญิงวิระยาได้ออกมาให้สัมภาษณ์ชี้แจงผ่านสื่อหลายต่อหลายครั้ง โดยระบุว่าสาเหตุที่ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อ เนื่องจากรอให้ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯ และรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายเสื้อนั้นมีเพียง 480 ล้านบาท เนื่องจากจำหน่ายไม่หมดเพราะมีการออกจดหมายเวียนเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเสื้อ พร้อมทั้งอ้างว่าท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถึงปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวข้างต้นนั้น มีปัญหากับตนเป็นการส่วนตัว
“เขากล่าวหาว่าพี่ทำเสื้อ 3 ล้านตัว โดยแบ่งให้ออมสิน 1 ล้านตัว กรุงไทย 1 ล้านตัว มหาดไทย 1 ล้านตัว แต่ยอมรับว่า 1 ล้านตัวให้มหาดไทยจริง เดิมจะทำ 3 ล้านตัว แต่ทำไม่ได้ เพราะมีจดหมายที่ทำเวียนไปทั่วราชอาณาจักร เพื่อสกัดไม่ให้มีการขายเสื้อ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเดิม พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ รับปากพี่จะขายให้ ก็ขายไม่ได้ ได้แค่ 2 แสนกว่าตัว ของออมสินก็ขายไม่ได้” ท่านผู้หญิงวิระยา ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 11 พ.ค.2552
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่านผู้หญิงวิระยา ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยว่า ตนกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมฟ้องหมิ่นประมาท นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งหนึ่งที่ได้มีการกล่าวหาว่าตนเป็นคนฉ้อโกง เป็นพวก 18 มงกุฎ ซึ่งทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง
เรื่องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และเกิดความเข้าใจที่สับสนตามมาว่าข้อเท็จเป็นอย่างไรกันแน่ ทาง ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงได้สอบถามไปยังกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ถึงเรื่องดังกล่าวและได้รับการชี้แจงจาก เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในประเด็นต่างๆโดยละเอียด ดังนี้
5 ปีไม่เคยถวายรายงาน-ขอถวายเงิน
สำหรับกรณีที่ท่านผู้หญิงวิรยะ ระบุว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากจำหน่ายเสื้อ เนื่องจากรอให้ทางสำนักพระราชวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯนั้น เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการฯ ชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อหรือสินค้าใดๆที่มีตราสัญลักษณ์ หรือพระนามาภิไธย สก. เพื่อนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ก็จะมีการถวายรายงานความคืบหน้าในการจัดทำโครงการให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถทรงทราบ หรือหากจะทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ก็จะทำเรื่องมายังกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อขอเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน แต่กรณีโครงการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก. ของท่านผู้หญิงวิระยานั้น ที่ผ่านมาท่านผู้หญิงวิระยาไม่เคยมีการถวายรายงานเกี่ยวกับโครงการ รวมทั้งไม่เคยมีการทำเรื่องขอเข้าเฝ้าฯเพื่อทูลเกล้าฯถวายเงินรายได้แต่อย่างใด
“เมื่อมีการขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำสินค้า ซึ่งมีตราสัญลักษณ์ หรือพระนามาภิไธย ส.ก.และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ ได้พระราชทานราชานุญาตแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดทำที่จะไปผลิต และวางจำหน่ายในช่องทางที่เห็นว่าเหมาะสม โดยปกติแล้วหลังจากดำเนินโครงการไปได้สักระยะผู้ที่ทำโครงการก็จะถวายรายงานความคืบหน้าให้พระองค์ทรงทราบ หรือจะถวายรายงานเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วก็ได้ และหากจะทูลเกล้าฯถวายเงินรายได้ ผู้จัดทำก็จะทำหนังสือขอเข้าเฝ้าฯมายังกองงานราชเลขานุการฯ โดยจะขอถวายเงินรายได้เป็นช่วงๆ ระหว่างดำเนินโครงการก็ได้ หรือจะถวายเงินรายได้ทั้งหมดหลังโครงการเสร็จสิ้นก็ได้ ซึ่งตรงนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯไม่เคยรับสั่งให้กองราชเลขานุการไปสอบถามว่าโครงการนั้นโครงการนี้คืบหน้าถึงไหน จะถวายเงินเมื่อไร
ส่วนกรณีการจัดทำเสื้อสีฟ้า ซึ่งมีพระนามาภิไธย ส.ก. เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชมายุครบ 72 พรรษา ของท่านผู้หญิงวิระยานั้นทางกองราชเลขานุการฯ ยีนยันได้ว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ท่านผู้หญิงวิระยาไม่เคยถวายรายงานความคืบหน้าของโครงการให้พระองค์ท่านทรงทราบ และไม่เคยทำเรื่องขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการจัดจำหน่ายด้วย ดังนั้นเมื่อไม่เคยขอเข้าเฝ้าฯ แล้วท่านจะบอกว่าไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ จึงยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย หรือ ท่านรอให้ทางวังแจ้งกำหนดการเข้าเฝ้าฯ ก็คงไม่ถูก เพราะกองงานราชเลขานุการฯไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ เรื่องนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดทำโครงการเอง ว่าเมื่อทำโครงการไปแล้ว มีรายได้เข้ามาแล้วจะทูลเกล้าฯ ถวายเงินเมื่อไหร่ อย่างไร เราไปบีบบังคับไม่ได้
ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยมีกรณีที่บุคคลหรือบริษัทห้างร้านขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำโครงการไปแล้วไม่ถวายเงินรายได้ หรือไม่ถวายรายงานนะ แม้แต่โครงการการแข่งขันกีฬาต่างๆที่ขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ หลังเสร็จสิ้นการแข่งขันผู้จัดงานก็จะทำหนังสือถวายรายงานเข้ามา” เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเปิดเผย
ยันไม่เคย “ห้ามจำหน่าย”
ส่วนกรณีที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า ขายเสื้อไม่หมด เพราะไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากมีจดหมายทำเวียนไปทั่วประเทศ เพื่อสกัดไม่ให้มีการขายเสื้อสีฟ้า 72 พรรษานั้น เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ชี้แจงว่า กองราชเลขานุการฯไม่เคยมีหนังสือห้ามจำหน่าย เสื้อสีฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด หนังสือที่กองราชเลขานุการ ออกไปนั้นมีเพียงฉบับเดียว คือหนังสือ ที่แจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “หยุดวิธีจัดจำหน่ายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน” และขอให้วางจำหน่ายให้ประชาชนซื้อตามความสมัครใจ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
“กรณีของท่านผู้หญิง วิระยา นั้น ถือเป็นกรณีพิเศษ ปกติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะไม่ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใครนำพระนามาภิไธย ส.ก.ไปใช้ เนื่องจากเป็นพระนามส่วนพระองค์ของพระองค์ท่าน แต่เมื่อนำไปใช้แล้วมีฎีการ้องทุกข์มาว่าการจำหน่ายเสื้อสีฟ้า ปักอักษรนามาภิไธย ส.ก.72 พรรษาได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย พระองค์ท่านก็ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างมาก เพราะพระองค์ท่านไม่ได้มีพระประสงค์เช่นนั้น โครงการนี้ระบุว่าเพื่อให้ประชาชนได้ใส่เสื้อสีฟ้าเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระองค์ท่านก็ไม่มีพระประสงค์ที่จะบังคับให้ใครมาจงรักภักดี สมเด็จพระนางเจ้าฯจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถทำหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้หยุดวิธีจัดจำหน่ายซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่วนหนังสือห้ามจำหน่ายเสื้อตามที่ท่านผู้หญิงวิระยาระบุนั้นไม่มี ที่ผ่านมาทางกองราชเลขานุการฯไม่เคยทำหนังสือลักษณะนี้แจ้งไปยังหน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือธนาคารผู้จัดจำหน่าย” เจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ระบุ
รองราชเลขาฯ ทำตามหน้าที่
ส่วนการที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระพระบรมราชินีนาถ มีปัญหาส่วนตัวกับตนเอง ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าการที่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ส่งหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นนั้น เพื่อเป็นการโจมตีท่านผู้หญิงวิระยา เพราะความไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัวนั้น เจ้าหน้าที่กองงานราชเลขานุการฯ กล่าวชี้แจงว่า
“หนังสือของกองราชเลขานุการฉบับดังกล่าว ซึ่งลงนามโดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์นั้น เป็นการดำเนินการตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ใช่ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์จะทำหนังสืออะไรออกมาตามความต้องการของตนเองก็ทำได้ เจ้าหน้าที่ในกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถทุกคนเป็นข้าราชบริพารของพระองค์ท่าน เราทำงานตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้”
ทำเสื้อเกินกว่าที่แจ้งไม่ได้
กรณีที่ท่านผู้หญิงวิระยา ระบุว่า เดิมทีจะจัดทำเสื้อสีฟ้า 72 พรรษา จำนวน 3 ล้านตัว แต่ไม่สามารถจัดทำได้เนื่องจากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้มีการจัดทำจดหมายเวียนเพื่อสกัดไม่ให้มีการจำหน่ายเสื้อดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่กองงานราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ อีกท่านหนึ่ง ชี้แจงว่า สิ่งที่ท่านผู้หญิงวิระยาพูดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถทำได้ เนื่องจากท่านผู้หญิงวิระยาได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อเพียง 2 ล้านตัวเท่านั้น อยู่ๆ จะผลิตเพิ่มเป็น 3 ล้านตัวไม่ได้ และหากจัดทำเกินกว่าจำนวนที่ได้ขอพระขอพระราชทานพระราชานุญาตก็ถือว่ามีความผิด และเป็นการมิบังควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่าเป็นการนำพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปแอบอ้างเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว ส่วนเมื่อจัดทำเสื้อออกมาแล้วจะสามารถจำหน่ายได้ตามจำนวนที่ขอพระราชทานพระราชานุญาตมาหรือไม่นั้น ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการเอง
“ที่ผ่านปัญหาที่ทางกองราชเลขานุการ พบบ่อยคือบุคคล หรือห้างร้านแจ้งมาว่าจะขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำสินค้าจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แต่ภายหลังก็บอกว่าจำหน่ายไม่หมด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ไม่เป็นไร แต่เราก็กลัวเหมือนกันว่าถ้าไม่จริงก็กลายเป็นว่าเป็นการแอบอ้างนำตราสัญลักษณ์ของพระองค์ท่านไปทำมาหากิน หรือบางกรณีก็มีการจัดทำสินค้าเกินกว่าจำนวนที่บุคคลหรือบริษัทแจ้งขอพระราชทานพระราชานุญาตมา ซึ่งถือว่าเป็นการมิบังควร เป็นการนำพระนามของพระองค์ท่านไปแอบอ้าง ซึ่งถ้าทราบว่ามีกรณีเช่นนี้ทางกองนิติการ สำนักพระราชวัง ก็จะเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไป โดยขั้นแรกอาจเป็นการตักเตือน หรือให้จัดเก็บจำนวนที่เกินออกจากตลาด ถ้าหากยังดื้อดึงก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามหลักฐานที่ปรากฏตามการนำเสนอของสื่อมวลชนทั้งหลาย ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หนังสือของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ทำถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้นระบุว่า มูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ ซึ่งท่านผู้หญิงวิระยาเป็นประธานกรรมการ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดทำเสื้อฯ จำนวน 2 ล้านตัว ทว่า อีกตอนหนึ่งของหนังสือระบุว่าทางมูลนิธิฯจะมีการจัดจำหน่ายเสื้อผ่าน 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 ล้านตัว ธนาคารออมสิน 1 ล้านตัว และธนาคารกรุงไทยอีก 1 ล้านตัว โดยจำหน่ายในราคาตัวละ 400 บาท ซึ่งตามหลักฐานเช่นนี้ ย่อมหมายความว่าท่านผู้หญิงวิระยาจัดทำเสื้อเกินกว่าจำนวนที่ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต
จากการชี้แจงของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถนั้น ก่อให้เกิดคำถามย้อนกลับไปยัง ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ว่าการให้สัมภาษณ์ของท่านในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และ การให้สัมภาษณ์ในลักษณะพูดคลุมเครือนั้นมีจุดประสงค์เช่นไร เป็นเพราะรู้ดีว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และข้าราชบริพารของพระองค์ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะออกมาตอบโต้ตามสื่อต่างๆได้ใช่หรือไม่?
* * * * * * * * * *
ครั้งที่ 4/2547
วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม 2547
เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุม 352
มติที่ประชุม รับทราบ ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ
3.3 การจำหน่ายเสื้อยืดปักพระนามาภิไธยย่อ ส.ก.
มูลนิธินพรัช-รัตนโกสินทร์ โดยท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้จัดทำเสื้อยืดปักพระนามาภิไธย ย่อ ส.ก.จำนวน 2,000,000 ตัว เพื่อจำหน่ายนำรายได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547 โดยมูลนิธิได้ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยจำหน่ายเสื้อยืด จำนวน 1,000,000 ตัว ในการนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรเสื้อยืด ให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการจำหน่ายแก่ ข้าราชการ ลูกจ้าง และประชาชนที่สนใจ ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับการจัดสรร เสื้อยืดฯ จำนวน 6,000 ตัว และสำนักงานเลขานุการกรมได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้
1. รับเสื้อยืดฯ จากกระทรวงมหาดไทยแล้ว จำนวน 2,000 ตัว
2. จำหน่ายและนำเงินส่งเข้ามูลนิธินพรัชฯ แล้ว จำนวน 1,075 ตัว
3. อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัด จำนวน 733 ตัว
แยกเป็น
- ศูนย์ฯ เขต 5 นครราชสีมา จำนวน 199 ตัว
- ศูนย์ฯ เขต 6 ขอนแก่น จำนวน 43 ตัว
- ศูนย์ฯ เขต 7 สกลนคร จำนวน 179 ตัว
- ศูนย์ฯ เขต 10 ลำปาง จำนวน 162 ตัว
- สำนักส่งเสริมฯ จำนวน 100 ตัว
- กองคลัง จำนวน 50 ตัว
4. เสื้อยืดฯ คงเหลือที่สำนักงานเลขานุการกรม ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2547 จำนวน 192 ตัว
กระทรวงมหาดไทยมีบันทึก ด่วนที่สุด ที่ มท 0203.1/ว 1480 ลงวันที่ 30 เมษายน 2547 เรื่อง ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แจ้งว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยใช้วิธีออกหนังสือเวียนจำหน่ายเสื้อยืดฯ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย กระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงต่อรองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบวิธีการจัดจำหน่าย และรายงานผลการดำเนินงานทั้งหมด พร้อมทั้งน้อมรับพระราชเสาวณีย์ มาปฏิบัติ โดยกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการจัดจำหน่ายเสื้อยืดฯ เฉพาะผู้ที่สมัครใจซื้อเท่านั้น
* * * * * * * * * * *
เรื่อง – จินดาวรรณ สิ่งคงสิน