ลุ้นกันในเดือนพฤษภาคมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะลงมติชี้ขาดอนาคตพรรค “เพื่อแผ่นดิน” จะอยู่หรือไป หลังที่เลื่อนจากกำหนดเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2552
ทีมข่าวการเมือง ASTVผู้จัดการ คาดว่า การหาข้อยุติในคดีความ พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ยืดเวลาต่อลมหายใจออกมานานพอแล้ว คงไม่นานเกินรอจะมีข้อวินิจฉัยออกมาแน่
จะอยู่ต่อไป หรือโดนยุบ!
เนื่องจากเป็นคดีที่การพิจารณาไม่ยากเท่าใดนัก ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามรธน.มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคและการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
กกต.คงพิจารณาเพียงแค่ว่า นพดล พลซื่อ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด และอดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดิน ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคโดยการรับรองจากนายทะเบียนพรรคการเมืองคืออภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.
“ก่อนหรือหลัง” การกระทำความผิดในคดีทุจริตการเลือกตั้งที่ร้อยเอ็ด ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตัดสินว่ามีความผิดตามคำฟ้องของ กกต.
เรารู้มาว่า ฝ่ายแกนนำพรรค เพื่อแผ่นดิน ที่เวลานี้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้อยู่หลายคน อาทิ สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯและอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินคนแรก- ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมที่เพิ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค พฤติชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที
โดยทั้งชาญชัย-พฤติชัย-ระนองรักษ์ล้วนเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคชุดเดียวกับนภดล ที่ต่างก็พยายามลุ้นให้ กกต.ยกคำร้อง
มิฉะนั้น อาจเสียวกับการต้องเว้นวรรคการเมือง 5ปีและหลุดจากวงโคจรการเมืองไปแบบกู่ไม่กลับ
พรรคเพื่อแผ่นดิน มีข้อต่อสู้ในประเด็นว่า นภดล พลซื่อ กระทำผิดก่อน กกต.รับรองการเป็นกรรมการบริหารพรรค
เรื่องอนาคตพรรคเพื่อแผ่นดินจะเป็นอย่างไรไม่นานจากนี้คงรู้คำตอบ ในกระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมาก่อนหน้านี้ว่ามี
“อดีตบิ๊กทหาร”
บางคนไปล็อบบี้ กกต. ในกระแสข่าวอ้างว่าอาศัย ทหารคนดังกล่าวอาศัยความคุ้นเคยกับกกต.ขอร้องให้ช่วยเหลือเพื่อแผ่นดินด้วยการ
ยกคำร้อง
ข่าวนี้น่าติดตาม เพราะเพื่อแผ่นดิน ก่อกำเนิดขึ้นในยุคทหารเรืองอำนาจ จนถูกตั้งฉายาให้เป็น
“พรรคสีเขียว-คมช.”
เนื่องจากมีข่าวมาตลอดว่าบิ๊ก คมช.บางคน หนุนหลังให้มีการทำพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และรองรับให้บิ๊ก คมช.เข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาล ซึ่งพรรคการเมืองดังกล่าว ก็คาดว่าเป็นพรรคเพื่อแผ่นดิน นั่นเอง
แต่สุดท้าย เมื่อผลการเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่วางแผน ก็เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงของแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน
หลายกลุ่มหลายก๊กไม่สามารถสานประโยชน์กันได้ แถมมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับเงินทอง และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ปิดบัญชีไม่ลง ทำให้แกนนำมองหน้ากันไม่ติด
เลยทำให้ บิ๊กทหารคนดังกล่าวต้องถอยฉากแทบไม่ทัน
แน่นอนอยู่แล้ว ทาง กกต.ต้องออกมายืนยันเสียงแข็งปฏิเสธเรื่องนี้หัวชนฝา ว่าไม่มีการล็อบบี้-ติดต่อใดๆ จากหน้าไหนทั้งสิ้น ให้ช่วยพรรคเพื่อแผ่นดิน อันนี้คงต้องรองผลการตัดสินของกกต.น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีที่สุด
เพราะหาก กกต.มีมติในคดีนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบกับพรรคเพื่อแผ่นดิน กกต.คงจะต้องชี้แจงทุกเรื่องที่เป็นปัญหาข้อโต้แย้งทั้งด้านกฎหมายและข้อเท็จจริง
ไม่ใช่มีมติแล้วก็ดำผุดดำว่าย รอให้ลืมๆกันไป แบบนี้องค์กรอิสระที่มากด้วยอำนาจในการกำหนดอนาคตการเมืองไทยอย่าง
“กกต.”คงหมดความศักดิ์สิทธิ์แน่
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่รู้จักและติดตามพรรคการเมืองนี้มานาน ดูจะไม่ให้ความใส่ใจกับอนาคตของเพื่อแผ่นดินมากนัก
เพราะเมื่อดูเส้นทางการก่อตั้งพรรคจนมาถึงปัจจุบันความจริงที่พบได้ก็คือ เพื่อแผ่นดิน ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการประสานผลประโยชน์ของฝ่ายทหาร-คมช.กับกลุ่มนักการเมือง ที่ตลอดเวลาการเล่นการเมืองมาหลายสิบปีของแกนนำแต่ละกลุ่ม ไม่เคยพบว่า ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับแผ่นดินไว้บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพญานาคของ พินิจ จารุสมบัติ-ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง –กลุ่มปากน้ำของ วัฒนา อัศวเหม และ มั่น พัธโนทัย –กลุ่ม สุวิทย์ คุณกิตติ -สายกทม.ไทยรักไทยเดิมคือ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ -กลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก –บ้านริมน้ำของ สุชาติ ตันเจริญ หรือแม้แต่สายโคราชของ ไพโรจน์ สุวรรณฉวี
ผสมกับที่เพื่อแผ่นดินมีแต่ปัญหาความขัดแย้ง การแก่งแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกันแบบไม่อายฟ้าอายดิน ถึงขั้นแถลงข่าวทวงเก้าอี้กันต่อหน้าสื่อมวลชน
ระหว่างคนทวงคือ ไชยยศ จิรเมธากร กับ ประสงค์ โฆษิตานนท์ อดีต รมช.มหาดไทย จนเป็นที่อิดหนาระอาใจกับผู้พบ เห็นที่เรียกพฤติกรรมนี้ว่า
“วิ่งราวเก้าอี้”
ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของแต่ละกลุ่มการเมืองในพรรคที่พบว่าแม้จะเป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็ก แต่ก็เพียบไปด้วยการแบ่งกลุ่มการเมืองกันในพรรคเกือบ 7-8 กลุ่ม ทำให้มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันมาตลอด
เอาที่หนักๆ ก็เช่นการที่หลายกลุ่มในพรรคบีบให้ สมัคร สุนทรเวช ปลดสุวิทย์ คุณกิตติ จากรองนายกฯควบรมว.อุตสาหกรรม แต่สุวิทย์ไม่ยอมเลยชิงแถลงข่าวตัดหน้าว่าตัดสินใจนำพรรคเพื่อแผ่นดินถอนตัวจากรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เพราะไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของรัฐบาลพลังประชาชน
กระนั้นคนที่หน้าแหกกลับเป็นสุวิทย์ เพราะไม่มีส.ส.ในพรรคเอาด้วยแม้แต่คนเดียว แถมยังตะเพิดไล่สุวิทย์ให้พ้นจากหัวหน้าพรรคไปโดยเร็วที่สุด จนทำให้สุวิทย์ลาออกจากหัวหน้าพรรคไปในที่สุดแล้วดันชาญชัย ชัยรุ่งเรือง มารักษาการหัวหน้าพรรค
แค่นี้หลายคนอาจคิดว่าปัญหาจบไปแล้ว แต่ไม่ใช่ เพราะ ประชา พรหมนอก ก็อยากเป็นหัวหน้าพรรค จึงไปรวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งกลุ่มขึ้นในพรรคจำนวน 12 คนเพื่อหวังสร้างอำนาจในพรรค แต่ไม่ได้รับเสียงหนุนจากหลายกลุ่มในเพื่อแผ่นดินเพราะเห็นว่าประชา ทุนไม่หนาจ่ายไม่หนักและไม่มีบารมีในการทำพรรค จึงไม่หนุนให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค
ตามด้วยการที่ประชา พรหมนอก ฝันกลางวันจะเป็นนายกฯ เลยไปจับมือกับเพื่อไทยขอดันตัวเองเป็นผู้นำประเทศ แล้วหักมติพรรคเพื่อเพื่อแผ่นดินที่เสียงส่วนใหญ่หนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขั้นประชาลุกขึ้นขานชื่อตัวเองเป็นนายกฯไม่รู้สึกรู้สา
เมื่อพลาดเก้าอี้นายกฯ ก็ยังไม่ยอมแพ้ เอาหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินก็ได้ แต่ชาญชัยไม่ยอมและพร้อมหักแล้ว จนมีการแย่งชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกันอย่างหนักมาเป็นเวลาหลายเดือน ถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีระหว่างทั้งสองกลุ่ม และบานปลายจนถึงขั้นมีการขอกำลังตำรวจมาดูแลความปลอดภัยที่ทำการพรรคและต้องปิดที่ทำการพรรคเดิมบริเวณถนนวิทยุ เพื่อให้ทั้งสองกลุ่มแยกย้ายกันไปแบบตัวใครตัวมัน
เพราะนายทุนพรรคที่มีอยู่เดิมส่ายหน้ากันหมดแล้วกับพรรคการเมืองพรรคนี้ ที่มีแต่ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งไม่สิ้นสุด จนแต่ละกลุ่มต้องไปติดต่อเช่าตึกที่ทำการพรรคเป็นแหล่งพำนักพักอาศัยกันแบบตัวใครตัวมัน
บนสภาพที่ทั้งหมดยังเป็น ส.ส.เพื่อแผ่นดินตามกฎหมาย แต่แท้ที่จริงแล้วต่างคนต่างอยู่ และฟาดฟันกันสุดฤทธิ์
เหตุที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องคดีพรรคเพื่อแผ่นดินก็เพราะเห็นว่า พรรคการเมืองก็คือรากฐานการเรียนรู้ประชาธิปไตยทางตรงที่ทำให้ประชาชนเข้าใจ และมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ไม่ยาก
ยิ่งกับแนวทางการเมืองปัจจุบันที่เปิดโอกาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองมากขึ้นทั้งการเป็นสมาชิกพรรค การให้ทุกพรรคการเมืองต้องมีสาขาพรรคและมีกิจกรรมการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อผลในเรื่องการได้รับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองจาก กกต.
ทำให้พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญไม่น้อยต่อการเรียนรู้การเมืองและเสริมสร้างประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยตรง
แม้วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ และตามระบอบประชาธิปไตย มีเจตนารมณ์ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน แต่ในขณะนี้กับความจริงที่เป็นอยู่ ไม่อาจกล่าวเช่นนั้นได้
เพราะ โดยข้อเท็จจริงแล้ว พรรคการเมืองที่มีส.ส.และมีกิจกรรมการเมืองในเวลานี้ ล้วนเป็นของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่คน ที่จะกำหนดอนาคตพรรคและการขับเคลื่อนพรรค
ประชาชนก็เป็นแค่สมาชิกพรรค เพื่อให้พรรคการเมืองได้จำนวนสมาชิกพรรคครบตามกฎหมายเพื่อไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคกับ กกต.เท่านั้น หลังจากนั้นประชาชนก็แทบไม่มีโอกาส ไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆกับพรรคการเมืองอีกเลย
จึงยังไม่เคยมีพรรคการเมืองพรรคไหน “เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” อย่างที่นักเลือกตั้งโฆษณาอวดอ้างและสร้างคำขวัญเสียสวยหรู
ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นแต่พรรคการเมืองของนักเลือกตั้ง นายทุนพรรค หัวคะแนน ไม่กี่คนเท่านั้น หากคนเหล่านี้เบื่อหรือทะเลาะกัน รวมถึงเห็นว่าพรรคการเมืองไปไม่รอด เขาก็ยุบและเลิกไปแบบไม่ใยดีเพื่อไปสู่หนทางที่ดีกว่าโดยพวกนี้ไม่เคยมาสอบถามความคิดเห็นสมาชิกพรรคที่เป็นประชาชนธรรมดาเลยแม้แต่ครั้งเดียว
พรรคเพื่อแผ่นดิน ก็มีสภาพอย่างที่กล่าวข้างต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคตอนนี้ จะว่าไปส.ส.หลายคนที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค รู้แล้วอาจไม่เชื่อ
เขาภาวนาให้พรรคถูกยุบเร็วๆ
ก็เพราะจะได้ย้ายออกจากพรรคเสียที จะได้ไปเป็นส.ส.พรรคอื่น ที่มีเงินเดือน เงินอุดหนุน สวัสดิการ เก้าอี้และตำแหน่งการเมืองไว้รองรับ
ตอนนี้ก็มีส.ส.เพื่อแผ่นดินที่เป็นส.ส.อีสานสายบ้านริมน้ำหลายคนไปโผล่ที่ พรรคภูมิใจไทย แถวๆ ถนนพหลโยธินหลายต่อหลายครั้งแบบเปิดเผยว่ามาอยู่กับภูมิใจไทยนานแล้ว
เมื่อ เพื่อแผ่นดิน มีปัญหามากมายเช่นนี้ แถมก่อเกิดขึ้นบนการเมืองแบบเฉพาะกิจและการต่อรอง โดยไม่เคยเห็นความสำคัญของประชาชน ที่เป็นสมาชิกพรรคและเลือกผู้สมัครของพรรคนี้ไปเป็น ส.ส.
นับจากนี้ การมีอยู่หรือไม่มี “เพื่อแผ่นดิน” จึง ไม่มีความหมายใดๆ ทางการเมืองเลย!