xs
xsm
sm
md
lg

“ไข่แม้ว” สบช่องป่วนสภา จี้ กทช.แจงเหตุปิดดีสเตชั่น-ไทยคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบการประชุมสภา
ที่ประชุมสภารับทราบผลการปฏิบัติงาน กทช.ประจำปี 51 เจอ ส.ส.เพื่อไทย สบช่องหาเรื่องสร้างความั่นป่วน จี้แจงเหตุสั่งปิดดีสเตชั่น-ไทยคม อ้างรัฐบาลทำผิดรัฐธรรมนูญ ให้คลื่นความถี่เป็นของสาธารณะ ขณะที่กรรมการ กทช.ปัดไม่เกี่ยวปิดดีสเตชั่น วิทยุชุมชน และไทยคม ระบุเป็นอำนาจไอซีที

วันนี้ (7 พ.ค.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาวาระรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ประจำปี 2551 ทั้งที่ประชุมได้สนใจซักถามรายละเอียดในประเด็นกฎเกณฑ์และหลักการพิจารณาการประกอบการกิจการวิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยเฉพาะสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้สอบถามรายละเอียดสาเหตุที่ปิดสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่น

นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาการปิดสถานีดี สเตชั่น ในช่วงที่ไม่มีการออก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถทำได้หรือไม่ และการปิดสถานีดี สเตชั่นที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิสื่อมวลชนนั้นขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางกทช. มีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ด้าน นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนต้องการถามว่า กทช.มีส่วนในการสั่งปิดสถานีดี สเตชั่น รวมถึงสั่งเปิดสถานีไทยคมด้วยหรือไม่ และทำไมถึงมีการสั่งปิดวิทยุชุมชน เพราะตนเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งถือว่ารัฐบาลได้ทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของสาธารณะ

ขณะที่ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กทช.ได้เข้าไปดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตให้กับสถานีวิทยุชุมชนอย่างไร รวมถึงมีการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ ให้กับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าว หรือมีนอมินีเป็นคนต่างด้าว อย่างไร และได้เข้าไปควบคุมกิจการที่ให้ประชาชนโทรศัพท์ หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์ เข้าไปโหวตในรายการโทรทัศน์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5-15 บาทอย่างไร

โดย นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการบริการจัดการ การจัดสรรคลื่นความถี่ เนื่องจากได้มีการยกเลิกกฎหมายเดิม ทำให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้วไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะต้องให้ กสช.เข้ามากำกับดูแล แต่บังเอิญจนขณะนี้ยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการกสช.ได้ จึงทำให้เกิดสูญญากาศ แต่มีบทเฉพาะกาลให้กทช.ทำหน้าที่แทน เรื่องการออกกฏเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ทำให้มีช่องว่างให้เกิดวิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ แต่ใช้ระบอบดาวเทียม โดยพยายามควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ส่วนการสั่งปิดดีสเตชั่น ไม่ได้อยู่ในการดูแลของ กทช.และยืนยันว่า กทช.ไม่เคยปิดสถานีดาวเทียมไทยคม มีเพียงการตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องเทคนิคเท่านั้น ส่วนการดำเนินการปิดเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น